รถมอเตอร์ไซค์บิ๊กสกู๊ตเตอร์จากค่ายเขียว Kawasaki เป็นรถที่เราพูดถึงกันบ่อยมากในช่วงหลัง และเราเชื่อว่าแฟนคลับค่ายเขียวก็คงรอให้รถรุ่นนี้เกิดขึ้นจริง เพื่อเป็นอีกทางเลือกนอกจากบิ๊กสกู๊ตเตอร์ของค่ายร่วมชาติรายอื่น และในที่สุดเราก็มีข้อมูลใหม่ เป็นภาพสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการของรถคันดังกล่าว แต่เราก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับทุกคนด้วย เมื่อบิ้กสกู๊ตเตอร์ที่โผล่มาในภาพสิทธิบัตร กลับไม่ใช่รถในแบบที่พวกเราคาดหวัง
เพราะภาพสิทธิบัตรของบิ๊กสกู๊ตเตอร์คันดังกล่าว นั้นไม่ใช่รถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนตามปกติ แต่เป็นรถที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนในการจุดระเบิดเพื่อขับเคลื่อนแทน ซึ่งคนที่ติดตามข่าววงการมอเตอร์ไซค์มาสักพักก็น่าจะทราบกันดี ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นทั้ง Kawasaki และ Yamaha ต่างก็ลงทุนในธุรกิจพลังงานไฮโดรเจน จนพวกเขาต่างก็ผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่ใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้ ซึ่งการเผาไหม้แบบนี้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ แถมยังให้ความรู้สึกในการใช้งานที่ไม่ต่างจากการใช้เครื่องยนต์น้ำมัน
แต่ปัญหาของการใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงคือเรื่อง “พื้นที่” เนื่องจากก๊าซไฮโดรเจนนั้นมีความหนาแน่นของพลังงานค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับน้ำมัน แปลว่าเราต้องบรรจุเชื้อเพลิงไปด้วยมากขึ้น หากต้องเดินทางในระยะทางที่เท่ากัน
อีกปัญหาคือ “วิธีการเก็บ” ที่เราไม่สามารถใส่ก๊าซไฮโดรเจนลงในถังแบบปกติ เนื่องจากวิธีที่ทำให้เราสามารถเก็บเชื้อเพลิงปริมาณมากลงไปในพื้นที่จำกัดได้ จำเป็นต้องใช้ถังที่ทนแรงดันสูง และสิทธิบัตรที่ว่านี้ก็เป็นการพูดถึงวิธีติดตั้งถังก๊าซไฮโดรเจนแรงดันสูง ลงไปในรถมอเตอร์ไซค์หลากสไตล์ ซึ่งรวมถึงรถสกู๊ตเตอร์ด้วย
จากภาพจะเห็นได้ว่ารถสกู๊ตเตอร์จยังคงใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ที่ทำการติดตั้งแบบวางนอนลงไปตามแบบรถสกู๊ตเตอร์ปกติ เพื่อลดศูนย์ถ่วงของตัวรถ ในขณะที่ถังเชื้อเพลิงแรงดันสูงจะมีอยู่ 2 ถัง ติดตั้งไว้ในตำแหน่งข้างแผง ด้านหน้าขาของผู้ขับขี่ นอกจากนี้ยังมีวิธีการติดตั้งอีกแบบที่ดูมีเหตุผลกว่า นั่นคือการติดตั้งไว้ตรงกลางตัวรถ ระหว่างที่พักเท้าของผู้ขี่ ไม่ต่างจากบิ๊กสกู๊ตเตอร์ทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีการจดสิทธิบัตรรถแนวสปอร์ต ที่มีการวางเครื่องยนต์สันดาปแบบนอนเหมือนรถสกู๊ตเตอร์ ซึ่งเป็นวิธีการวางเครื่องยนต์ที่แปลกพอสมควรกับรถแนวนี้ แต่พวกเขาก็ทำเพื่อให้มีพื้นที่ติดตั้งถังเชื้อเพลิงจำนวน 2 ถัง ไว้เหนือเครื่องยนต์ และเป็นตำแหน่งเดียวกับที่ติดตั้งถังน้ำมันตามปกติ
ภาพสิทธิบัตรสุดท้ายจะพูดถึงรถมอเตอร์ไซค์ 3 ล้อ คล้ายกับรถอย่าง Can-Am Spyder แต่ในกรณีนี้พวกเขาเลือกติดตั้งถังเชื้อเพลิงไว้ระหว่างล้อหน้าทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้ศูนย์ถ่วงของตัวรถสูงเกินไป
ถ้าเรามองไปที่รถต้นแบบพลังงานไฮโดรเจนคันแรกจาก Kawasaki ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของ Ninja H2 SX ก็จะเห็นได้ว่ามันจำเป็นต้องติดตั้งกระเป๋าสัมภาระที่ด้านข้าง เพื่อเป็นพื้นที่เก็บถังเชื้อเพลิงแรงดันสูง แสดงให้เห็นว่าการใช้รถเครื่องยนต์สันดาปตามปกติ มาเป็นพื้นฐานให้กับรถไฮโดรเจนนั้นทำให้ไม่สามารถใช้งานพื้นได้อย่างคุ้มค่า แต่ภาพสิทธิบัตรเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นรถขายจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของอนาคตที่เราต้องดูกันต่อไป
ที่มา cycleworld
อ่านข่าวสาร Kawasaki เพิ่มเติมได้ที่นี่