เคยสงสัยกันมั้ยครับว่าทำไมเกียร์ DCTs หรือเกียร์คลัทช์คู่ที่ทาง Honda เคลมไว้ว่ามันทำให้อัตราเร่งของตัวรถนั้นมีความต่อเนื่องเหลือเกินเมื่อเทียบกับเกียร์แบบเฟืองขบปกติที่ใช้ในรถทั่วไป แถมยังเป็นเทคโนโลยีที่น่าจะต่อยอดมาใช้ในรถโปรดักชั่นมากกว่าเกียร์แบบ Seamless Box ซะอีก ถึงไม่ได้รับอนุญาติให้ติดตั้งหรือใช้ในตัวแข่ง MotoGP แม้แต่คันเดียว ?
สาเหตุแรกเลยที่ทาง FIM ต้องประกาศแบนด์เกียร์คลัทช์คู่สำหรับการแข่งขัน MotoGP นั่นก็เพราะว่า FIA (สหพันธยานยนต์นานาชาติ) ประกาศแบนระบบเกียร์แบบนี้ (รวมถึงเกียร์แบบ CVT ที่ใช้ในรถออโตเมติกสมัยใหม่ด้วย) ในรายการ Formula 1 หรือรถแข่งสูตรหนึ่ง ที่มีสถานะเหมือนกับการแข่งขัน MotoGP ในโลกยานยนต์ 4 ล้อ (เอกสารออกมาได้ไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้วล่ะครับ) เนื่องจากทาง FIA เห็นว่ามันช่วยเหลือผู้ขับขี่มากเกินไป จากการที่มันแทบไม่มีช่องว่างระหว่างเวลาในการต่อเกียร์เหลือเลย แถมการควบคุมยังขึ้นอยู่กับกล่องควบคุมแทบทั้งหมด
ดังนั้นถ้าหากว่า FIM อนุมัติให้ตัวแข่ง MotoGP สามารถใช้เกียร์คลัทช์คู่หรือ CVT ได้จริง ตัวนักบิดก็จะไม่ต้องมาคอยใช้เท้าในการงัดเกียร์อีกต่อไป เพราะตัวสั่งการจะย้ายไปอยู่ที่แฮนด์จับโช้กแทน หรืออาจจะไม่ต้องสั่งการอะไรเลยด้วยซ้ำ ถ้าเป็นเกียร์ CVT ที่ระบบจะแปรผันอัตราทดเองไปเรื่อยๆตามแต่กล่องจะสั่งการซึ่งมันสะดวกเกินไปในสายตาของสหพันธ์ฯ
และเมื่อการควบคุมไปขึ้นอยู่กับกล่อง นั่นจึงหมายความว่าทางทีมแข่งจะต้องเสียเงินไปกับการวิจัยตัวกล่องดังกล่าวให้ฉลาดที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับทีมงบน้อยคงไม่มีเงินทุนหนาพอที่จะสร้างได้แน่นอน นอกจากนี้ตัวเลขของเม็ดเงินที่ใช้ในการสร้างและพัฒนาระบบเกียร์คลัทช์คู่ (ขณะนั้น) ยังสูงกว่าระบบเกียร์ธรรมดาที่ใช้อยู่มากโข ดังนั้นนี่จึงเป็นนโยบายที่สร้างมาเพื่อลดช่องว่างระหว่างทีมงบน้อยและทีมเงินหนานั่นเอง ซึ่งนี่คือสาเหตุที่สอง
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่านโยบายดังกล่าวจะไม่ถูกทั้งหมดเลยซะทีเดียว เพราะระบบเกียร์แบบใหม่อย่าง Seamless Box ที่ Honda (รายเดียวกับที่คิดค้นเกียร์คลัทช์คู่ในมอเตอร์ไซค์นี่แหล่ะครับ) เปิดตัวออกมาเมื่อ 4-5 ปีก่อนนั้นกลับใช้งบในการสร้างและวิจัยสูงกว่าเกียร์ DCT อยู่หลายขุม ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับทีมงบน้อยนั้นกว่าจะสร้างกันได้ทันก็ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรถึงจะมีเกียร์แบบนี้ให้ใช้ในรถของตัวเอง (อย่างเช่น Yamaha ที่พึ่งมีให้ใช้ในอีก 2 ปีหลังจากคู่แข่งชิงทำสำเร็จไปก่อน)
แต่ก็อย่างว่าแหล่ะครับ ด้วยความที่ตัวเกียร์แบบ Seamless Box ยังต้องใช้ตัวผู้ขับขี่ในการตัดสินใจ ใช้เท้าเป็นตัวสั่งการขึ้นลงของระดับเกียร์อยู่ แถมช่องว่างในการขึ้นลงเกียร์แต่ละระดับก็ยังมีอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะแค่ 0.01 วินาทีต่อครั้งก็ตาม แต่นั่นก็สามารถสร้างความแตกต่างของเวลาต่อรอบให้กับนักบิดได้พอสมควรเลยทีเดียวถ้าเกิดเค้าตัดสินใจพลาดในแต่ละโค้ง ทำให้ทาง FIM ไม่ได้ห้ามใช้ระบบเกียร์แบบนี้แต่อย่างใดนั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก Motorcyclist
ขอบคุณข้อมูลจาก Motorcycle
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ