ถ้าเราย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายปีก่อน รถมอเตอร์ไซค์ที่น่าจะเริ่มทำให้คนรู้สึกว่ามันเป็น “บิ๊กไบค์” น่าจะมีขนาดเครื่องยนต์เริ่มต้นที่ประมาณ 250 ซีซี และก็เป็นแบบนั้นอยู่นานมาก ก่อนที่มันจะขยายเป็น 300 ซีซี และใหญ่ขึ้นอีกเป็น 400 ซีซี ในเวลาต่อมา แต่รู้ตัวอีกที รถคลาสเริ่มยุคใหม่กลับยืนพื้นความจุที่ประมาณ 450 ซีซี กันแล้วหลายรุ่น แต่ทำไมถึงเป็นแบบนั้นไปได้?

เพราะถ้าเราดูที่รถมอเตอร์ไซค์ตัวเริ่มในยุคปัจจุบันจากหลายค่าย ไม่ว่าจะเป็น Honda NX500, Kawasaki Ninja 500, Royal Enfield Guerrilla 450, Aprilia RS457, CFMoto 450MT หรือแม้แต่รถที่กำลังจะมาเสริมความดุของตลาดอย่าง BMW F450GS ต่างก็ใช้เครื่องยนต์ที่มีปริมาตรกระบอกสูบประมาณ 450 ซีซี กันทั้งนั้น ซึ่งใหญ่ขึ้นจากรถตัวเริ่มเมื่อหลายปีก่อนกันหมด

โดยเหตุผลที่ทำให้ค่ายรถหลายราย ต่างขยับความจุก็เกิดขึ้นได้จากหลายเรื่อง แต่ส่วนสำคัญน่าจะเกิดจากการขยายตัวของตลาดรถมอเตอร์ไซค์ในคลาสเริ่มต้น ที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดมากจนค่ายรถหลายรายต่างต้องการลงมาเล่นด้วย แต่จะลงเล่นด้วยเครื่องยนต์ขนาด 250 ซีซี แบบเมื่อก่อนก็คงจะแพ้คู่แข่งตั้งแต่ต้น

การขยายความจุเครื่องยนต์จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างพละกำลังให้เหนือกว่าคู่แข่ง แถมรถที่มีเครื่องยนต์ใหญ่ขึ้น ยังทำให้ค่ายรถเพิ่มค่าตัว เพิ่มกำไรต่อคันให้มากกว่าเดิมได้อีกด้วย โดยที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีหรือวิศวกรรมที่เหนือชั้น จนส่งผลให้ต้นทุนบานปลาย

เครื่องยนต์ที่ใหญ่ขึ้นนอกจากจะเพิ่มพละกำลังได้แล้ว มันยังช่วยลดรอบเครื่องให้ต่ำลง ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงแรงม้าและแรงบิดได้ง่ายขึ้น ซึ่งนั่นจะช่วยให้เครื่องยนต์ลูกดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับรถได้หลายประเภทมากขึ้น ส่งผลให้แตกไลน์รุ่นย่อยได้มากขึ้น เป็นการลดต้นทุนได้อีก นอกจากนี้การลดรอบเครื่องยนต์ยังช่วยให้ผ่านมาตรฐานไอเสียที่เข้มงวดในปัจจุบันได้

แต่การจะอัพไซส์เครื่องยนต์ก็ต้องมีขอบเขต เพราะถ้าเครื่องใหญ่เกินไป หนักเกินไป แรงเกินไป ก็จะส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น เข้าถึงลูกค้าหน้าใหม่ได้น้อยลง และที่สำคัญคือมันจะไม่ผ่านข้อกำหนดใบขับขี่แบบ A2 ของทางยุโรป ที่จำกัดพละกำลังของเครื่องยนต์สำหรับผู้ขับขี่หน้าใหม่ไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 35 Kw หรือประมาณ 47 Hp

แปลว่าค่ายรถไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำรถคลาสเริ่มให้แรงไปกว่า 47 Hp แต่ขณะเดียวกันก็จะทำต่ำกว่านั้นมากไม่ได้ เพราะค่ายรถรายอื่นก็หวังจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากกฎหมายดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทำให้เราได้เห็นรถตัวเริ่มที่มีพละกำลังประมาณ 40-47 Hp อยู่เต็มตลาด (ยกเว้นรถรุ่นเดียวกันที่จำหน่ายในตลาดอื่น ซึ่งไม่มีข้อกำหนดด้านพละกำลัง)

ซึ่งถ้าเราไปดูเครื่องยนต์สายถนนทั่วไป ที่สามารถเอาไปปรับใช้งานได้กับรถหลายประเภท และให้พละกำลังสูงสุดได้ประมาณ 47 Hp ก็จะพบว่ามันมีความจุอยู่ที่ประมาณ 450 ซีซี กันทั้งสิ้น เพราะถ้าเครื่องยนต์มีขนาดเล็กกว่านี้ก็อาจจะแรงไม่พอ หรือต้องปั่นรอบสูงจนกลายเป็นรถสปอร์ต แต่จะใหญ่กว่านี้ก็ทำให้แรงเพิ่มไม่ได้นั่นเอง

แต่ทั้งหมดที่ว่ามาก็มีข้อยกเว้นอยู่นิดหน่อย นั่นก็คือรถมอเตอร์ไซค์ในบางตลาดอย่าง ญี่ปุ่น ที่ข้อกำหนดเรื่องใบขับขี่จะอ้างอิงจากความจุเครื่องยนต์โดยตรงที่ 400 ซีซี ทำให้ขนาดเครื่องยนต์ที่จำหน่ายในบ้านของพวกเขาจะไม่มีทางใหญ่มากกว่านี้ นอกจากนี้ก็มีตลาดอื่นอย่าง อินโดนีเซีย ที่จะเก็บภาษีของรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่กว่า 250 ซีซี แบบก้าวกระโดด ทำให้ผู้ผลิตไม่ยอมขยายเครื่องตามกัน
อ่านข่าวสารมอเตอร์ไซค์ล่าสุดที่นี่