“แรงม้า” หน่วยวัดพละกำลังของรถยนต์และจักรยานยนต์ ซึ่งถือเป็นข้อมูลอย่างหนึ่งที่คนที่ชอบความเร็วอย่างเราให้ความสนใจเป็นอันดับต้น ๆ เพราะมันสามารถช่วยทำให้เราจินตนาการได้ง่ายขึ้น ว่ารถคันที่เรากำลังสนใจอยู่นั้นจะทรงพลัง เร็วแรงมากขนาดไหน แต่เมื่อเราเปิดสเปคของรถดูในเน็ตเราจะเห็นตัวเลขพละกำลังสูงสุด บางครั้งหน่วยวัดของมันกลับไม่ใช่แรงม้าที่เราคุ้นเคย
Tips Trick วันนี้เราเลยจะพาทุกคนมาดูกันว่าหน่วยวัดพละกำลังแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเป็น HP BHP PS kW นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร? เอาแบบพื้นฐานเข้าใจง่าย ไม่ลงลึก ในแบบที่แม้แต่เด็กประถมก็ยังสามารถเข้าใจได้ไม่ยากนัก(ที่จริงอาจจะต้องเป็นเด็กมัธยมถึงจะเข้าใจ) และเราจะขอข้ามเรื่องของตัวเลขและสมการคำนวณที่อาจจะทำให้ทุกคนงงกันได้
ขั้นแรกเราต้องอธิบายให้เข้าใจก่อนว่าหน่วยวัดพละกำลังที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ แท้จริงแล้วมันคือหน่วยที่ใช้วัด “งาน” ที่เครื่องจักรสามารถทำได้ ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายคือ สมมุติว่าเราต้องย้ายของจากจุด A ไปจุด B เราสามารถเลือกได้ว่าจะแบกของทั้งหมดในรอบเดียว โดยแลกกับการเวลาเดินต่อเที่ยวที่ช้า หรือจะแบกของทีละนิดและเดินหลายเที่ยว แลกกับการที่สามารถเดินได้เร็วกว่าในแต่ละเที่ยว แต่ไม่ว่าเราจะเลือกวิธีไหน ตราบที่เราสามารถย้ายของได้ทั้งหมดในเวลาที่เท่ากัน “งาน” ของทั้งสองวิธีก็จะถือว่าเท่ากัน
HP หรือ Horse Power หรือที่ภาษาไทยเรียกแบบตรงตัวว่า แรงม้า ถือเป็นหน่วยวัดงานในยุคเริ่มแรกสุดที่ถูกคิดค้นโดย James Watt ในสมัยที่เครื่องจักรไอน้ำเพิ่งถูกนำมาใช้ใหม่ ๆ เขาจึงหาวิธีเปรียบเทียบเครื่องจักรไอน้ำกับ “ม้า” ซึ่งเป็นแรงงานหลักในยุคนั้น โดยเขาสรุปว่าม้าตัวหนึ่งสามารถลากของหนัก 330 ปอนด์ เป็นระยะทาง 100 ฟุต ในระยะเวลา 1 นาที และนั่นก็เป็นมาตรฐานของ 1 แรงม้า ที่เราใช้กันในปัจจุบัน หน่วยวัดงานที่ว่านี้ถูกเริ่มเอามาใช้ก่อนในประเทศสหรัฐอเมริกา และนิยมใช้ในฝั่งทวีปอเมริกาทั้งหมด
แต่ถ้าเรามองในมุมของสมการทางคณิตศาสตร์ น้ำหนักที่ลาก ระยะทาง และระยะเวลาสามารถเปลี่ยนแปลงไปมาได้ ยกตัวอย่างเช่นการลากของหนักมากขนาด 3,300 ปอนด์ ไปไกลแค่ 10 ฟุต ในระยะเวลาเท่ากันที่ 1 นาที ก็จะถือว่ามีงานอยู่ 1 HP เช่นเดียวกัน
BHP หรือ Brake Horse Power นั้นเป็นหน่วยวัดงานที่นิยมใช้ในสหราชอาณาจักร ที่มาของมันมาจากวิธีการที่ใช้วัดพละกำลังเครื่องยนต์ โดยการคำนวนว่าต้องใช้แรงมากเท่าไรในการหยุดไม่ให้เครื่องยนต์หมุนได้ตามปกติ หรือก็คือการพยายามเบรกเครื่องยนต์ที่เราต้องการวัดนั่นเอง ถ้าต้องใช้พละกำลังมากขึ้นในการเบรก แปลว่าเครื่องยนต์ที่เราวัดอยู่นั้นแรงมากตามไปด้วย
ซึ่งวิธีที่ว่านี้ก็จะกลายมาเป็นหลักการเบื้องหลังไดโนวัดแรงม้าแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน เพราะวิธีวัดพละกำลังของรถโดยใช้ไดโน ก็จะใช้วิธีการคำนวนจากแรงที่ต้องใช้ในการต้านเครื่องยนต์เหมือนกัน
PS หรือ Pferdstarke เป็นคำภาษาเยอรมันที่แปลว่า แรงม้า ซึ่งหน่วยวัดที่ว่านี้จะใช้วิธีการคำนวนบนหลักการเดียวกับ HP ทุกอย่าง เพียงแต่แปลงหน่วยจากแบบอิมพีเรียล มาเป็นหน่วยเมตริก เช่นการเปลี่ยนหน่อย ปอนด์ เป็น กิโลกรัม และเปลี่ยนจาก ฟุต เป็น เมตร รวมถึงเปลี่ยนตัวเลขในสมการนิดหน่อย โดยหน่วยวัดนี้จะนิยมใช้งานในยุโรปฝั่งภาคพื้นทวีปเป็นหลัก ซึ่งตัวเลขโดยรวมจะต่างออกไปจาก HP หรือ BHP เล็กน้อย เนื่องจากการแปลงหน่วยตั้งต้นที่ใช้วัด
ปิดท้ายกันด้วย kW หรือ Kilowatt หน่วยวัดที่เราคุ้นเคยกันน้อยที่สุด แต่แท้จริงแล้วเป็นหน่วยวัดที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด เพราะแทนที่จะอ้างอิงตัวเลขพละกำลังมาจากม้าทั้งตัวในแบบที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน โดยที่ไม่รู้ว่าม้าตัวนั้นเป็นสายพันธ์อะไร อายุเท่าไร ออกกำลังกายทุกวันไหม เราก็จะเปลี่ยนไปใช้หน่วยวัดแบบเดียวกับที่ใช้ในการวัดค่าของไฟฟ้าแทน และหน่วยวัดแบบนี้ก็สามารถเอาไปใช้ร่วมกับการคำนวนปริมาณของแบตเตอรี่ซึ่งใช้หน่วยเป็น kWh ได้อีกด้วย
โดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะเป็นหน่วย HP BHP หรือ PS นั้นก็มักจะมีตัวเลขทศนิยมที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไรในมุมของผู้ใช้งานตามปกติ แต่ตัวเลขที่ดูเพี้ยนออกไปมากที่สุดจนทำให้คนทั่วไปจินตนาการยากก็คือ kW ซึ่ง 1 kW จะมีค่าเท่ากับ 1.34 HP
ที่มา drivetribe
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่