ปีกหรือวิงเล็ทก็พูดไปแล้ว จานเบรกก็นำเสนอไปแล้ว คราวนี้เราจะมาพูดถึงยางที่ต้องรับภาระอย่างหนักหน่วงในการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลกอย่าง MotoGP กันบ้าง โดยคลิปที่เพื่อนๆกำลังเห็นอยู่นี้ถูกอัพโดยเพจหลักของการแข่งขันเอง เพื่ออธิบายโครงสร้างอย่างง่ายให้เพื่อนได้เข้าใจ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
สำหรับโครงสร้างยางที่ใช้ในการแข่งขัน MotoGP นั้นจะมีส่วนประกอบหลักๆคล้ายกับยางที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป นั่นก็คือ แก้มยาง โครงเหล็กที่ใช้ขดกันไปมาเพื่อเสริงความแข็งแรง และเนื้อยางที่ต้องสัมผัสกับพื้นถนนตลอดเวลา
ซึ่งส่วนประกอบทั้งหมดนี้จะต้องคอยรับแรงกดมากถึง 2500 นิวตันหรือ 250 กิโลกรัมด้วยกันขณะเบรก ไปพร้อมกับการที่แรงดันในตัวยางเพิ่มขึ้นอีก 2 บาร์หรือ 29 ปอนด์ต่อนิ้วและมีอุณหภูมิหรือความร้อนที่สูงขึ้นจนแตะที่ราวๆ 100 องศาเซลเซียส ในส่วนของล้อหน้า
ในขณะที่ล้อหลังจะมีภาระหนักๆก็ตอนที่ต้องสาดโค้งและสปรินท์ออกจากโค้ง โดยแรงเหวี่ยงหรือแรงหนีศูนย์ที่หน้ายางด้านหลังจะต้องรับและรั้งตัวรถอยู่ในโค้งตลอดเวลาได้นั้นก็สูงถึง 2000 นิวตัน หรือมากกว่า 200 กิโลกรัมด้วยกัน แน่นอนว่าอุณหภูมิที่เกิดขึ้นบนหน้ายางนั้นก็จะสูงขึ้นจนตัวเลขพุ่งไปที่ 120 องศาเซลเซียส ในขณะที่แรงดันภายในตัวยางก็จะขยับเพิ่มไปอีก 1.8 บาร์ หรือราวๆ 26 ปอนด์ต่อนิ้ว
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นอาจจะไม่สูงมากนักถ้าเทียบกับรถแข่งล้อเปิดสูตรหนึ่งหรือ Formula-1 แต่อย่าลืมนะครับว่าภาระทั้งหมดที่เรากล่าวถึงนั้น จะเกิดขึ้นบนผิวสัมผัสของหน้ายางกับพื้นถนนที่กว้างเทียบเท่าแค่เพียงเครดิตการ์ดหรือบัตรประชาชนที่เราพกติดตัวในกระเป๋าสตางค์แค่ 2 ใบเท่านั้น
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ