เทรนของยานพาหนะพลังงานทางเลือก เป็นสิ่งที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมากภายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจจะด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ที่ผู้คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากขึ้น หรืออาจจะด้วยราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพาหนะพลังงานไฟฟ้า หรือ EV นั้นได้รับความสนใจมากขึ้น แต่เราเคยตั้งคำถามกับหรือเปล่าว่า รถพลังงานไฟฟ้ามันสะอาดมากขนาดไหน เมื่อเทียบกับยานพาหนะที่ใช้น้ำมัน
สิ่งแรกที่เราต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจก่อนคือ รถแต่ละรุ่นของแต่ละค่ายนั้นปล่อยมลพิษตลอดอายุการใช้งานต่างกัน ซึ่งตัวแปลก็มาจากทั้งขั้นตอนการผลิตรถตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วน ไปจนถึงอัตราการปล่อยมลพิษระหว่างใช้งานที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นกรณีศึกษาที่เราจะนำมาให้ดูกัน จะเป็นการเปรียบเทียบโดยใช้รถยนต์ Volvo XC40 เป็นตัวอย่าง เนื่องจากเป็นรถมีทั้งตัวเลือกพลังงานไฟฟ้า และน้ำมัน ซึ่งต่างก็ผลิตในโรงงานเดียวกัน รวมถึงยังมีรูปร่างที่เหมือนกัน นั่นจึงทำให้ข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น และข้อมูลการปล่อยมลพิษดังกล่าวนั้น จะนับตั้งแต่การทำเหมือง การผลิตไฟฟ้า การกลั่นน้ำมัน และการผลิตชิ้นส่วน ไปจนกระทั่งประกอบจนเสร็จเป็นรถคันนึงเลย
อีกเรื่องที่เราต้องอธิบายคือ รูปแบบการปล่อยมลพิษของรถทั้ง 2 ประเภทนั้นแตกต่างกัน โดยที่รถพลังงานไฟฟ้านั้นจะปล่อยมลพิษส่วนใหญ่ออกมาในขั้นตอนการผลิต ซึ่งแน่นอนว่าส่วนที่สร้างมลพิษมากที่สุดคือ “แบตเตอรี่” ทำให้รถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ก้อนใหญ่ จะสร้างผลกระทบต่อโลกมากกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็จะไม่ปล่อยมลพิษออกมาในระหว่างใช้งาน ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับที่มาของพลังงานไฟฟ้าที่นำมาชาร์จให้รถด้วย
ในขณะที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมันนั้นจะสร้างมลพิษในขั้นตอนการผลิตน้อยกว่า แต่เมื่อมันลงสู่ถนน มันก็จะเริ่มปล่อยมลพิษมากขึ้นทันที และมากขึ้นตามอายุการใช้งาน นี่ยังไม่รวมถึงมลพิษที่ถูกปล่อยออกมาในขั้นตอนการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง
โดยเฉลี่ยแล้ว รถเครื่องยนต์สันดาปจะสร้างมลพิษในขั้นตอนการผลิตเป็นก๊าซ CO2 ประมาณ 7 ตัน และปล่อยมลพิษจากการใช้งานเฉลี่ยประมาณปีละ 5.2 ตัน(วัดตามค่าเฉลี่ยการใช้งานของผู้ใช้รถในสหรัฐอเมริกา ไม่นับมลพิษที่เกิดจากการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง)
ส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่แต่ละคันนั้นจะปล่อย CO2 ออกมาในขั้นตอนการผลิตประมาณ 17 ตัน และจะปล่อยมลพิษระหว่างใช้งานประมาณปีละ 2 ตัน(วัดตามค่าเฉลี่ยการใช้งานของผู้ใช้รถในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน แต่มีการนำเอาการปล่อยมลพิษจากการผลิตกระแสไฟฟ้ามาร่วมด้วย)
นั่นจึงทำให้นิยามความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือจุดคุ้มทุนด้านมลพิษของรถแต่ละประเภทต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและระยะทางการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงานของไฟฟ้าที่เราใช้ด้วย Volvo ได้ประมาณการณ์ไว้ว่าจุดคุ้มค่าด้านมลพิษที่รถไฟฟ้าจะรักษ์โลกจริง ๆ นั้นอาจจะมาถึงในระยะการใช้งานที่ประมาณ 83,000 กิโลกเมตร ในกรณีที่คุณใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งที่สะอาด แต่จุดคุ้มทุนที่ว่านั้นอาจจะขยับไปได้ไกลถึง 145,000 กิโลเมตร ในกรณีที่พลังงานไฟฟ้านั้นมาจากถ่านหินและโรงไฟฟ้าคุณภาพต่ำ
โดยสรุปแล้วเราก็พอจะบอกได้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้านั้นเริ่มต้นการใช้งานได้ไม่ดีเท่าไร แต่ถ้าในระยะยาว รถที่ใช้น้ำมันก็จะเผาเชื้อเพลิงและสร้าง CO2 จนแซงหน้ารถพลังงานไฟฟ้าไปในที่สุด แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับมาตราฐานการวัดค่าไอเสียที่ใช้ด้วยว่าเป็น WLTP(ยุโรป) หรือ EPA(อเมริกา) เพราะถ้าวัดด้วยมาตรฐานของอเมริกา ตัวเลขระยะทางที่คุ้มค่านั้นก็จะเข้ามาใกล้ขึ้นกว่าเดิม
เพราะฉนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่ใช้รถน้อยกว่าระยะทางที่เราได้กล่าวไปข้างต้น การใช้รถพลังงานไฟฟ้าก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักในการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้สถานที่ที่เราอยู่นั้นมีมลพิษน้อยลง และจะน้อยมากในภาพรวมถ้าเราเป็นคนที่ใช้รถบ่อย(ในกรณีที่คุณไม่ใช่คนเปลี่ยนรถบ่อย) และอย่าลืมว่าโรงงานไฟฟ้านั้นสามารถสร้างพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องยนต์สันดาปในรถของเรา
อีกประเด็นนึงที่น่าสนใจและน่าคิดต่อคือ รถที่ใช้แบตเตอรี่แบบสลับได้ เพราะถึงแม้ระบบนี้มันจะช่วยให้เราเสียเวลน้อยลง แต่นั่นก็หมายถึงการที่ต้องมีแบตเตอรี่ที่ต้องถูกผลิตมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้เพียงพอต่อการสลับและชาร์จ ซึ่งแบตเตอรี่นี่แหละ คือส่วนที่สร้างมลพิษมากที่สุด
ที่มา Volvo
ที่มา AutoTrader
ที่มา Donut Media
อ่านข่าวสาร EV เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่