อาจจะจริงอยู่ว่าในการชี้ขาดผลการแข่งขันความเร็ว มักจะตัดสินว่าใครคือคนที่เข้าเส้นชัยก่อนในตอนสุดท้าย แต่ในความจริงแล้วการออกตัวได้ก่อนใครตั้งแต่เริ่มแข่งเองก็สำคัญเช่นกัน เพราะมันอาจจะทำให้คุณสามารถขึ้นนำคู่ข่งได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่ต้องมเสียเวลาไล่แซง ดังนั้นระบบ “Launch Control” จึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในจุดนี้ ว่าแต่มันทำงานอย่างไรกัน ?
ก่อนอื่น สิ่งแรกที่เพื่อนๆต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกๆ ก็คือ การออกตัวรถที่ดีนั้น ควรจะต้องเป็นการออกตัวที่ไม่มีการฟรีทิ้งของล้อหลัง เพราะนั่นหมายความว่ากำลังที่ถูกส่งมาจากเครื่องยนต์ไม่ได้ถูกใช้ไปกับการผลักให้ตัวรถไปข้างหน้าอย่างเต็มที่ (มีเท่าไหร่ก็หายไปกับการฟรีทิ้งของล้อเสียหมด) และอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน คือล้อหน้าจะต้องไม่ลอย หรือลอยให้น้อยที่สุด เพราะแรงที่ส่งมาควรทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าทั้งคันให้มากที่สุด และถ้าปล่อยให้ลอยมากไปมันก็อาจจะเกิดการพลิกคว่ำซึ่งเสี่ยงอันตรายไปอีก
ดังนั้นการออกตัวชิงไฟแบบดั้งเดิมโดยที่ไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ใดๆมาช่วย นักแข่งจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการเปิดคันเร่ง+การใช้รอบเครื่องยนต์ (มากไปก็หงาย น้อยไปก็ช้า), การปล่อยคลัทช์ (เร็วไปก็ดีด ช้าไปรถก็ไม่ยอมออกไม่พอเสี่ยงคลัทช์ไหม้อีกด้วย) รวมถึงการกดน้ำหนักไปที่ล้อหน้าให้มากที่สุดเท่าที่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ล้อหน้าลอย และนั่นจึงเป็นที่มาของระบบ Launch Control ที่จะคอยจัดการปัญหา”แทบ”ทุกอย่างที่เรากล่าวมาให้หมดไป
โดยสาเหตุที่เราระบุว่า “แทบ” เช่นนั้น ก็เพราะว่า เมื่อระบบ Launch Control (LC) ถูกเปิดขึ้นมาแล้ว มันจะเข้ามาควบคุมแค่เฉพาะรอบเครื่องยนต์ ด้วยการล็อครอบเครื่องยนต์เอาไว้ให้เหมาะสมที่สุดสำหรับการออกตัวที่ไม่เบาเกินไปจนรถวิ่งไม่ออก หรือแรงเกินไปจนรถหน้าลอย (ซึ่งรถบางคันผู้ขี่ก็สามารถปรับได้ว่าอยากใช้รอบออกตัวเท่าไหร่ด้วย) ทำให้ผู้ขี่สามารถเปิดคันเร่งได้เต็มที่โดยไม่ต้องพะวงเรื่องรอบเครื่องยนต์อีกต่อไป เพราะเปิดยังไงรอบเครื่องยนต์ก็ไม่สูงไปกว่าที่ตั้งไว้จนกว่าจะถึงความเร็วที่ระบบกำหนดหรือเหมาะสม
พอผู้ขี่ปล่อยคลัทช์ออกไปแล้ว (ช่วงที่ฝึกใช้แรกๆให้ค่อยๆเลียออกก็ได้หากยังไม่ชิน แต่อย่าเลียมากไป เดี๋ยวคลัทช์ไหม้เอา) สำหรับรถมอเตอร์ไซค์สมัยใหม่ ที่มีชุดเซนเซอร์ IMU หรือเซนเซอร์วัดองศาการเอียง ตัวระบบ LC ก็จะให้ระบบ Wheelie Control หรือ WC ที่เป็นฟังก์ชันย่อยของระบบนี้ก็จะเข้ามาช่วยคุมไม่ให้ล้อหน้าลอยมากเกินไปอีกแรง ด้วยการคอยตัดกำลังเครื่องยนต์เป็นจังหวะๆไปก็เท่านั้นถ้าหากล้อหน้ารถเริ่มลอยจนใกล้จะถึงขีดจำกัดที่กำหนดไว้
ขณะที่การยึดเกาะของล้อหลังระบบ WC จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวเลยสักนิด ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของระบบ Traction Control (TC) ไป ซึ่งถ้าหากเพื่อนๆมั่นใจว่ายางมันเกาะพื้นถนนได้ดีพอ จะปิดระบบ TC ทิ้งไปแล้วเหลือแต่ระบบ LC ไว้ก็ได้ แต่ถ้าพื้นเกิดลื่นขึ้นมา แทนที่รถจะพุ่งไปข้างหน้าดีๆ มันก็อาจจะท้ายสไลด์ออกไปเหมือนอย่างเช่นคลิปที่เราแนบไว้ข้างบนแทน
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่