ในวงการรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องยนต์ซึ่งเป็นหัวใจของตัวรถที่สร้างพละกำลัง และเป็นสิ่งบ่งบอกเอกลักษณ์และตัวตนของรถคันนั้น น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากที่สุด หากเราต้องไล่สเปคของรถสักคัน แต่อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือระบบส่งกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ส่งพละกำลังดังกล่าวลงไปสู่พื้น แต่จะคำถามนึงที่เราได้ยินกันอยู่ตลอดไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน นั่นคือตกลงแล้ว โซ่ หรือ สายพาน อะไรดีกว่ากัน?

เราก็ขอเริ่มการที่ระบบขับเคลื่อนที่เราน่าจะเห็นกันบ่อยที่สุด และแพร่หลายในรถมอเตอร์ไซค์หลายประเภทมากที่สุด นั่นคือระบบขับเคลื่อนด้วย “โซ่” ซึ่งจะทำงานคู่กับเฟืองหรือสเตอร์ขับเคลื่อน ข้อดีของระบบที่ว่านี้คือต้นทุนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับระบบส่งกำลังแบบอื่น มีน้ำหนักที่เบา ยืดหยุ่น บิดตัวได้มาก รับแรงกระชากได้ดี ใช้ได้ตั้งแต่รถบ้าน รถสปอร์ต ยันรถเอนดูโร่

แถมยังเป็นระบบส่งกำลังที่กินพละกำลังของเครื่องยนต์น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับสายพาน หรือเพลาขับที่เราจะไม่ได้มาพูดถึงในครั้งนี้ หมายความว่าพละกำลังที่สร้างได้จากเครื่องยนต์ จะถูกส่งลงไปสู่พื้นเพื่อขับเคลื่อนตัวรถโดยที่มีการสูญเสียน้อยมาก แปลว่ามันเป็นระบบขับเคลื่อนที่เหมาะจะใช้งานกับมอเตอร์ไซค์สมรรถนะสูงมากที่สุด

ส่วนข้อเสียของ “โซ่” คือมันเป็นระบบขับเคลื่อนที่มีเสียงดังกว่าระบบอื่น แต่ก็ไม่ได้ดังจนน่ารำคาญอะไร นอกจากนี้มันยังเป็นระบบที่ต้องได้รับการดูแลรักษาตลอดอายุการใช้งานด้วยการลงน้ำมันหล่อลื่น ถึงอย่างนั้นอายุการใช้งานของมันก็ยังสั้นกว่าระบบอื่นอยู่ดี อาจจะต้องเปลี่ยนทุกประมาณ 10,000 กิโลเมตร เนื่องจากธรรมชาติของมันที่เป็นชิ้นส่วนโลหะ ที่เสียดสีและบดขบกับเฟืองในสภาพแวดล้อมแบบเปิดโล่ง ไร้การป้องกัน การสึกหรอจึงเกิดขึ้นกับตัวโซ่และเฟืองพร้อมกัน

ถัดมาคือระบบขับเคลื่อนด้วย “สายพาน” ซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุยาง แต่เสริมความแข็งแรงด้วยเส้นใยโลหะหรือเคฟล่า ที่ทำการขับเคลื่อนพูลเลย์ เราจะเห็นมันถูกใช้อยู่ในรถมอเตอร์ไซค์สกู๊ตเตอร์คลาสเล็ก และจะข้ามไปอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์แนวครุยเซอร์รุ่นใหญ่เลย

มีข้อดีคือเป็นระบบส่งกำลังที่เงียบและนุ่มนวนมากที่สุด เป็นผลมาจากธรรมชาติของวัสดุที่ใช้ แถมยังแทบไม่ต้องบำรุงรักษาระหว่างใช้งานเลย ถึงอย่างนั้นอายุการใช้งานของมันก็ยาวนานเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใช้อาจจะสามารถใช้งานสานพานชุดเดิมได้นานถึง 100,000 กิโลเมตร ในรถบางรุ่น แต่ในรถบ้านอาจจะต้องเปลี่ยนทุก 20,000 กิโลเมตร แต่ก็ยังถือว่านานอยู่ดีเมื่อเทียบกับโซ่

ข้อเสียของระบบขับเคลื่อนด้วย “สายพาน” ก็มีอยู่เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการสูญเสียพละกำลังขับเคลื่อนก่อนไปถึงพื้นที่มากกว่าโซ่ แถมยังรับแรงกระชากแบบกระทันหันได้ไม่ดีเท่ากับโซ่ หมายความว่ามันไม่ใช่ระบบที่เหมาะสมกับการใช้งานแบบสปอร์ต แถมยังทำให้มันไม่เหมาะกับการใช้งานแบบเอนดูโร่ที่สวิงอาร์มต้องสะบัดอย่างรุ่นแรง

นอกจากนี้ถึงแม้วัสดุของสายพานจะทำจากยาง แต่รัศมีการบิดงอของมันกลับมีจำกัดมากกว่าโซ่ ทำให้อุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกันอย่างพูลเลย์ขับต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่มีขนาดใหญ่ เพื่อให้สายพานมีพื้นผิวสัมผัสมากพอที่จะทำงานตามที่ควรเป็น ส่งผลให้ขนาดและการกินพื้นที่ติดตั้งระบบนั้นใหญ่ตามไปด้วย การเซอร์วิสใหญ่หรือการเปลี่ยนชิ้นส่วนก็ยุ่งยากมากกว่า แถมมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

ถึงจุดนี้พอทุกคนทราบถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละระบบแล้ว ก็คงจะทราบด้วยว่าเราไม่สามารถสรุปได้แบบชัดเจนว่าระบบแบบไหนดีกว่ากัน เนื่องจากเป้าหมายในการใช้งานของรถแต่ละแบบ รวมถึงผู้ใช้แต่ละกลุ่มนั้นมีความต่างกัน ถึงแม้ว่าโซ่จะถูกใช้งานในรถหลากหลายสไตล์มากกว่า แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าประเภทของรถที่แพร่หลายที่สุดอย่างสกู๊ตเตอร์ กลับเลือกที่จะใช้สานพานขับเคลื่อน เป็นผลจากต้องการที่ต่างกันนั่นเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าสกู๊ตเตอร์บางรุ่นก็ยังเลือกที่จะใช้โซ่ได้เหมือนกัน
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่