พูดถึงเรื่องยากๆไปก็เยอะ คราวนี้เราขอกลับมาพูดถึงเทคนิคง่ายๆที่ไม่ว่าใครก็ทำได้กันบ้าง กับการปรับตั้งก้านคลัทช์ที่เราใช้งานมันอยู่ทุกวี่ทุกวัน แต่แทบไม่มีใครสนใจเลยว่าจะทำยังไงให้มันใช้งานได้เต็มที่และถูกต้องที่สุด
แต่ก่อนที่เราจะทำการปรับตั้งคลัทช์นั้น เราจะต้องมาเข้าใจกันก่อนว่าทำไมเราถึงต้องทำ ?
อย่างที่ทราบกันดีว่า คลัทช์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตัดต่อกำลังระหว่างเครื่องยนต์กับเฟืองเกียร์ ซึ่งในขณะที่มันกำลังถูกใช้งานอยู่นั้นมันก็ต้องมีการสึกหรอไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะจังหวะที่เรากำหรือคลายคลัทช์ไม่สุด ก็ยิ่งทำให้ตัวผ้าคลัทช์เสียดสีกันไปมามากยิ่งขึ้น
และเมื่อผ่านระยะเวลาไปได้ซักพักใหญ่ๆ ผ้าคลัทช์ก็จะบางลงไปเรื่อยๆ จนไม่สามารถกลับมาจับติดกันได้เต็มที่เหมือนเคย ดังนั้นถ้าหากเพื่อนๆอยากให้ผ้าคลัทช์กลับมาจับกันเต็มแผ่นเหมือนเดิมล่ะก็ จะต้องรู้วิธีปรับสายคลัทช์เพื่อปรับตั้งไม่ให้มันรั้งแผ่นผ้าคลัทช์ไว้ด้วยระยะที่พอดีขณะกำก้านคลัทช์ และปล่อยให้ผ้าคลัทช์กลับไปจับกันด้วยระยะที่ควรเป็นในจังหวะปล่อยก้านคลัทช์
ขั้นตอนก็ง่ายๆเลยครับ เพียงแค่เพื่อนๆคลายน็อตล็อคตัวใหญ่ที่อยู่ด้านซ้ายออกก่อนโดยอาจจะใช้คีมหนีบ หรือประแจตามเหมาะสมจับ
หลังจากนั้นจึงหมุนปรับน็อตตัวขวา เพื่อปรับระยะคลัทช์ โดยขณะที่ปรับเพื่อนๆจะต้องคอยเช็คระยะฟรี (ระยะที่ก้านคลัชท์สามารถขยับเข้าออกได้อิสระ)
โดยระยะฟรีที่ว่านั้นถ้าเป็รไปได้ควรเซ็ทตามค่าที่คู่มือระบุไว้ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 10-20 มิลลิเมตร แล้วแต่ที่โรงงานจะแจ้งไว้ หลังจากนั้นจึงหมุนน็อตล็อคให้กลับมาแน่นเหมือนเดิมโดยที่ต้องไม่ทำให้น็อตปรับเคลื่อน
และถ้าหากว่าเพื่อนคนไหนลองปรับหมุนจนสุดแล้วก็ยังไม่ได้ระยะตามที่ระบุไว้ในคู่มือซักที ให้ลองก้มไปดูที่แครงก์เครื่องฝั่งคลัทช์ (ซึ่งฝั่งไหนก็แล้วแต่การออกแบบเครื่องยนต์ของโรงงานด้วยนะครับ) ก็จะเห็นว่ามีตัวปรับตั้งสายคลัทช์อีกชุดนึ่งซึ่งวีธีการปรับก็คล้ายๆกันกับตรงก้านคลัทช์ นั่นก็คือคลายน็อตล็อคก่อน แล้วค่อยหมุนน็อตปรับจนกว่าจะได้ระยะที่เหมาะสม แล้วทำการหมุนน็อตล็อคให้แน่นเหมือนเดิม
ที่นี้เชื่อว่าเพื่อนๆหลายๆคนจะต้องมีนิสัยหรือความชอบเกี่ยวกับระยะฟรีคลัชท์ที่แตกต่างกันแน่นอน ทั้งตั้งคลัทช์ตื้น (กำก้านคลัทช์นิดเดียว ผ้าคลัชท์ก็จากสุด) หรือตั้งคลัทช์ลึก (ต้องกำก้านคลัทช์จนเกือบจะติดแฮนด์ ผ้าคลัทช์ถึงจะจากสุด) ดังนั้นเราจึงขอบอกข้อดีข้อเสียของการปรับระยะคลัทช์ทั้งสองแบบให้ได้ทราบแบบสั้นๆกันครับ
คลัทช์ตื้น
– ข้อดี คลัทช์จากไว จับไว ทำให้เข้าเกียร์ได้รวดเร็ว และต่อเนื่อง
– ข้อเสีย จากการที่คลัทช์จับไวเกินไปทำให้การออกตัวแต่ละครั้ง ถ้าไม่ละเอียดพอจริงๆ อาจจะทำให้เครื่องกระตุกหรือดับได้ และในบางครั้งถ้าหากตั้งตื้นเกินไปก็จะอาจจะทำให้คลัทช์ไม่สามารถจับกันได้เต็มที่หรือเกิดอาการเลียคลัชท์ตามมา
คลัทช์ลึก
– ข้อดี ก้านคลัชท์อยู่ใกล้ฝ่ามือ ทำให้นิ้วไม่ต้องกางมาก ส่งผลให้ไล่ระยะคลัทช์ได้สะดวก ออกตัวได้นิ่มนวล
– ข้อเสีย หากต้องการขึ้นลงเกียร์ด้วยความรวดเร็ว อาจจะไม่เหมาะนักเพราะกว่าคลัทช์จะจากกันสุดต้องใช้เวลาพอสมควร และถ้าหากตั้งไว้ลึกเกินไปจนกำก้านคลัทช์ติดแฮนด์แล้ว แต่ผ้าคลัทช์ก็ยังจากไม่สุด แล้วฝืนงัดเกียร์ไปทั้งอย่างนั้น เฟืองเกียร์อาจจะเสียหายได้ง่ายๆ
ดังนั้นในการปรับตั้งแต่ละครั้ง เพื่อนๆควรอ่านระยะฟรีที่เหมาะสมตามที่ระบุในคู่มือ แล้วจึงปรับให้อยู่ในช่วงที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อรักษาอายุการใช้งานรถคู่ใจให้อยู่กับเราไปนานๆจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ
ขอขอบคุณ GPX Thailand ที่สนับสุนตัวรถ GPX Demon GR 150 ให้มาเป็นนายแบบหล่อๆของบทความ Tips Trick ในครั้งนี้ครับ
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ