หลังคว้าแชมป์กับตัวแข่ง Yamaha YZR-M1 มาได้ 2 ปีติดทันทีที่ย้ายเข้าสู่ทีม ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์โลกต่อเนื่อง 5 สมัยของตนเอง พอเข้าสู่ปี 2006 – Valentino Rossi ก็ต้องจบสถิติของตนเองไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากโดน Nicky Hayden พลิกชนะคะแนนไปได้ในการแข่งขันสนามสุดท้าย ดังนั้นในวันนี้เราจึงขอพาเพื่อนๆไปชมกันสักหน่อยดีกว่าครับ ว่าตัวแข่ง “อูฐเหลือง” ในตำนานที่ทำให้พ่อหมอต้องพลาดแชมป์โลกไปอย่างน่าเสียดายนั้น จะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ใช่ครับ สำหรับตัวแข่ง 2006 Yamaha YZR-M1 นั้น จะมีจุดเด่นที่สุดก็ตรงที่ลวดลายของมัน ซึงได้รับการสนับสนุนโดยแบรนด์บุหรี่เจ้าดัง “Camel” ผู้มากับสัญลัก อูฐตัวใหญ่ กับสีพื้นอย่าง สีเหลือง/และน้ำเงิน ซึ่งดูโดดเด่นและสะดุดตาอย่างมากในยุคนั้น (และก็ยังดูสะดุดตาอย่างมากอยู่ดีถ้าหากได้เห็นในยุคนี้)
พอนักบิดขึ้นคร่อมก็จะเห็นบริเวณค็อกพิทซึ่งหลักๆก็จะประกอบไปด้วย แผงคอขนาดใหญ่แต่ดีไซน์เรียบๆไม่มีการเซาะร่องให้ดูหวือหวาเหมือนของแต่งสวยงาม
ไม่เพียงเท่านั้นถ้าสังเกตให้ดีก็จะพบว่าชุดคลัทช์ด้านซ้ายนั้นเป็นแบบปั๊มไฮดรอลิกขนาดลูกสูบ 16×19 แล้วด้วย ไม่ใช่แบบสายสลิงทั่วๆไป
ส่วนปุ่มกดประกับด้านซ้ายก็จะมีแค่เพียงปุ่มปรับแมพเครื่องยนต์ (ปรับกราฟการจ่ายน้ำมันของเครื่องยนต์) และเปิดระบบ Launch Control เท่านั้น ซึ่งนั่นเท่ากับว่าระบบนี้มีการคิดค้นขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีเลยทีเดียว ก่อนที่มันจะถูกนำมาใช้ในซุปเปอร์ไบค์ตัวขายจริงให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้
ขณะที่ชุดกันสะบัดของ Ohlins ก็จะเป็นแบบน้ำหนักเบาพิเศษ เพราะตัวบอดี้ทำจากวัสดุแมกนีเซียม ขณะที่ตัวแกนของก้านกันสะบัดไทเทเนียมก็จะมีการชุบลื่นเพิ่มอีก เพื่อให้มันทำงานได้อย่างคล่องตัวที่สุด
ด้านปั๊มเบรกหน้าตัวบนก็จะเป็นของ Brembo ขนาดลูกสูบ 19×18 ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับปั๊มเบรกบนสมรรถนะสูงในยุคนี้ โดยเฉพาะกับหมุดยึดก้านเบรกสีทอง ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของปั๊ม Rossi ที่หลายคนคุ้นหู และมีชุดประกับคันเร่งสายคู่ ที่เราเองก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่ายุคนั้นเริ่มใช้คันเร่งไฟฟ้ารึยัง เพราะถ้าไม่ นี่ก็จะเป็นสายคันเร่งที่ถูกเชื่อมกับลิ้นปีกผีเสื้อโดยตรงอยู่ดีนั่นเอง
และชุดประกับขวาก็จะมีสวิทช์เพียง 2 อัน ได้แก่ปุ่มเปิดระบบ Pit Lane (ล็อคความเร็วตอนวิ่งในถนนหน้าพิท) และปุ่มดับเครื่องยนต์ นั่นจึงเท่ากับว่าตัวแข่ง MotoGP ยุคปี 2006 นั้น ยังไม่มีระบบช่วยเหลืออย่างแทร็คชันคอนโทรล และวีลลี่คอนโทรลใดๆทั้งสิ้น แม้ว่ามันจะมีพละกำลังจากเครื่องยนต์ที่สูงถึง 220 HP+++ กันแล้วก็ตาม
ตามด้วยชิ้นหน้าจอ LCD ที่เน้นแสดงผลผลเท่าที่จำเป็นได้แก่ วัดรอบ, ความเร็ว, ระดับเกียร์, ระยะเวลาต่อรอบ, น้ำมันคงเหลือในถัง, จำนวนรอบที่วิ่ง, และสถานะตัวรถต่างๆอีกเล็กน้อยเท่านั้น
แน่นอนว่าในส่วนของวินชิลด์ก็จะมีการแปะสติ๊กเกอร์สมญานาม “The Doctor” เอาไว้ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา
ส่วนถังน้ำมันแผ่นอลูมิเนียมที่ถูกตีแล้วเชื่อมขึ้นรูป ก็จะมีการออกแบบดีไซน์ให้มีความใหญ่โตเนื่องจากต้องจุน้ำมันถึง 22 ลิตร แต่ยังต้องมีความกระชับเพื่อให้นักบิดอย่าง Rossi สามารถหนีบหรือเกี่ยวมันเพื่อโหนขณะเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ
นอกจากนี้ในส่วนของตัวฝาคาร์บอนครอบถังด้านหน้า ซึ่งที่จริงเป็นฝาครอบชุดหม้อกรองอากาศนั้น ก็จะมีการทำร่องไว้สำหรับวางคางหมวกกันน็อค และมีการเจาะร่องรีดอากาศคล้ายๆครีบหายใจของฉลาม อันเป็นจุดเด่นที่ยังมีให้เห็นในตัวแข่ง YZR-M1 จนถึงทุกวันนี้ไว้ด้วย
ด้านชิ้นแฟริ่งคาร์บอนด้านข้าง ก็จะมีการเจาะร่องระบายอากาศขนาดใหญ่ เพื่อให้อากาศที่ไหลผ่านหม้อน้ำกับออยคูลเลอร์ไซส์มหึมาสามารถไหลผ่านตัวรถไปได้อย่างไร้แรงต้านมากที่สุด ซึ่งจากจุดนี้ เพื่อๆก็จะเห็นชุดเฟรมอลูมิเนียมที่ถูกเชื่อมมาอย่างดี และชุดคลัทช์แห้งที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในตัวแข่ง MotoGP มาแล้วหลายปี
ชุดเปลหลัง หรือซับเฟรมยังเป็นแบบอลูมิเนียมน้ำหนักเบา หุ้มด้วยชิ้นพาร์ทคาร์บอนครอบ ซึ่งบอกตามตรงว่า ณ ขณะนั้นช่วงท้ายรถของตัวแข่ง M1 ปี 2006 ถือว่ามีความเพรียวบางมากๆเมื่อเทียบกับ M1 ยุคหลังๆ
โดยส่วนหนึ่งก็คาดว่าจะเป็นเพราะมันยังไม่ต้องมีการติดตั้งชุดกล่องควบคุมกับเซนเซอร์การทำงานของตัวรถต่างๆที่มากมายและซับซ้อนสุดๆเหมือนในยุคนี้ ซึ่งภาพกล่องควบคุมที่เพื่อนๆเห็นอยู่นี้ ก็เป็นเพียงแค่กล่องสำหรับเชื่อมต่อสัญญาณภาพจากกล้องด้านหน้ากับกล้องด้านหลังตัวรถเท่านั้น
ลงมาในฝั่งชุดพักเท้าก็จะเป็นวัสดุอลูมิเนียมทั้งชิ้น ซึ่งจากที่เห็นนั้นดูเหมือนจะเป็นแบบล็อคตำแหน่ง ไม่สามารถปรับระดับใดๆได้ นอกจากจะเปลี่ยนทั้งชิ้นเท่านั้น โดยจากจุดนี้เพื่อนๆก็จะเห็นชุดปั๊มเบรกของมันว่าเป็นแบบรวมกระปุกน้ำมันเบรกไว้ในตัว ไม่ได้เป็นแบบกระปุกแยก
ส่วนพักเท้าฝั่งซ้ายดูจะเรียบๆง่ายๆอีกเช่นเดิม โดยในฝั่งของคันตบเกียร์ก็จะเป็นแบบโยงจากแครงด์เครื่องยนต์โดยตรง ซึ่งจากข้อมูลระบุว่าในตัว M1 ปี 2006 นั้น มีการติดตั้งระบบ Quickshifter มาให้แล้วด้วย (แต่ยังเป็นแบบขาขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น)
ขยับมาที่ระบบกันสะเทือนด้านหน้า ก็แน่นอนว่ามันจะต้องเป็นแบบโช้กหัวกลับของ Ohlins เรียบร้อย ทว่าในยุคนั้นจะยังไม่มีการติดตั้งชุดกระปุกซับแทงค์แยกมาให้ และปั๊มเบรก Brembo 4 พอร์ทที่ใส่ไว้ก็ดูเหมือนจะเป็นโมโนบล็อคที่ขึ้นรูปด้วยกรรมวิธีแบบงาน CNC แล้วเรียบร้อย และถ้าเพื่อนๆสังเกตเพิ่มอีกก็จะพบว่ามันมีการติดตั้งตัวปลด(สายเบรก)ไวมาด้วยแล้วเช่นกัน ขณะที่จานเบรกก็เป็นแบบจานคาร์บอนเซรามิคด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องผ่านเวลาไปอีก เกือบ 10 ปีเช่นกัน กว่าที่มันจะถูกส่งลงมาในรถซุปเปอร์ไบค์ตัวขายจริงทั้งหลาย
ปิดท้ายด้วยภาพของชุดระบบเบรกหลัง ที่แน่นอนว่าจะยังคงใช้จานเหล็กเจาะรูระบายอากาศธรรมดาๆเท่านั้น เพราะไม่ได้เอาไว้ใช้เบรกหนักๆเท่ากับล้อหน้า
ส่วนตัวปั๊มเบรกหลังตัวล่างก็จะเป็นแบบ 2 พอร์ทขนาดเล็ก และมีการร้อยลวดกันน็อตหลุดเอาไว้เรียบร้อย เพื่อความปลอดภัยขณะใช้งาน
โดยหากเพื่อนๆคนไหนอยากชมภาพเพิ่มอีก ก็สามารถคลิกชมได้ด้านที่นี่
ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Autoby
อ่านข่าวสาร Yamaha เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ