แม้ว่ากำหนดการเปิดตัวจริงๆอย่างเป็นทางการของ All-New Yamaha WR155 ในบ้านเรานั้น จะต้องจัดในวันที่ 14 กรกฏาคม ที่จะถึงนี้ ณ งาน Motor Show 2020 แต่ด้วยความใจดีของ Thai Yamaha Motors จึงทำให้พวกเขาได้มอบโอกาสพิเศษให้พวกเราทีมงาน MotoRival จะขอมา รีวิวYamaha WR155 สัมผัสแรก Enduro Track เป็นยังไงมาชมกัน
กล่าวถึงเรื่องสัมผัสแรกตอนขึ้นคร่อม แม้ตัวผู้ทดสอบจะสูงเพียง 169 เซนติเมตร และเบาะนั่งของเจ้า WR155 จะสูงถึง 880 มิลลิเมตร แต่การตวัดขาเพื่อนคร่อมรถนั้นกลับสามารถทำได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากท้ายรถไม่ได้ยกหรือเชิดขึ้นเหมือนสปอร์ตไบค์ หรือถ้าเทียบกับเอนดูโร่ไบค์ที่มีความสูงเบาะด้วยกันท้ายรถของมันก็ยังถือว่ามีความเพรียวบางกว่าเล็กน้อยอยู่ดี ไม่เพียงเท่านั้นท่อไอเสียเองยังย้ายมาอยู่ด้านซ้าย ช่วยให้จังหวะที่จะเอาขาลงไม่ต้องระวังหรือกวาดออกไปไกลเท่าไหร่นัก (แต่ในทางกลับกันต้องระวังตอนเอาขาขึ้นแทนว่าอาจจะไปโดนท่อหรือเปล่า ทว่าจริงๆการ์ดกันร้อนที่ให้มาก็ค่อนข้างหนาใช้ได้อยู่)
ส่วนการวางเท้าทั้ง 2 ข้างบนพื้นตอนขึ้นคร่อมเสร็จแล้ว ถึงเบาะนั่งของมันจะสูงเทียบเท่ากับ Yamaha Tenere 700 แต่ด้วยความที่ตัวโช้กนั้นมีการเซ็ทระยะเผื่อยุบค่อนข้างเยอะ (ด้านหน้า 215 มิลลิเมตร / ด้านหลัง 185 มิลลิเมตร) กับเบาะนั่งค่อนข้างเพรียวบางตรงหว่างขาพอสมควร ทำให้ผู้ทดสอบยังสามารถใช้อุ้งเท้าที่ใส่รองเท้าเอนดูโร่พื้นหนาแตะพื้นทั้ง 2 ข้างได้อย่างพอดิบพอดี หรือถ้าหากอยากจะเหยียบพ้ื้นให้เต็มเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ก็เพียงแค่ขยับก้นเพียงประมาณ 1/4 จากการนั่งบนเบาะปกติเท่านั้น
นอกจากนี้ตัวเบาะนั่งเองก็มีการทำหลบมุมด้านข้างมาค่อนข้างดี ทำให้ผู้ขี่สามารถโยกตัว หรือย้ายก้นซ้าย/ขวาเพื่อทำท่าขี่ต่างๆได้อย่างไม่ติดขัดเช่นกัน ส่วนในเรื่องผิวสัมผัสเบาะนั่งนั้นก็ไม่ได้ลื่นจนหวิว หรือหนืดเกินไปจนขยับตัวเข้าออกจากแฮนด์บาร์ยากเกินไปแต่อย่างใด ทว่าด้วยการเชิดขึ้นของเบาะนั่งช่วงด้านหน้าทำให้อาจจะรู้สึกตุงๆตรงเป้าไปบ้าง ถ้าหากต้องโยกตัวไปถ่วงด้านหน้าเพื่อเข้าโค้งเร็วๆ
ด้านความรู้สึกในท่านั่งขี่ช่วงลำตัวด้านบน ผู้ทดสอบพบว่าตำแหน่งแฮนด์บาร์ของ WR155 มีระนาบความสูงและความกว้างที่กำลังดีสำหรับการใช้งานแนวผสมผสานระหว่างเอนดูโร่กับวิ่งถนน คือยังสามารถนั่งแล้วใช้แขนดึงแฮนด์พลิกเลี้ยวซ้าย/ขวาได้อย่างคล่องตัวไม่สูงจนเกินไป หรือถ้าหากต้องยืนเพื่อออกแอคชันตอนเตรียมโดดเนิน ตัวผู้ขี่ก็ไม่ต้องก้มโน้มไปข้างหน้ามากเท่าไหร่นัก
และที่เด่นกว่านั้นจริงๆก็คือ ถึงลำตัวรถช่วงถังน้ำมันและปีกข้างจะค่อนข้างกว้าง (เพราะต้องเผื่อระยะของหม้อน้ำที่ยึดตั้งไว้ด้านขวาด้วย) ทำให้รู้สึกต้องกางขาโอบตัวรถไว้บ้าง แต่ความเพรียวบางของตัวเบาะช่วงหว่างขามีการบีบลงมาค่อนข้างกระทัดรัด ทำให้ยังสามารถยืนหนีบได้อย่างกระชับ ไม่รู้สึกติดขัดใดๆทั้งสิ้นซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณตำแหน่งพักเท้าแบบเหล็กหนามที่จิกพื้นรองเท้าค่อนข้างดี และจัดตำแหน่งมาอย่างเหมาะสมสำหรับผู้ขี่ไซส์เอเชีย (โดยเฉพาะชาวอินโดนีเซียที่ขนาดไม่ต่างจากเรามากเท่าไหร่นัก ดังนั้นสำหรับเพื่อนๆที่ตัวเล็กๆหายห่วงได้เลยครับในเรื่องท่านั่งขี่)
สำหรับบาลานซ์ความสมดุล และการควบคุมรถในความเร็วต่ำ แม้ตัว WR155 จะมีน้ำหนักมากกว่าเอนดูโร่ไบค์ในพิกัด 150cc พอสมควรเพราะเคลมตัวเลขไว้ที่ 134 กิโลกรัม ซึ่งชนกับเอนดูโร่ไบค์ในพิกัด 230cc เสียด้วยซ้ำ ทว่าจากการได้ลองขี่จริง ผู้ทดสอบกลับพบว่ามันไม่ได้มีผลต่อการขับขี่จนสังเกตได้เยอะขนาดนั้น และในภาพรวมมันก็ยังเป็นเอนดูโร่ไบค์อีกคันหนึ่งที่ค่อนควบคุมศูนย์ถ่วงได้ง่ายอยู่ดี เมื่อประกอบกับชุดล้อที่เป็นขอบ 21 ด้านหน้า ขอบ 18 นิ้วด้านหลัง กับลักษณะการจัดท่านั่ง รวมถึงการเฉลี่ยน้ำหนักรถที่ค่อนข้างสมดุลทั้งหน้า/หลัง หรือ ซ้าย/ขวา ทำให้การซิกแซก หรือประคองรถในช่วงความเร็วต่ำสามารถทำได้อย่างคล่องตัวดีเลยทีเดียว
ระบบเบรกที่ให้มาก็เป็นแบบดิสก์เดี่ยวขนาด 240 มิลลิเมตร คาลิปเปอร์ 2 สูบ สำหรับด้านหน้า และขนาด 220 มิลลิเมตร คาลิปเปอร์สูบเดี่ยวสำหรับด้านหลัง ซึ่งการทำงานของตัวแม่ปั๊มเบรกตัวบน ทั้งของเบรกหน้า และเบรกหลังนั้นค่อนข้างนิ่มนวล และเนียน ไม่ใช่เบรกที่จับแน่น หรือจับไวมากมายเท่าไหร่นัก แม้แต่เบรกหลังเองการจะเหยียบเพื่อทำล็อคสไลด์ยังต้องกดลึกพอสมควร ดังนั้นอาจจะไม่ถูกใจเพื่อนๆสายเบรกหนัก แต่น่าจะไว้ใจได้สำหรับเพื่อนๆที่ค่อยๆชะลอไหลเข้าโค้ง หรือมือใหม่ที่กำลังฝึกขี่รถมอเตอร์ไซค์แนวนี้มากกว่า ส่วนประเด็นในเรื่องที่ว่าแล้วมันเอาอยู่ตอนขี่บนถนนดำหรือไม่นั้น เรายังต้องรอทดสอบกันในภายหลัง
ระบบกันสะเทือนติดรถที่ให้มา แม้หากมองที่ภาพลักษณ์อาจจะไม่ได้โดนใจสายหล่อเท่าไหร่นัก เพราะด้านหน้าเป็นแบบตะเกียบคู่หัวตั้งขนาดแกน 41 มิลลิเมตร และด้านหลังก็เป็นแบบโช้กเดี่ยวมีกระเดื่องทดแรง ทำงานร่วมกับสวิงอาร์มเหล็กกล่องธรรมดา ทว่าตัวชุดโช้กหน้า/หลังที่ว่านี้ เป็นของแบรนด์ Kayaba โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวโช้กหลังที่ Yamaha ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นโช้กแบบน้ำมัน+แก๊สปรับพรีโหลดได้ 5 ระดับ (เซ็ทติ้งออกโรงงานอยู่ที่ระดับ 3) จาก Kayaba Japan เลยทีเดียว
ดังนั้นจากการได้ลองขี่ผ่านอุปสรรคบนสนามที่ค่อนไปทางฮาร์ดเอนดูโร่ คือมีเนินบั๊มพ์สูงให้โดด กับมีแบงค์โค้งให้ปีนเป็นจุดๆ ตัวผู้ทดสอบพบว่าการเซ็ทติ้งระบบกันสะเทือนเดิมๆของ WR155 ที่ Yamaha ตั้งมานั้น ไม่ได้อ่อนยวบยาบ ยุบเร็วคืนเร็วเหมือนอย่างที่รถเอนดูโร่ไบค์ส่วนใหญ่เป็น เนื่องจากทางวิศวกรตั้งใจให้มันสามารถตอบโจทย์การใช้งานบนทางดำด้วย
ทำให้สัมผัสที่ได้จากระบบกันสะเทือนของเจ้าน้องใหม่คันนี้ จึงออกไปทางยืดยุบโดยมีความหนืดมาช่วยซับแรงตอนลงจากบั๊มพ์สูงๆ และหน่วงการคืนตัวของโช้กได้ค่อนข้างดีกับความเร็วการขี่ที่เหมาะสำหรับมือใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโช้กหลังที่ทำงานเด่นเกินคาดมากๆ เพราะไม่ดีดดิ้นคืนตัวเร็วจนเกินไปเลย แถมยังช่วยรักษาอาการท้ายสไลด์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ขี่มือใหม่สามารถควบคุมอาการได้ง่ายๆด้วย (ถือว่ากำลังเหมาะกับพละกำลังเครื่องยนต์ที่ให้มา) แต่ถ้าจะให้ขี่เร็วกว่านี้ ก็อาจจะมีการกระเทือนขึ้นตัวพอสมควร
ส่วนจุดไฮไลท์สำคัญอย่างเครื่องยนต์สูบเดียว 155cc SOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ พร้อมเสริมระบบวาล์วแปรผัน VVA ที่ยกมาจาก YZF-R15, MT-15, และ XSR155 ดังนั้นนี่จึงถือเป็นครั้งแรกในรถมอเตอร์ไซค์ดูอัลเพอร์โพสคลาส 150cc ของบ้านเราที่มีระบบหม้อน้ำติดมาให้ตั้งแต่ออกโรงงาน
ทว่าด้วยความที่มันต้องออกแบบเพื่อการใช้งานที่เน้นแรงบิดในรอบต่ำมากขึ้น ดังนั้นทาง Yamaha จึงมีการปรับการทำงานของระบบวาล์วแปรผัน VVA ใหม่ให้ทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น คือทำงานตั้งแต่ 6,900 รอบ/นาที จากเดิมที่ปกติจะทำงานที่ 7,400 รอบ/นาที และมีการปรับเซ็ทอัตราทดขั้นสุดท้าย หรือว่าง่ายๆคือทดสเตอร์หน้า/หลังใหม่ เพื่อให้อัตราเร่งตีนต้นติดมือมากขึ้น (แต่ในส่วนอัตราทดเกียร์ 1-6 ยังคงเท่าเดิม) รวมถึงถอดระบบสลิปเปอร์คลัทช์ออกไป เพราะไม่เหมาะสำหรับการใช้งานบนรถประเภทนี้
ฉะนั้นหากเทียบความรู้สึกของการตอบสนองเครื่องยนต์ในเจ้า WR155 กับเพื่อนๆต่างรูปแบบในค่ายเดียวกัน จึงแน่นอนว่าอัตราเร่งตีนต้นของมันมีความติดมือว่าจริง และจะเด่นยิ่งขึ้นคือการเรียกกำลังในรอบกลางที่สามารถเรียกใช้ได้กว้างกว่า สามารถเปิดกระแทกออก หรือกระแทกตอนขึ้นบั๊มพ์ได้ดี หรือถ้าหากเพื่อนๆจะลองเปิดคันเร่งเพื่อสไลด์ท้ายรถก็สามารถทำได้ง่ายๆเช่นกัน แต่มันก็ยังอยู่ในระดับที่ผุ้ขี่มือใหม่สามารถควบคุมได้ง่ายอยู่ดี ไม่น่ากลัวจนเกินไปเลย
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่พื้นฐานเดิมๆของเครื่องยนต์ลูกนี้ ค่อนไปทางรอบจัด ซึ่งแม้มันจะมีการปรับระบบ VVA ให้ทำงานด้วยรอบต่ำลงแล้ว แต่ถ้าเทียบกับเอนดูโร่ไบค์คันอื่นในพิกัดเดียวกันแล้ว ตีนต้นของมันจริงๆก็ยังรู้สึกว่ารอรอบกว่านิดหน่อยอยู่ดี (แต่ถ้าถึงย่านกลางเมื่อไหร่ WR155 คือรถที่สร้างความสนุกในการเปิดคันเร่งให้มากกว่าได้อย่างแน่นอน)
สรุป รีวิว Yamaha WR155 สำหรับการทดสอบในเบื้องต้นที่สนามแข่งโมโตครอสของ Yamaha WR155 ถือว่าค่อนข้างประทับใจอย่างมาก เนื่องจากน้ำหนักรถที่เคยคิดไว้ว่าหนัก ก็ไม่ได้มีผลต่อการควบคุมขนาดนั้น ระบบกันสะเทือนเอง แม้จะไม่หล่อแต่ก็ทำงานได้ดีในย่านความเร็วที่เหมาะสำหรับมือใหม่ไปจนถึงมือเก๋าสายชิล (ไม่สายตะบี้ตะบันหวด) และเครื่องยนต์เองก็มีกำลังที่ไม่ดุดันหรือพุ่งเกินไปจนต้องระวังการใช้คันเร่ง แต่ก็สามารถทำให้รถเกิดอาการต่างๆออกมาได้กำลังสนุกไม่หวาดเสียวแต่อย่างใด
ดังนั้นตอนนี้จึงเหลือแค่เพียงการทดสอบวิ่งบนถนนดำว่าจะทำได้ดีอย่างที่ Yamaha ตั้งใจออกแบบเผื่อไว้ ที่เราคงต้องหาโอกาสนำมาทดสอบกันต่อไป กับการเปิดราคา Yamaha WR155 จากทางผู้บริหารเท่านั้นว่าจะสมน้ำสมเนื้อกับสมรรถนะรถและออพชันต่างๆที่ติดมาหรือไม่ ? ซึ่งอันที่จริงก็อีกแค่เพียงไม่กี่วันนับจากนี้แล้ว รอชมกันได้เลยครับ
อ่านข่าว Yamaha เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ