หากจะพูดถึงยางติดรถที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ สิ่งที่เรามักจะพูดถึงหรือถามบ่อยๆก่อนจะเลือกซื้อยางมาใช้ซักคู่นึงนั้นก็คือ “ความหนึบ” และ “ความทนทาน” ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นเป็นอะไรที่ตรงข้ามหรือแปรผกผันกันเนื่องจาก ยิ่งยางมีความหนึบมากเท่าไหร่ เนื้อยางก็ยิ่งอ่อนมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อเนื้อยางนิ่มก็หมายความว่ามันมีอัตราการสึกหรอที่สูงขึ้นนั่นเอง
แล้วการใช้งานแบบไหนบ้างที่ต้องการยางที่หนึบขนาดนั้น หรือการใช้งานที่โหดขนาดไหนบ้าง ถึงจะเหมาะกับยางที่ถึกสุดๆ ดังนั้นเราจึงขอแบ่งชนิดของยางออกเป็น 5 ชนิดหลักๆด้วยกันเพื่อไม่ให้เป็นการสับสนจนเกินไป ได้แก่…
– ยางสลิค
หากจะพูดถึงความหนึบชนิดตีนตุ๊กแกเรียกพี่ล่ะก็ ยางสลิคคือคำตอบ เพราะนี่ถือเป็นยางที่ให้ความหนึบที่สุดแล้วในบรรดายางชนิดอื่น ทั้งในเรื่องของเนื้อยางที่อ่อนนุ่มและด้วยความที่ว่ามันไม่มีดอกยางแม้แต่นิดเดียว ทำให้มันไม่เสียพื้นที่ผิวสัมผัสของหน้ายางกับพื้นถนนไปแม้แต่น้อย แถมขอบยางยังสูงจากพื้นมากๆจนเราสามารถเอียงรถคู่ใจได้จนถึงขีดจำกัด เราจึงเห็นเจ้ายางนี่มากับรถสนามมากที่สุดไปโดยปริยายเนื่องจากเหตุผลทั้งหมดที่เรากล่าวมา
อย่างไรก็ตามสำหรับเรื่องของความทนทานนั้นเป็นเรื่องที่แทบไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะมันสามารถใช้ได้แค่เพียงราวๆ 300 กิโลเมตร หรือถ้าเก่งๆก็อาจจะ 400 กิโลเมตรนิดๆเท่านั้น และถ้าหากเพื่อนๆต้องการเอามาใช้บนถนนดำหรือชีวิตประจำวันล่ะก็ ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงดีกว่าครับ เพราะถึงแม้ว่ามันจะหนึบมากก็ตาม แต่ถ้าเจอถนนที่มีน้ำแม้แต่นิดเดียวล่ะก็ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว เพราะมันไม่มีดอกยางไว้คอยรีดน้ำหรือสิ่งที่เคลือบผิวถนนอยู่นั่นเอง
นอกจากนี้ยางสลิคยังมีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิสภาพแวดล้อมอย่างมาก ดังนั้นก่อนใช้งานผู้ขับขี่จะต้องทำการวอร์มยางกับพื้นผิวสนามซักรอบสองรอบก่อนที่จะอัดหนักๆซะก่อนเพื่อปรับสภาพเนื้อยางให้อ่อนนุ่มและพร้อมใช้งาน
– ยาง DOT
ยางประเภทนี้ถ้าหากลองเอานิ้วจิ้มๆไปที่เนื้อยางดีๆล่ะก็จะพบว่ามันมีความนุ่มในระดับเดียวกันกับยางสลิคเลยทีเดียว แม้แต่รูปร่างความสูงของแก้มยางยังมีขนาดที่พอๆกัน ดังนั้นในเรื่องของความทนทาน หรือประสิทธิภาพคร่าวๆนั้นเราจึงไม่ขอพูดถึงเพราะมันแทบจะไม่แตกต่างกับยางสลิคแม้แต่น้อย
แต่ในส่วนของหน้ายางนั้น จะมีการแกะดอกเพิ่มอีกนิดหน่อยเพื่อรองรับกับพื้นแทรคเปียกนั่นเอง (ที่จริงใช้คำว่า “แฉะ” น่าจะเข้าใจถูกกว่า) ส่วนการใช้งานบนท้องถนนนั้น เราก็ยังจะยืนยันตามเดิมว่า ถ้าเป็นไปได้ให้เลี่ยงไว้ดีกว่า เพราะถึงแม้ว่ามันจะมีดอกยางสำหรับรีดน้ำ แต่มันก็ไม่พอสำหรับการเจอแอ่งที่มีน้ำขังอยู่ดี
– ยางสำหรับรถสปอร์ตทัวร์ริ่ง
สำหรับยางประเภทนี้ เรียกได้ว่าน่าจะเหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันที่สุดก็ว่าได้ เนื่องจากว่ามันมีเนื้อยางที่ไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป สามารถรองรับการใช้งานได้ถึงหลัก 10,000 – 20,000 กิโลเมตร เนื่องจากอัตราการสึกหรอต่ำ มีดอกยางคิดเป็น 30-40% ของหน้ายาง ทำให้ผู้ขับขี่ไม่แทบไม่ต้องระวังหรือพะว้าพะวงกับการลุยถนนเปียกแต่อย่างใด (แต่ยังไงก็ระวังไว้ดีกว่าครับเพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้)
และใช่ว่าในเมื่อเนื้อยางแข็งขึ้นแล้วจะเสียความหนึบไปเลย ในยางสปอร์ตทัวร์ริ่งราคาระดับเส้นละ 3,000 บาทขึ้นไป มักจะมีเนื้อยางแบบ 2-3 คอมปาวน์ขึ้นไป กล่าวคือบริเวณตรงกลางของยางที่เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ในการใช้งานจะมีเนื้อยางแข็งเพื่อลดการสึกหรอ ส่วนบริเวณขอบรอบนอกจะมีเนื้อที่อ่อนกว่าเพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้ที่เสี้ยนอยากเทโค้งเล่นๆไปกับรถคู่ใจนั่นเอง (ย้ำว่า “ขับเล่นๆ” ไม่ได้จะเอาเป็นเอาตายเหมือนในสนามนะครับ)
– ยางสำหรับรถครุยเซอร์
ในส่วนของยางประเภทครุยเซอร์นั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าออกแบบมาเพื่อใช้งานกับรถประเภทไหน ดังนั้นเพื่อให้รองรับกับน้ำหนักรถประเภทครุยเซอร์ หรือทัวร์ริ่งไบค์ขนาดยักษ์ที่มีน้ำหนักระดับ 250 กิโลกรัมขึ้นล่ะก็ การออกแบบเนื้อยางและโครงสร้างนั้นจะต้องแข็งแรงพอสมควร เพื่อให้มันสามารถรองรับกับแรงกดที่เกิดขึ้นได้
ส่วนความหนึบนั้นก็จัดว่าอยู่แค่ในระดับที่พอรับได้เท่านั้น ซึ่งเอาจริงๆแล้วมันก็ค่อนข้างสมเหตุสมผลกับความเร็วในการขับขี่ของผู้ใช้รถแนวนี้ที่ออกไปในทางกินลมชมวิวซะมากกว่าอยู่แล้ว
– ยาง Hypersport
หน้าตาภายนอกของยางชนิดนี้อาจจะดูคล้ายกับยาง DOT ไปซักหน่อย แต่ความพิเศษของมันก็คือ มันถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับรถมอเตอร์ไซค์ระดับสูงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น Yamaha YZF-R1M, Honda CBR1000RR SP, Suzuki GSX-R1000R, หรือแม้กระทั่งยักษ์เขียว Kawasaki H2
ดังนั้นยางกลุ่ม Hypersport จึงใช้เนื้อยางที่มีคุณสมบัติหนึบและทนไปพร้อมๆกัน เพื่อรองรับกับสมรรถนะระดับเรือธงของรถแต่ละรุ่นที่เราเอ่ยมาให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้(บ้าง) ซึ่งอย่างที่เราได้เอ่ยไปก่อนหน้านี้แล้วว่าทั้งสองอย่างนั้นมันไปด้วยกันได้ยาก ถ้าหากอยากให้มันไปด้วยกันได้ล่ะ เราก็ต้องเพิ่มเม็ดเงินที่สูงพอสมควรเพื่อครอบครองและใช้งานมันนั่นเอง
นอกจากนี้เรายังมียางอีกประเภทที่เรายังไม่ได้พูดถึง นั่นก็คือ ยางหนาม และกึ่งหนาม ซึ่งสองอย่างหลังนี้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานทางฝุ่นโดยเฉพาะ ถ้าเป็นโคลนเละๆหน่อยก็ใช้ยางหนาม เพื่อจิกและตะกายพื้นออกไป แต่ถ้าแค่พื้นดินแดงหรือทางไม่เละมากอาจจะได้แค่กึ่งๆเท่านั้น เพื่อความนุ่มนวลในการใช้งาน ส่วนเนื้อยางนั้นแน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นความแข็งสุดๆเพื่อรองรับแรงกระแทกและป้องกันเศษหินแหลมๆบนผิวทางตำเอานั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก MC Garage
ขอบคุณภาพจาก Bridgestone
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่