หลายคนที่ติดตามรายการ MotoGP อยู่ในยุคใหม่ คงจะเห็นการพัฒนาการใช้งานหลักการอากาศพลศาสตร์ในรถแข่งได้มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากปีก Winglet และอุปกรณ์ตัวช่วยมากมายที่ทำให้ทีมแข่งสามารถดึงประโยชน์ได้สูงสุดออกมาจากอากาศ แต่ถ้าการแข่งขันพัฒนาระบบอากาศพลศาสตร์บนตัวรถมันไม่พอ มันก็ยังพอมีช่องว่างอื่นให้พัฒนาต่ออยู่บ้าง
จนค่ายรถมอเตอร์ไซค์และทีมผู้เข้าแข่งขันอย่าง Aprilia คิดจะเสริมการเล่นแร่แปรอากาศนี้บนตัวนักแข่งเองด้วย เหตุผลก็เนื่องมาจากอากาศพลศาสตร์ของรถมอเตอร์ไซนั้นซับซ้อนกว่ารถยนต์ เพราะอากาศที่ไหลผ่านรถยนต์นั้นมีความเป็นระเบียบมากกว่า รถยนต์มีรูปทรงเป็นก้อนเดียวเรียบลื่นที่ตายตัวไม่ซับซ้อน ต่างกับมอเตอร์ไซค์ที่มีช่องและส่วนเว้าโค้งมากกว่า แถมยังมีผู้ขับที่มีรูปร่างเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ได้เกิดมาลู่ลมมากนักเกาะอยู่บนรถ แถมมนุษย์ที่ว่านั้นก็ออกท่าทางที่แต่างต่างกันตอนขับขี่อยู่ตลอดเวลา นั่นจึงทำให้การออกแบบตัวช่วย Aerodynamic นั้นเป็นเรื่องยาก
Aprilia จะทำการจดสิทธิบัตรชุดแข่งที่มีการติดตั้งครีบหรือสันนูนเพิ่มเติมไว้บนชุด ที่นอกจากจะช่วยเสริมการป้องกันในบางระดับแล้ว มันยังช่วยควบคุมกระแสของอากาศที่ไหนผ่านตัวนักแข่งได้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดแรงต้านของอากาศ เพื่อช่วยให้ทำความเร็วสูงมากขึ้น หรือจัดมวลอากาศให้เป็นระเบียบสำหรับส่งต่อไปที่ปีกส่วนอื่นของรถ เพื่อให้การทำงานร่วมกันทั้งคนและรถได้ดีขึ้น
ความน่าสนใจหลังจากนี้คือ เทคโนโลยีดังกล่าวจะถูกพัฒนาต่อไปขนาดไหน เพราะในการแข่งขันมีนักบิดหลายคนที่เลือกใช้ชุดแข่งจากผู้ผลิตที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง และรถแข่งจากทีมอื่นที่มีอากาศพลศาสตร์ต่างกัน ผู้ผลิตชุดจากต่างค่ายจะต้องออกแบบชุดแข่งของตัวเองให้เหมาะสมกับรถเหล่านั้นอย่างไร เราอาจได้เห็น Alpinestar และ Dainese พยายามทำชุดของตัวเอง(ที่คงจะต่างกัน)ให้เหมาะกับปีกของรถค่ายนึง แล้วก็ต้องทำชุดอีกแบบให้ใช้งานได้กับรถค่ายอื่นด้วย
ที่มา motorrad
อ่านข่าวสาร Aprilia เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าวสาร MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่