แทร็กเปียกต้องเซ็ทรถต่างจากแทร็กแห้งยังไง มาดูวิธี Set ตัวแข่ง MotoGP เมื่อฝนตกกันครับ

0

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแข่งขันบนสนามเปียกนั้น ถือเป็นอะไรที่สร้างปัญหาให้กับตัวนักแข่งพอสมควร เนื่องจากการมีน้ำบนผิวแทร็คนั้นจะทำให้ยางลื่นมากๆเนื่องจากมีฟิล์มน้ำกั้นระหว่างหน้ายางกับผิวแทร็คอยู่จนเป็นเหตุให้พวกเค้าต้องล้มลงไปนอนกับพื้นสนาม ดังนั้นทีมช่างจึงจำเป็นจะต้องหาวิธีการเซ็ทอัพใหม่ที่เหมาะสมที่สุดให้กับนักแข่งเพื่อความเหมาะสมกับกริปที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับตอนแทร็คแห้ง

wet-race-setup-explain-by-motogp-02
และในคราวนี้ทาง MotoGP เองก็เลือกที่จะนำเสนอคลิปกราฟฟิกอธิบายเกี่ยวกับวิธีการเซ็ทติ้งตัวรถให้รองรับกับแทร็คเปียกเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันช่วงหลังๆที่มักจัดแข่งกันบนสนามเปียกอยู่บ่อยครั้งยกตัวเช่นสนามเซปังที่ผ่านมา ซึ่งเราก็จะขอนำคลิปดังกล่าวมาอธิบายให้เพื่อนเข้าใจง่ายๆในแบบไทยๆกันอีกทีครับ

wet-race-setup-explain-by-motogp-03
อย่างที่เพื่อนๆหลายคนทราบว่าโดยปกติแล้วประเภทยางที่มักใช้ในการแข่งขันนั้นจะเป็นยางผิวเรียบ หรือที่เรียกกันว่ายางสลิค ซึ่งเจ้ายางชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะที่สูงมากๆหากใช้กับแทร็คแห้งเนื่องจากมันมีพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างหน้ายางกับผิวแทร็คมากกว่ายางใช้งานทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันถ้าหากว่ามันต้องเจอกับแอ่งน้ำขังบนผิวแทร็คขึ้นมา เจ้ายางชนิดนี้ก็จะเกิดอาการเหินน้ำทันที เนื่องจากว่ามันไม่มีดอกยางที่ใช้ระบายให้น้ำบนหน้ายางให้แหวกออกไปได้ ดังนั้นนี่จึงเป็นหน้าที่ของยางเปียก ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานกับแทร็คเปียกโดยเฉพาะ เนื่องจากว่ามันมีลายดอกยางสำหรับรีดน้ำเพิ่มขึ้นมาจากยางสลิคแบบปกติ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องของความแข็งเนื้อยางนั้น เจ้ายางเปียกมันก็ถูกออกแบบให้มีเนื้อยางนุ่มกว่าปกติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะที่เสียจากการลดพื้นที่ผิวสัมผัสของหน้ายาง

wet-race-setup-explain-by-motogp-04
ในส่วนของตัวสปริงระบบกันสะเทือนหน้าหลังตัวรถนั้น ทางทีมช่างก็ได้ทำการปรับเปลี่ยนให้เป็นแบบที่อ่อนลงกว่าปกติเพื่อเพิ่มโมเมนตัม(แรงเฉื่อย)ทั้งขณะเบรกและเร่งให้กับยาง จนเป็นผลให้มันมีน้ำหนักที่กดลงไปบนหน้ายางมากขึ้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คืออุณหภูมิและแรงเสียดทานของหน้ายางที่มากขึ้นนั่นเอง

wet-race-setup-explain-by-motogp-05
ด้านระบบเบรกนั้น โดยปกติแล้วถ้าทางผู้จัดต้องดำเนินการแข่งขันบนแทร็คเปียกจริงๆ พวกเค้าจะบังคับให้ทีมแข่งใช้ได้แค่จานเบรกที่ผลิตจากวัสดุเหล็กเท่านั้น เนื่องจากว่ามันสามารถใช้งานได้ในทุกสภาวะอุณหภูมิ ซึ่งดูจะปลอดภัยกับตัวนักแข่งมากกว่าเมื่อเทียบกับจานเบรกแบบคาร์บอนที่เราเคยอธิบายไปก่อนหน้านี่้แล้วว่ามันจะต้องถูกเลี้ยงอุณหภูมิจนแตะ 200 องศาเซลเซียสเท่านั้นถึงจะทำงานได้ แต่ในปัจจุบันทางทีมแข่งก็ได้ทำการออกแบบฝาครอบจานเบรกขึ้นมาเพื่อรักษาอุณหภูมิของจานไว้ ซึ่งมันก็ดูเหมือนว่าจะทำหน้าที่ได้ดีกับการใช้งานบนแทร็คเปียก

wet-race-setup-explain-by-motogp-06
ปิดท้ายด้วยเรื่องของกราฟเครื่องยนต์ที่แต่เดิมนั้นในตัวแข่ง MotoGP ของแต่ละทีมนั้นต่างก็เซ็ทไว้ให้เครื่องยนต์ของพวกเค้าสามารถปั่นแรงม้าได้ไม่ต่ำกว่า 240 ตัวกันอยู่แล้ว แต่เนื่องจากว่าถ้าหากพวกเค้ายังใช้กราฟดังกล่าวบนแทร็คเปียกนั้น เกรงว่าตัวยางหลังจะไม่สามารถถ่ายทอดกำลังทั้งหมดลงบนพื้นได้เนื่องจากความลื่นของผิวแทร็ค ดังนั้นพวกเค้าจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปรับพละกำลังของเครื่องยนต์ให้ดีดดิ้นน้อยลงจากที่ควรจะเป็น

ชมคลิป VDO อื่นเพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่

เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ

Share.

About Author

error: Content is protected !!