ขณะที่ใครหลายๆคน กำลังรอชมการมาของ Honda CBR1000RR-R โมเดลปี 2022 ซึ่งจะเป็นโมเดลฉลองครบรอบ 30 ปี “Honda Fireblade” กันอยู่ ล่าสุดเรากลับมีข้อมูลว่า ทาง Honda กำลังเดินโปรเจ็กท์ซุปเปอร์ไบค์รุ่นใหม่คู่ขนานไปกับการขาย CBR รุ่นใหญ่โมเดลปัจจุบันด้วย
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เป็นการอ้างอิงข้อมูลจากภาพเอกสารสิทธิบัตรของทาง Honda ที่จดเอาไว้กับหน่วยงานภาครัฐของประเทศญี่ปุ่น แล้วถูกนำมาเปิดเผยบนโลกออนไลน์ได้ไม่นานเท่าไหร่นัก และข้อมูลหลักในตัวสิทธิยัตรดังกล่าว ก็จะว่าด้วยเรื่องของ “ชุดเฟรม” หรือโครงสร้างหลักของตัวรถแบบใหม่ ที่ทาง Honda ไม่เคยใช้มาก่อน เพราะมันคือชุดเฟรมแบบ “โมโนค็อก” ที่ในปัจจุบันมีเพียงค่าย Ducati เท่านั้นที่ใช้ชุดเฟรมแบบนี้กับรถซุปเปอร์ไบค์ของพวกเขา
โดยสำหรับคุณสมบัติของชุดเฟรมแบบโมโนค็อกที่ทาง Honda คิดค้นขึ้นมาในครั้งนี้ ก็จะมีคุณสมบัติไม่ต่างจากชุดเฟรมของ Ducati เท่าไหร่นัก นั่นคือมันจะเป็นชุดเฟรมที่ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุประเภทอลูมิเนียมหล่อขึ้นรูป แต่ถูกออกแบบให้มีขนาดเล็ก และเอาไว้ยึดชิ้นส่วนระบบกันสะเทือนและระบบบังคับเลี้ยวทางด้านหน้า เข้ากับเครื่องยนต์ช่วงครึ่งบนเท่านั้น ส่วนตำแหน่งในการติดตั้งกล่อง ECU, หม้อกรองอากาศ, แบตเตอรี่ต่างๆ ก็จะถูกอัดและยัดเอาไว้บริเวณพื้นที่ว่างตรงกลางของชุดเฟรมด้านบนเช่นกัน เพื่อรวมจุดศูนย์ถ่วงของน้ำหนักให้อยู่ด้านหน้าผู้ขี่ให้มากที่สุด
แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ ชุดสวิงอาร์มแบบแขนเดี่ยวทางด้านหลัง กับโช้กต้นเดี่ยวเอง ก็จะถูกยึดกับเข้ากับโครงอลูมิเนียมที่ยึดเฉพาะท่อนล่างของเครื่องยนต์เท่านั้นอีกที นั่นจึงหมายความว่าแกนกลางของรถจริงๆในคราวนี้จะไม่ใช่ชุดเฟรมอีกต่อไป แต่เป็นเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียงของมันต่างหาก
ส่วนถังน้ำมันของซุปเปอร์ไบค์ที่ว่านี้ จะยังคงติดตั้งอยู่ด้านบนชุดเฟรมเช่นเดิม แต่สำหรับชุดเปลท้ายซึ่งจะยึดต่อจากเฟรมหน้านั้น จะถูกทำให้มีโครงสร้างแบบโมโนค็อกด้วยเช่นกัน ทว่าวัสดุที่ใช้ จะเป็นแบบวัสดุคอมโพสิต หรือวัสดุทางเคมี ซึ่งอาจเป็นเส้นไยไฟเบอร์ หรือพลาสติกโพลีเมอร์ก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็เพื่อการรีดน้ำหนักตัวรถให้เบาที่สุด ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะทาง Ducati ก็มีรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ซับเฟรมลักษณะนี้แล้ว นั่นคือ Monster ตัวใหม่ล่าสุด
จากการออกแบบทั้งหมดที่ไล่เรียงมา ทาง Honda ระบุว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการหวังผลแค่เฉพาะในเรื่องของการรีดน้ำหนักตัวรถออกไปให้มากที่สุดเท่านั้น แต่มันยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตอีกด้วย เนื่องจากชิ้นส่วนต่างๆที่พวกเขาออกแบบไว้ในสิทธิบัตรนั้น เอาจริงๆก็ไม่ได้มีมากชิ้นเท่าไหร่นัก แถมยังมีกรรมวิธีในการผลิตที่ไม่ซับซ้อนเท่าชิ้นส่วนต่างๆที่ใช้อยู่ในซุปเปอร์ไบค์รุ่นปัจจุบัน (หากจะทำจริงๆ)
และถึงแม้หน้าตาของตัวรถในสิทธิบัตร อาจจะดูค่อนข้างล้ำยุคไปพอสมควร แต่ด้วยความที่ชิ้นส่วนต่างๆที่ทาง Honda คิดค้นแนวทางเอาไว้ในสิทธิบัตร ไม่ได้เป็นสิ่งที่ล้ำยุคเกินไป เพราะเครื่องจักรในโรงงานของพวกเขาสามารถผลิตชิ้นส่วนลักษณะนี้ได้สบายๆอยู่แล้ว เหลือก็แค่เพียงพวกเขาจะทำมันเมื่อไหร่ก็เท่านั้น แต่มันจะเป็นเมื่อไหร่กัน ? ก็รอติดตามดูกันต่อไปครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก Bikesocial, MCN
อ่านข่าวสาร Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่