“ระบบเกียร์ DCT” หรือ “ระบบ Dual Clutch Tranmission” ชื่อนี้อาจชื่อระบบกลไกที่เหล่าผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ได้ยินกันมานานพอสมควร เนื่องจากทาง Honda ได้มีการนำระบบส่งกำลังเช่นนี้มาใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ของพวกเขานานนับ 10 ปีแล้ว แต่เชื่อว่าน่าจะยังมีใครหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าระบบส่งกำลังที่ว่านี้มันมีความแตกต่างจากระบบส่งกำลังอื่นๆอย่างไร ? ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะพาเพื่อนๆไปหาคำตอบกันครับ
ก่อนอื่น สำหรับระบบเกียร์ DCT ที่ใช้อยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ของ Honda นั้น ไม่ใช่ระบบที่ใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้แต่อย่างใด เพราะอันที่จริง ระบบส่งกำลังชนิดนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นมานานแล้วถึงเกือบ 80 ปี แต่ด้วยความซับซ้อน หรือวิทยาการในยุคนั้นที่ยังไม่พร้อม จึงทำให้ผู้ผลิตพึ่งจะเริ่มพัฒนานำมาใช้กับรถยนต์จริงๆไม่ต่ำกว่า 30 ปีที่แล้ว และพึ่งถูกนำมาใช้ในรถยนต์ประเภทซุปเปอร์คาร์, สปอร์ตคาร์ หรือในรถยนต์นั่งบางรุ่น อย่างจริงจังมาแล้วพักใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เห็นจะได้ ซึ่งรวมถึงทาง Honda ที่นำระบบส่งกำลังดังกล่าวมาใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ของตนในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกันเท่าไหร่นัก
โดยเจ้าเกียร์ DCT ที่ว่านี้ จะมีจุดต่างจากระบบเกียร์แบบคลัทช์เดี่ยวทั่วไปตรงที่ ปกติแล้ว รถมอเตอร์ไซค์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะมีราวเกียร์ทั้งหมด 2 ชุด, มีชุุดเฟืองคู่เกียร์ ตามจำนวนเกียร์ (มี 6 เกียร์ ก็มีเฟือง 6 คู่) และใช้ชุดคลัทช์สำหรับตัดต่อกำลังเพียงคลัทช์ชุดเดียว ซึ่งการจะเปลี่ยนเกียร์แต่ละเกียร์นั้น เราจะต้องกำคลัทช์ -> เพื่อให้แผ่นเหล็ก กับแผ่นคลัทช์หยุดจับกัน -> แล้วจึงเตะเกียร์ เพื่อให้กระปุกเกียร์หมุน -> แล้วบังคับตัวก้ามปู -> ให้ดันเฟืองเกียร์ที่ขบกันอยู่ แยกออกจากกัน หรือ เลิกขบกันก่อน -> แล้วก้ามปูจึงจะขยับไปดันกับเฟืองเกียร์คู่ถัดไปให้ขบกันต่อ -> เราจึงค่อยปล่อยคลัทช์
หรือเอาแบบเข้าใจง่ายๆก็คือ หากเป็นระบบคลัทช์ชุดเดี่ยวธรรมดาๆ การเปลี่ยนเกียร์จากเกียร์หนึ่ง สู่เกียร์หนึ่ง เราจะต้องผ่อนคันเร่ง กำคลัทช์ แล้วทำให้ระบบกลไกภายใน ขยับชุดเฟืองเกียร์ปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ให้เลิกขบกันก่อน แล้วจึงจะขยับไปควบคุมกลไกการชุดเฟืองเกียร์ลำดับถัดไป มาขบกัน แล้วจึงจะปล่อยคลัทช์ ถึงจะเปิดคันเร่งแล้วขี่ต่อไปได้
แต่ในฝั่งเกียร์ DCT จะมีการแยกชุดคลัทช์และชุดเกียร์ออกเป็น 2 ชุด โดยแบ่งการทำงานกัน ระหว่าง ชุดคลัทช์ของชุดเกียร์เลขคู่ กับชุดคลัทช์ของชุดเกียร์เลขคี่ ซึ่งพอถึงเวลาใช้งานจริง ขณะที่คลัทช์เกียร์ชุดเลขคี่กำลังทำงาน ร่วมกับชุดเกียร์เลขคี่ที่ยังขบกันอยู่ ฝั่งเกียร์ชุดเลขคู่ที่คลัทช์ยังไม่ทำงาน ก็จะให้เฟืองเกียร์เลขคู่ลำดับถัดไปที่ทำงานร่วมกัน ให้ขบรอไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ขี่สั่งรถให้เข้าเกียร์ต่อไป ระบบก็จะทำหน้าที่แค่สั่งให้คลัทช์ของเกียร์เลขคี่เลิกจับ แล้วสลับสั่งให้คลัทช์ของเกียร์เลขคู่ก็ทำงานแทนกันเพียงแค่นั้น ไม่ต้องมาเสียเวลารอเปลี่ยนตำแหน่งเฟืองเกียร์แต่อย่างใด (เพราะอย่างที่บอกว่าเฟืองเกียร์ลำดับถัดไปมันขบกันรอไว้ก่อนแล้ว)
และแม้จะบอกว่า ชุดเกียร์ DCT นั้น ทำงานคล้ายๆกับเกียร์ธรรมดา แต่ด้วยความที่มันเป็นระบบคลัทช์ไฟฟ้า ทำให้ส่วนใหญ่แล้วเราจึงสามารถใช้งานมันในลักษณะที่คล้ายกับรถเกียร์ออโตเมติกด้วย เนื่องจากผู้ผลิตมักเพิ่มโหมดการใช้งานแบบออโตเมติกที่จะให้กล่อง ECU คอยจัดการควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ได้เองตามความเร็วและรอบเครื่องยนต์โดยอัติโนมัติได้เองเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ด้วยความซับซ้อนในการออกแบบกลไกการทำงาน การออกแบบระบบควบคุม และจำนวนชิ้นส่วนที่เพิ่มขึ้นราวๆ 2 เท่าของชุดเกียร์/ชุดคลัทช์แบบปกติ ทำให้ต้นทุนของชุดเกียร์ DCT หนึ่งลูกนั้น สูงกว่าชุดระบบส่งกำลังแบบทั่วไปมาก ไหนจะความยุ่งยากในการซ่อมบำรุงหากชิ้นส่วนเกินเสียหายขึ้นมาอีก จึงทำให้ระบบส่งกำลังแบบ DCT มักจะถูกนำไปใช้กับรถยนต์สมรรถนะสูง และในฝั่งรถมอเตอร์ไซค์ก็มีเพียง Honda เท่านั้นที่นำมาใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ของพวกเขา (แต่การดูแลรักษา สำหรับผู้ขี่ทั่วไปนั้นไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะแค่เช็คระยะกับเปลี่ยนน้ำมันเครื่องฯ น้ำมันเกียร์ตามปกติ)
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ขี่ที่พึ่งมาใช้ยานพาหนะที่มีเกียร์ DCT เป็นครั้งแรก ก็จะต้องฝึก ปรับตัว และทำความเข้าใจในจังหวะการทำงานของมันด้วยในช่วงแรก เนื่องจากแม้มันจะเป็นระบบเกียร์ที่สะดวกสบายในการใช้งาน แต่มันก็มีความแตกต่างขณะขับขี่ที่แตกต่างจากชุดเกียร์ทั่วๆไปอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ในฝั่งของผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์เกียร์ธรรมดามาก่อน พอมาเจอรถเกียร์ DCT ก็จะหวิวๆนิดๆตรงที่ไม่มีคันเกียร์ให้เตะ ไม่มีคลัทช์ให้กำ หรือในบางจังหวะที่อยากจะเปลี่ยนเกียร์เอง พอกดปุ่ม +/- บนประกับแฮนด์ เกียร์ก็ดันไม่ขึ้น หรือลงทันใจอย่างตัวเองคาดหวังไว้อีก เนื่องจากยังจับจุดมันไม่ได้ (ทว่านั่นก็เป็นข้อสังเกตสำหรับยานพาหนะเกียร์ DCT ยุคแรกๆเท่านั้น เพราะในปัจจุบันความฉับไวและความนุ่มนวลในการเปลี่ยนเกียร์ ของยานพาหนะที่ใช้เกียร์ DCT นั้นดีขึ้นมาก)
หรือสำหรับผู้ที่เคยขี่รถเกียร์ CVT มา พอเจออัตราเร่งของเกียร์ DCT ที่มีความฉับไวกว่า และมีจังหวะรอบเครื่องยนต์ตกลงเพื่อเปลี่ยนเกียร์ในลำดับถัดไปเหมือนตอนใช้รถมอเตอร์ไซค์เกียร์ธรรมดา ก็จะงงในใจนิดๆว่าอันนี้ตัวเองขับรถเกียร์ CVT หรือเกียร์ธรรมดาอยู่กันแน่ ? แต่ทั้งนี้หากเพื่อนๆเคยใช้รถยนต์เกียร์อัตโนมัติมาก่อน ก็คงจะไม่รู้สึกแปลกใจเท่าไหร่นักหรอกครับ เพราะความรู้สึกมันจะคล้ายๆกันมากกว่า แค่เกียร์ DCT มันทำได้ฉับไว และลื่นไหลกว่าก็เท่านั้นนั่นเอง
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่