ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ปี 2559 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนรวม 4 วัน (11 – 14 เม.ย.59) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,216 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 259 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,378 คน กำชับจังหวัดปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเดินทางและวิถีการเล่นน้ำของประชาชนในพื้นที่ เน้นดูแลความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ พร้อมดำเนินมาตรการ “เมา จับ ยึด” อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นกลไก “ประชารัฐ” และมาตรการชุมชนดูแลความปลอดภัยทางถนนของคนในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางสื่อให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ทุกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
พลโท ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 555 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 78 ราย ผู้บาดเจ็บ 601 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา 39.82% ขับรถเร็วเกินกำหนด 32.07% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 78.83% รองลงมา รถปิคอัพ 10.84%
ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง 64.32% บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน 38.74% ถนนกรมทางหลวง 36.58% ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. 33.69%
ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน 54.59% ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,128 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,810 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 673,762 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 112,617 ราย
มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 33,381 ราย ไม่มีใบขับขี่ 30,701 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 26 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 26 คน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 4 วัน (11 – 14 เม.ย.59) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,216 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 259 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,378 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 11 จังหวัด ได้แก่ ตราด ปัตตานี พัทลุง แพร่ ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสาคร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 100 ครั้ง
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 14 ราย
จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 104 คน
ขอบคุณที่มา Voices TV, ภาพจาก Green News TV
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ