ท่อดัง! เกินเท่าไรถึงโดนจับ? เบากว่า 95dB ก็โดนจับได้อยู่ดี???

0

ชาวสองล้อหลายคน น่าจะเคยมีความคิดอย่างเปลี่ยนท่อไอเสียของรถมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนโทนเสียงและความดังกระหึ่มของรถ หรือบางคนก็อาจจะเปลี่ยนท่อมาแล้วเรียบร้อย เสียงดังเรียบร้อย แต่ยังไม่แน่ใจว่าการทำแบบนั้น มันเสี่ยงที่จะโดนตำรวจรวบหรือไม่ วันนี้เราจะพาทุกคนมาดูรายละเอียดข้อกฎหมายกันว่าทำแบบไหนถึงจะรอด ทำแบบไหนถึงจะโดนรวบ โดยอ้างอิงมาจากประกาศของกรมขนส่งทางบกไปเลย จะได้ไม่ต้องเถียงกันว่า “เค้าที่ไหนก็ไม่รู้ บอกมา”

2019-Italjet-dragster-eicma2018-07

ก่อนอื่นเราก็ต้องอธิบายกันก่อนว่าสิ่งที่ทำให้รถของเราผิดกฏหมาย ไม่ใช่การเปลี่ยนท่อไอเสียเป็นท่อแต่ง แต่เป็นเรื่องระดับความดังของเสียงต่างหาก ที่จะส่งเราไปคุยกับตำรวจ ซึ่งข้อมูลที่เราจะใช้อ้างอิงคือ “ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดมาตรฐานระดับเสียงและวิธีการวัดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์” ที่บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565

Screenshot 2024 09 25 191310

โดยเราขอเริ่มที่เรื่องพื้นฐาน อย่างวิธีการวัดเสียงท่อรถที่ถูกต้องกันก่อน เพื่อให้ทุกคนทราบวิธีการตรวจสอบที่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างเช่นตัวรถมอเตอร์ไซค์ที่จะทำการตรวจวัดเสียง จะต้องจอดอยู่บนพื้น ปูน หรือ ยางมะตอย ตัวรถจอดห่างจากขอบทางเท้าอย่างน้อย 1 เมตร และไม่มีสิ่งกีดขวางรอบตัวรถในระยะ 3 เมตร เพื่อควบคุมตัวแปรเรื่องเสียงสะท้อน จะได้อ่านค่าได้อย่างถูกต้อง

Screenshot 2024 09 25 191320

ตำแหน่งการติดตั้งไมโครโฟนจะต้องอยู่ในระนาบเดียวกับท่อไอเสีย ห่างปลายจากท่อไอเสีย 50 เซนติเมตร และเฉียงออกไปด้านข้าง 45 องศา ตัวรถต้องอยู่ในเกียร์ว่าง ทางด้านของรอบเครื่องยนต์ที่จะทำการวัดนั้นจะแตกต่างออกไปในรถแต่ละรุ่น

Screenshot 2024 09 25 191330

ถ้ารถของเราสร้างพละกำลังสูงสุดที่ไม่เกิน 5,000 รอบต่อนาที ให้ทำการวัดเสียงที่ความเร็วรอบ 3 ใน 4 ของรอบพละกำลังสูงสุด แต่ถ้ารถของเราสร้างพละกำลังสูงสุดด้วยรอบมากกว่า 5,000 รอบต่อนาที ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ารถของผู้อ่านส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มนี้ ให้ทำการวัดเสียงที่ความเร็วรอบ 1 ใน 2 ของรอบพละกำลังสูงสุดนั้นแทน

Screenshot 2024 09 25 195824

คราวนี้ก็มาถึงจุดตัดสินคุณค่าความป่วนเมืองของเรา ว่าเกินที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และอย่างที่เราเกริ่นไปข้างต้นว่า 95 dB นั้นไม่ใช่เส้นตายที่แท้จริงอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะเพดานความดังของท่อไอเสียที่กำหนดไว้ว่าห้ามเกิน 95 bB นั้นมีไว้ใช้กับรถที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 แต่สำหรับรถใหม่ที่จดทะเบียนหลังวันที่ดังกล่าว เพดานความดังที่ว่าจะลดลงมาเหลือแค่ 90 dB

แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะเพดานของรถบางรุ่นก็อาจจะต่ำลงมาได้มากกว่านั้นอีก เนื่องจากรถมอเตอร์ไซค์หลายรุ่นในปัจจุบันจะมี “ป้ายรับรองการทดสอบระดับเสียง” ติดตั้งอยู่ในส่วนท้ายของรถ ซึ่งอาจจะเป็นที่สวิงอาร์ม การ์ดบังโซ่ ใต้เบาะนั่ง หรือชุดซับเฟรมก็ได้

db plate 001

โดยป้ายที่ว่า ก็จะทำการบอกรอบเครื่องยนต์ที่จะใช้ในการวัดระดับของเสียงไว้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างป้ายของ Honda PCX160 ที่มีการระบุไว้เลยว่าตัวรถจะมีความดังของเสียงอยู่ที่ 85 dB ที่รอบเครื่องยนต์ 4,375 รอบต่อนาที แต่กฎหมายก็มีการเปิดช่องให้เสียงท่อของรถเรา สามารถดังกว่าที่ระบุในป้ายได้ไม่เกิน 5 dB แปลว่า Honda PCX160 ต้องมีความดังของเสียงท่อไม่เกิน 90 dB ถึงแม้ว่าระจะจดทะเบียนมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567 ก็ตาม

db plate 002

หรืออีกตัวอย่างนึงคือป้ายกรณีของ Italjet Dragster 300 ที่มีการระบุไว้ว่ารถรุ่นนี้ท่อดัง 90 dB ที่รอบเครื่องยนต์ 4,000 รอบต่อนาที แปลว่าพอถึงเวลาวัดจริง ความดังของเสียงจะต้องไม่เกิน 95 dB ถึงจะไม่โดนจับ

ถ้าจะให้สรุปแบบเข้าใจง่ายคือรถคันไหนที่มี “ป้ายรับรองการทดสอบระดับเสียง” ก็ให้ยึดระดับเสียงตามป้ายนั้น เกินมาได้ไม่มากไปกว่า 5 dB แต่ถ้ารถคันไหนไม่มีป้ายดังกล่าว ก็ต้องไปดูที่วันจดทะเบียนรถ ว่ามีขึ้นก่อนหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 จะได้รู้ว่าเพดานความดังของเสียงที่รถของเราจะต้องใช้นั้นจะอยู่ที่เท่าไรกันแน่ ถ้าใครที่ต้องการข้อมูลมากกว่านี้แบบละเอียด เราก็ได้แปะอ้างอิงเอาไว้แล้ว

ที่มา envimtp

อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!