เมื่อวันที่ 25 ตค. ที่ผ่านมาทาง Kawasaki Motors ประเทศไทย ได้เปิดตัวรถ Minibike น้องใหม่ เป็นครั้งแรกในโลก Kawasaki Z125 และ Z125 Pro ที่ Asiatique กทม. ประเทศไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ของรถ Minibike เลยก็ว่าได้ จนทำให้มันกลายเป็นกระแส และได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม แม้ราคาเปิดอาจทำให้ใครหลายคนมองว่ามันราคาแพงไป
สำหรับหลายคนที่สงสัย และมีความสนใจในรถ Minibike คันนี้ ในวันนี้ MotoRival ของเราได้มีโอกาสมาทดสอบ Kawasaki Z125 ใหม่ ตัว AutoClutch จึงขอมา รีวิว Kawasaki Z125 ใหม่ คันนี้ให้ชมกันเพื่อประกอบการตัดสินใจกันครับ
รูปโฉม Kawasaki Z125 ต้องถือว่าดึงดูดทุกสาย จากที่ผู้เขียนได้ยืมมาทำการทดสอบนี้ จะพบว่ามันสามารถดึงดูด จนมีผู้เหลียวหันมามอง ไม่ว่าจะจอดอยู่ หรือ ขี่อยู่บนท้องถนน
หากมองเผินๆ จากไฟหน้า, ท่อไอเสียออกใต้ท้อง, เบาะ เราจะพบว่า Z125 นี้ที่จริงแล้วดูแทบจะไม่ได้รับอิทธิพลมาจากรุ่นพี่ตระกูล Z มาแต่อย่างใด นอกเสียจากการยกไฟท้ายจาก Z800 มาใส่ จน ผู้ใช้ Z250 SL หรือ Z250/Z300 ถึงกับน้อยใจกันเลยทีเดียว โดยรวมแล้วผู้เขียนมองว่ามันได้รับอิทธิพลมาจาก Naked Mid Sized อย่าง ER-6n จนน่าจะเรียกเป็น ER125 เสียมากกว่า
สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจของ Z125 มีดังนี้
ติดตั้งอกล่างเสริมหล่อมาให้ ซึ่ง ไม่มี Minibike ในไซส์นี้คันไหนที่ติดตั้งมาให้ จากโรงงาน
ปีกข้าง และถังน้ำมันที่มีดีไซน์คล้าย Z1000 ขนาดย่อม
เบาะนั่งแบบตอนเดียว ดีไซน์แยกชั้นเพื่อเพิ่มรูปลักษณ์สปอร์ต แต่แน่นอนมันแลกกับการที่หากมีผู้ซ้อน ถ้าไม่ใช่สาวเอวบางร่างน้อยก้นเล็ก แน่นอนว่า เมื่อยก้น เป็นแน่
พักเท้าคนขี่เป็นแบบเดียวกันกับ Ninja300/Z300 ซึ่งเราสัมผัสได้ถึงการวางเท้าในแบบรูปลักษณ์สปอร์ตในการขี่ได้ทันที
ท่อไอเสียออกใต้ท้องรูปแบบ ER-6n/6f โดยมีอกล่างติดตั้งมาให้เสริมหล่อมาแต่เกิด
ล้อลวดลายถูกยกมาจาก New KSR แต่ด้านหลังใช้ล้อกว้างขึ้น ทำให้สวมยาง Tubeless จาก IRC NR77U (Wing) ด้านหน้า เท่าเดิม 100/90-12 49J, แต่ล้อหลังไซส์ใหญ่ขึ้นเป็น 120/70-12 51L
มาตรวัดรอบแบบ Analog พร้อมจอ LCD แสดงผลความเร็วดิจิตอล เกจ์น้ำมัน สามารถเซ็ท Trip A, B ได้ ที่สำคัญมีไฟบอกเกียร์อีกด้วย
มีจุดหนึ่งที่ดูจะใช้งานลำบากไปหน่อย คือ รูกุญแจเปิดเบาะ ที่ซ่อนไว้ใต้บังโคลน ใต้เบาะทำให้เวลาจะไขเปิดอาจต้องก้ม หรือย่อตัวเมื่อยกันพอสมควร
สำหรับ มิติของ Kawasaki Z125 มีความ (ยาวxกว้างxสูง) = 1,700 มม.× 740 มม.× 1,005 มม. (Z125) และ 1,700 มม.× 750 มม.× 1,005 มม. (Z125 PRO)
โดยมีระยะฐานล้อ 1,175 มม. มีความจุถังน้ำมัน 7.4 ลิตร น้ำหนักตัว 101 กก. ความสูงเบาะ 780 มม.
สำหรับท่าทางการนั่งขี่นั้น การใช้แฮนด์บาร์ทรงสูง แต่ด้วยชุดแผงคอที่ดูเตี้ย จึงทำให้ตำแหน่งแฮนด์ยังถือว่าค่อนข้างต่ำ ซึ่งต่ำกว่ากระจกรถยนต์ปกติ ทำให้การขับขี่แทรกการจราจร สามารถหลบกระจกได้แต่ต้องระวัง กระจกมองข้างทรงเหลี่ยมที่ยื่นเกะกะออกมา มันจะอยู่ในระดับเดียวกับกระจกรถ SUV หรือ รถกระบะ พอดิบพอดี
ขณะที่ตำแหน่งท่านั่ง ด้วยเบาะสูงในระดับใกล้เคียง รถตระกูล 250/300cc ยังอาจทำให้ใครหลายคนที่ตัวเล็ก อาจจะมีเขย่งปลายขากันอยู่บ้าง ขณะที่ปีกข้างและถังน้ำมันก็มีส่วนเว้าโค้งที่รับกันกับช่วงหัวเข่าได้ดีในระดับหนึ่ง แต่การนั่งให้กระชับ และถูกต้อง นั้นอาจทำให้เวลาหักเลนเลี้ยววงแคบนั้น แฮนด์ยังมีติดหัวเข่าอยู่บ้าง สำหรับการขี่เดินทางไกล อาจมีเมื่อยก้นบ้าง แต่ระยะตำแหน่งแฮนด์ ไม่สูงไม่ต่ำ จึงทำให้ไม่เมื่อยไหล่มากนัก ในการขี่เดินทางออกทริป (ผู้เขียนสูง 174 ซม.)
เครื่องยนต์ Kawasaki Z125 เป็นเครื่องหัวฉีด 4 จังหวะ สูบเดียว ระบายความร้อนด้วยอากาศ SOHC 2 วาล์ว ความจุ 125cc ให้กำลัง 7.0 kW หรือ 9.5 แรงม้า PS มีอัตราส่วนแรงอัด 9.8:1 ระยะกระบอกสูบ x ช่วงชัก 56.0 มม. x 50.6 มม. ส่งกำลังผ่านเกียร์ 4 Speed แบบออโต้คลัทช์ ในรุ่น Z125 คันนี้จะมีลำดับเกียร์ N-1-2-3-4
การติดเครื่องยนต์ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว เสียงท่อไอเสียที่ฟังดูอื้ออึงอยู่ภายใต้ท้องรถ อาจฟังดูแปลกๆ ไม่ชินหูนัก ซึ่งไม่เหมือนรถใหม่ๆ เดี๋ยวนี้ที่คนมักบ่นกันว่าเสียงเหมือนรถไฟฟ้า
ในรุ่น ออโต้คลัทช์ จะมีลำดับเกียร์เหมือน KSR โฉมแรก ที่ใช้การงัดเกียร์ขึ้นเพียงทางเดียว ใช้งานง่ายสะดวก
อัตราเร่งออกตัวช่วงต้น ถือว่าสนุกสนานทำได้จี๊ดจ๊าด พอสมควร การขี่เพื่อรีดสมรรถนะสูงสุด สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ที่รอบ 9,000rpm+ ก่อนเข้า Redline ขณะที่การขับขี่ใช้งานแบบเน้นแรงบิด ไหลมาอย่างต่อเนื่อง เราพบว่าสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ทันทีตั้งแต่ช่วง 6,000rpm ซึ่งเป็นโซนของ Torque Band
ในการเปลี่ยนเกียร์ การงัดเท้าเพื่อขึ้นเกียร์อาจต้องกระดกข้อเท้ามากหน่อยจากตำแหน่งคันเกียร์ที่ตั้งให้อยู่ในระนาบเดียวกับพักเท้า ซึ่งจะสะดวกต่อการ Shift Down เกียร์ลงเสียมากกว่า การทำงานของระบบออโต้คลัทช์นี้ดูจะหนืดหน่วงสักเล็กน้อย ซึ่งเราก็พบว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดี คือ มันทำหน้าที่ในการเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างสมูทนุ่มนวล ช่วยลดอาการดึงจากแรง Engine Brake ลงไปได้พอสมควร แต่ข้อเสียก็คือ ในการลดเกียร์ลง หรือจังหวะงัดเกียร์ขึ้น อาจจะดูหน่วงๆ และช้าไปเล็กน้อยชั่วจังหวะหนึ่ง
นอกจากนี้ด้วยมาตรวัดที่มีตัวเลขบอกเกียร์ ทำให้เราไม่ต้องมาเตะหาเกียร์ 5 สมัยเหมือนขี่ KSR อีกต่อไป เพราะ มันได้แสดง ตำแหน่งเกียร์ 4 ซึ่งเป็นเกียร์สูงสุดของรถคันนี้แล้ว
สำหรับตัวเลข Top Speed ซึ่งทาง Kawasaki เคลมที่ 99 กม./ชม. ผู้เขียนสามารถทำได้ 104 กม./ชม. ซึ่งเราอยากผู้ที่สนใจ Z125 นี้ โฟกัสสมรรถนะในเรื่องของอัตราเร่งอันจี๊ดจ๊าด เหมาะแก่การขี่ในเมืองเสียมากกว่าความเร็วปลายกับรถ Minibike ที่สวมล้อขอบ 12” เช่นนี้ เพราะหากคุณอยากเค้นตัวเลข Top Speed ที่สูงกว่านี้ คงต้องไปไล่สเตอร์ และทางเดินไอเสียกันเพิ่ม
*สำหรับความเร็วระดับ 100 กม./ชม. จะใช้รอบเครื่องอยู่ราว 9,000rpm
ระบบกันสะเทือน โครงรถ Z125 ใช้เฟรมแบ๊คโบนจากเหล็กกล้าไฮเทนไซส์ โช้คหน้าแบบ UpSideDown ขนาดแกน 30 มม. สีทองน้ำตาลไหม้โดนใจ, โช้คหลังเดี่ยวออฟเซ็ตแนวนอนพร้อมปรับ Preload ได้ 4 ระดับในตัว
ให้การขับขี่เมื่อขี่คนเดียวเป็นได้อย่างสนุกสนาน หนึบแน่นพอตัว นอกจากนี้ยังสามารถปรับขันตามต้องการเองได้ด้วยประแจคอม้า ซึ่งหากขี่ใช้งานคนเดียวทั่วๆ ไปต้องถือว่ามันเพียงพอ ซึ่งจะแตกต่างจากคู่แข่ง หรือ โฉม KSR ที่โช้คอัพด้านหลังช่างดูย้วย นิ่มเกินไป ซึ่งต้องขอบคุณองศาในแนวนอนเช่นนี้ด้วย ที่ช่วยให้ประสิทธิภาพของช่วงล่างนี้ มันดูโดดเด่นกว่าคู่แข่ง และ KSR อย่างชัดเจน (โช้คเดิมๆ)
ขณะที่ตัวเนื้อยาง IRC Wing ที่ หลายคนชอบไปเปลี่ยนใส่ใน KSR หรือ MSX ได้ติดตั้งมาให้จากโรงงาน ช่วยให้การยึดเกาะดีกว่ายาง IRC ติดรถใน KSR และ Vee Rubber ติดรถ MSX อย่างสัมผัสได้ ถือเป็นอีกจุดที่น่าประทับใจ
ระบบห้ามล้อ Z125 ติดตั้งดิสก์เบรกหน้าเดี่ยวขนาดจาน 200 มม. คาลิปเปอร์ ลูกสูบเดี่ยว จาก Nissin และดิสก์เบรกเดี่ยวขนาดจาน 184 มม. คาลิปเปอร์ ลูกสูบเดี่ยว
Z125 ให้ฟีลลิ่งในการเบรกที่ดูแน่นมีน้ำหนัก แม้จะใช้ปั๊มเบรกเพียง 1 ลูกสูบ แต่จุดสังเกตุที่เราพบ การชะลอความเร็วด้วยเบรกหน้าจะต้องกดก้านเบรกลงลึกไปหน่อย ในขณะที่เบรกหลังดูจะ Sensitive ไปนิด เมื่อ เบรกหลังหนักๆ อาจมีการล๊อค สไลด์เอาได้ง่าย
สรุป Kawasaki Z125 ใหม่ ในโฉม ออโต้คลัทช์นี้ ถือเป็นรถ Minibike ที่มีการดีไซน์โดดเด่น โดยการนำแรงบรรดาลใจจากรุ่นพี่ใหญ่ อย่าง ER-6n, Z800, Z1000 พร้อมออปชั่นที่น่าสนใจ ขณะที่สมรรถนะในการขับขี่ก็ถือว่าทำได้ดี โดยเฉพาะระบบกันสะเทือนที่ คุณไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติม ก็ขี่สนุกให้ความมั่นใจได้
ด้วยราคาเปิดตัวราว 7.5 หมื่น ที่หลายคนมองว่ามันแพง ผู้ที่สนใจควรมาลองสัมผัส กับ Kawasaki Z125 ด้วยตนเองอีกครั้ง เพราะการที่ผู้เขียนได้สัมผัสเจ้า Minibike Z125 คันนี้ แล้วต้องบอกเลยว่า มันทำให้อยากกลับมาเล่น Minibike อีกครั้งหนึ่ง!
- มาตรวัดดิจิตอลที่มาพร้อมบอกตำแหน่งเกียร์
- อกล่าง, พักเท้าแบบ Z300, ไฟท้ายที่หยิบมาจากพี่ใหญ่ Z800
- โช้คอัพหลังวางนอน องศาการวางแบบรถใหญ่ ให้ฟีลลิ่งการขับขี่ที่สนุกสนาน
- ดีไซน์รูกุญแจเปิดเบาะ น่าจะอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานสะดวกกว่านี้
- คาลิปเปอร์เบรกหน้า 2 ลูกสูบ
- ขนาดหน้ายางกว้างกว่านี้ และน่าจะมีการดีไซน์ล้อลวดลายใหม่
ขอขอบคุณ Kawasaki Motoaholic สำหรับ รีวิว Kawasaki Z125 ที่เอื้อเฟื้อรถ Kawasaki Z125 สี เทา Metallic Graphite Gray ราคา 74,990 บาท
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
อ่านข่าว Kawasaki เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านรีวิวเพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ
รีวิว Kawasaki Z125
จุดเด่น
มาตรวัดดิจิตอลที่มาพร้อมบอกตำแหน่งเกียร์
อกล่าง, พักเท้าแบบ Z300, ไฟท้ายที่หยิบมาจากพี่ใหญ่ Z800
โช้คอัพหลังวางนอน องศาการวางแบบรถใหญ่ ให้ฟีลลิ่งการขับขี่ที่สนุกสนาน