MotoGP ถือเป็นรายการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ระดับท็อปของโลก เพราะเป็นที่สุดทั้งในด้านต้นทุน ด้านพละกำลัง และด้านเทคโนโลยีที่ช่วยให้รถจากรายการนี้สามารถทำเวลาต่อรอบได้เหนือกว่ารถมอเตอร์ไซค์ประเภทอื่น ซึ่งด้วยตัวเลขพละกำลังต่อน้ำหนักตัวที่สูงมาก บวกกับหน้าตัดของตัวรถที่มีขนาดเล็ก ทำให้ความเร็วสูงสุดของเวทีนี้สูงกว่า Formula 1 เสียอีก แล้วระบบเบรกของพวกเขาจะต้องดีขนาดไหน ถึงจะสามารถหยุดเร็วที่เร็วขนาดนี้ได้
เครื่องยนต์ของรถแข่ง MotoGP นั้นมีความจุอยู่ที่ไม่เกิน 1000 ซีซี โดยรถในปัจจุบันก็สามารถสร้างพละกำลังได้สูงสุดกว่า 270 แรงม้า และความเร็วสูงสุดกว่า 360 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับสนามแข่ง ซึ่งระบบเบกของรถแข่งจะต้องทำหน้าที่หยุดรถที่มีน้ำหนักขั้นต่ำ 157 กิโลกรัม บวกกับน้ำหนักของนักแข่งประมาณ 60-80 กิโลกรัม ให้อยู่หมัดโดยไม่มีความผิดพลาด
ผู้ผลิตระบบเบรกชั้นนำอย่าง Brembo จึงต้องพัฒนาดิสก์เบรกที่เหมาะสมกับการใช้งานในรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกัน เพื่อให้เหล่าทีมแข่งสามารถเลือกดิสก์เบรกที่เหมาะสมกับสถานะการณ์ เพราะการเลือกดิสก์เบรกที่ใหญ่ที่สุด ไม่ได้หมายความว่าจะดีที่สุดเสมอไป
ซึ่งวันนี้เราจะขอพูดถึงแค่ดิสก์เบรกหน้าแบบคาร์บอน-เซรามิก ที่ใช้ในการแข่งขันเรซแห้งตามปกติเป็นหลัก เนื่องจากดิสก์หน้าแบบเหล็กจะถูกใช้ในเรซแบบเปียกเท่านั้น โดยดิสก์เบรกแบบคาร์บอน-เซรามิกที่ใช้กัน จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกับ 6 แบบ คือ
– ขนาดจาน 320 มิลลิเมตร แบบปกติ
– ขนาดจาน 320 มิลลิเมตร แบบ Highmass
– ขนาดจาน 340 มิลลิเมตร แบบปกติ
– ขนาดจาน 340 มิลลิเมตร แบบ Highmass
– ขนาดจาน 340 มิลลิเมตร แบบ Extreme Cooling
– ขนาดจาน 355 มิลลิเมตร แบบ Extreme Cooling
โดยดิสก์เบรกที่มีขนาด 320 มิลลิเมตร จะถูกใช้กับสนามที่เบรกไม่หนัก ขยับขึ้นมาที่ดิสก์ขนาด 340 มิลลิเมตร จะถูกใช้กับสนามส่วนใหญ่ที่ต้องใช้เบรกปานกลาง และไปสุดที่ดิสก์เบรกขนาด 355 มิลลิเมตร ที่จะมีให้เลือกใช้ในบางสนามที่ต้องใช้เบรกหนัก และจะบังคับใช้กับสนาม Motegi และดิสก์เบรกทุกขนาดจะมีความหนาอยู่ที่ 8 มิลลิเมตร เท่ากันหมด
ทางด้านความแตกต่างของดิสก์เบรกแบบปกติ จะเป็นดิสก์เบรกที่มีเนื้อของจานเบรกน้อยที่สุด มีข้อดีคือน้ำหนักเบาที่สุดเมื่อเทียบกับดิสก์เบรกขนาดเดียวกัน ทำให้เป็นภาระของรถและนักแข่งน้อยกว่า เรียกได้ว่าใช้แล้วคล่อยตัวที่สุด
ดิสก์เบรกแบบ Highmass จะเป็นดิสก์แบบที่มีการเพิ่มเนื้อของจานเบรกเข้ามา ทำให้ดิสก์เบรกร้อนช้าลง ช่วยรับการเบรกที่หนักหน่วงได้ต่อเนื่อง แลกกับการเย็นช้าลงด้วยเช่นกัน ซึ่งถึงแม้จุดนี้จะดูเหมือนข้อเสีย แต่มันก็ช่วยให้เบรกยังสามารถรักษาความร้อนไว้ได้นาน เนื่องจากดิสก์เบรกคาร์บอน-เซรามิกมีอุณหภูมิการใช้งานที่เหมาะสมที่ค่อนข้างสูง ทำให้การรักษาความร้อนไว้ในจานก็นับเป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน
สุดท้ายคือดิสก์เบรกแบบ Extreme Cooling ที่จะมีการเพิ่มครีบระบายความร้อนเข้ามา โดยมันจะถูกนำมาใช้งานกับสนามแข่งที่ต้องใช้เบรกหนักมากอย่าง Motegi เป็นหลัก แต่ก็สามารถเลือกใช้ในสนามแข่งอื่นได้หากสไตล์ของรถและนักแข่งเหมาะสม ซึ่งข้อเสียของดิสก์เบรกแบบนี้คือมันทั้ง ใหญ่ หนัก ร้อนช้า แถมยังระบายความร้อนได้เร็ว ทำให้ไม่คล่องตัว และอาจทำให้เบรกไม่อยู่ในสนามที่มีการใช้เบรกน้อย
ที่มา motorsport
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าวสาร MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่