ในงาน Bangkok International Motor Show 2017 ทาง Royal Enfield ประเทศไทย ได้เผยโฉมเจ้า Royal Enfield Himalayan ครั้งแรกในไทย ซึ่งก็เป็นที่สนใจสำหรับนักบิดสายทัวริ่งที่ชอบเดินทางตะลุยแบบไร้ขีดจำกัด
เมื่อวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ ทาง MotoRival เราได้มีโอกาสไปร่วมทริปทดสอบเจ้า Himalayan ครั้งแรกในไทย กับเส้นทาง ปิล็อก – ทองผาภูมิ – สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อทดสอบสมรรถนะของรถที่ถูกออกแบบมาเพื่อผจญภัย และ ทัวริ่งในพื้นที่ๆสมบุกสมบัน อย่างเส้นทางบริเวณภูเขาที่มีความท้าทาย และในวันนี้เราจะมารีวิว Royal Enfield Himalayan ให้เพื่อนๆ ได้รับชมกันครับ
รูปลักษณ์
Royal Enfield Himalayan เป็นรถมอเตอร์ไซค์สไตล์ Adventure Touring ที่มีรูปทรงแนว Classic เป็นยนตรกรรมจากประสบการณ์การขับขี่ในเทือกเขาหิมาลัยกว่า 60 ปี และนำมาออกแบบใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงเสน่ห์ความคลาสสิคเอาไว้ได้อย่างลงตัว
ทางด้านหน้ายังคงความเป็นเอกลักษณ์ในรูปทรงคลาสสิค ไฟหน้าเป็นทรงกลม ไฟเลี้ยวทรงสี่เหลี่ยมปลายมน วินชิลด์หน้าไม่สูงมากแต่จากการใช้งานถือว่าช่วยลดแรงปะทะจากลมได้เยอะเลยทีเดียว
บังโคลนหน้าดีไซน์มาเป็นแบบ 2 ชั้น กันดีด
ไฟท้ายทรงหกเหลี่ยม LED ซึ่งอยู่ติดกับบังโคลน มาพร้อมแร็คไว้ยึดของในการเดินทาง
ความจุของถังน้ำมันสามารถจุได้ 15 ลิตร ซึ่งเพียงพอต่อการเดินทางออกทริปไกลวิ่งระยะทางได้ไม่ต่ำกว่า 400 กม.
แผงมาตรวัดเป็นแบบ Semi Digital ที่แสดงผล ความเร็ว , รอบเครื่องยนต์ , เกียร์ , เกจน้ำมัน , นาฬิกา , ตัววัดอุณหภูมิ , set Trip A-B และ ที่พิเศษยังมีเข็มทิศอีกด้วย
ล้อซี่ลวดด้านหน้ามีขนาด 90/90 – 21” ล้อหลัง 120/90 – 19” มาพร้อมกับยางติดรถเป็นยางกึ่งวิบาก Pirelli MT-60 ซึ่งถือว่าตอบโจทย์กับเส้นทางที่มีทั้งทาง On Road และ Off Road ทำให้มั่นใจในการขับขี่ในทุกเส้นทางทุกสถานการณ์
Engine Guard ออกแบบมาแบบเรียบง่ายแต่ดูทนทาน
ท่อไอเสียทรงยาวยกเชิดสูงขึ้นเพื่อให้เหมาะแก่การลุย เรื่องเสียงเป็นอีกหนึ่งจุดที่ชอบมาก คือไม่ดังไปไม่เบาไปกำลังดีให้อารมณ์นุ่มๆ แม้จะในรอบสูงก็ตาม
มิติรถ
ความสูงของเบาะ 800 mm. ผู้ขี่สูง 166 cm. เขย่งประมาณครึ่งฝ่าเท้า น้ำหนักรถ Kerb weight อยู่ที่ 185 kg. ถือว่าไม่หนักเท่าไรนัก
ท่านั่งในการขับขี่ตำแหน่งแฮนด์ต่ำกว่าหน้าอกเล็กน้อยถือว่าอยู่ในระดับกำลังดี ควบคุมง่ายไม่เมือยแขน หลังเหยียดตรงตามสไตล์ทัวริ่งบวกกับเบาะหนาและนุ่มนั่งขับขี่ระยะไกลได้สบาย
ตำแหน่งวางเท้าสอดคล้องกับเข่าหนีบถังได้กระชับพอดี ตำแหน่งคนซ้อน
*สำหรับ Touring Edition จะมีปี๊ปเพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งถ้าซื้อแยกจะเสียส่วนต่างอีกประมาณ 15,xxx บาท
เครื่องยนต์
Royal Enfield Himalayan ใช้เครื่องยนต์ 1 สูบ ความจุ 411 cc. ระบายความร้อนด้วยอากาศ กำลัง 24.5 hp.@6,500 rpm. และแรงบิด 32 Nm@4,000-4,500 rpm. ส่งกำลังผ่านเกียร์ 5 Speed ทำอัตราสิ้นเปลืองได้เฉลี่ย 25-30 กม./ลิตร
ในเรื่องการระบายความร้อนมี Oil Cooler คอยช่วยระบายอีกด้วย
พูดถึงกำลังของเครื่องยนต์ ต้องเรียนตามตรงว่ามันอาจไม่จัดจ้าน จี๊ดจ๊าดแบบตระกูล Sport คลาส 300 เจ้า Himalayan คันนี้ เน้นแบบเรียบๆ มาเรื่อยๆ
จุดที่ประทับใจคือคันเร่งดูลื่น และอาการสั่นนั้นมีน้อยจนลืมไปเลยว่าเราขี่ Royal Enfield อยู่นะ อาการที่เราเคยพบใน Continental GT หรือ Classic 500 ลืมมันทิ้งไปได้เลย
เส้นทางในทริปนี้ที่เป็นทางเขาชัน รถยังพอมีทอร์คให้รีดใช้ไต่ขึ้นทางชันได้ที่เกียร์ 2
บนทางเรียบลองเปิดคันเร่งไหลยาวๆ ความเร็วไล่จากช่วงต้น-กลาง มาเริ่มออกอาการตื้อเอาช่วง 125 กม./ชม. ขึ้นไป ทริปนี้เราแอบลองไหลไปได้มากสุดที่ 133 กม./ชม. แน่นอนมันยังไปได้อีก แต่ต้องรีดเค้นและใช้ระยะทางพอสมควร รวมถึงรอบเครื่องที่สูงเกินไปก็จะพบอาการสั่นของเครื่องยนต์สไตล์ 1 สูบ ตามปกติ
ซึ่งผู้เขียนแนะนำว่า Himalayan คันนี้ น่าจะขี่เดินทางในช่วงความเร็ว 110-120 กม./ชม. กำลังสบายๆ
ระบบเบรก
ด้านหน้าจานดิสก์เดี่ยวขนาด 300 mm. ปั้มเบรก 2 ลูกสูบ
ด้านหลังจานดิสก์ขนาด 240 mm. ปั้มเบรก 1ลูกสูบ จาก Bybre การใช้งานโดยรวมก็ไม่แตกต่างจากรถ ADV Entry คันอื่นที่ใช้ เบรกจากแบรนด์นี้ ชะลอความเร็วได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ไม่หนึบดูดติดจิกมือมาก แต่ก็เพียงพอแก่การขับขี่ Touring ทั่วๆไป
ระบบกันสั่นสะเทือนและช่วงล่าง
โช้คหน้า Telescopic 41 mm. ระยะยุบตัว 200 mm.
โช้คหลังแบบเดี่ยว Monoshock ระยะยุบตัว 180 mm. มาพร้อมกับระบบ ตัวตุ้มถ่วงดุล (Counter Balance) ที่จะคอยช่วยลดการส่ายของรถเมื่อขับขี่อยู่บนทางขรุขระ
จากการทดสอบในทางออฟโรดมีอาการส่ายน้อยมากสามารถควบคุมรถได้ง่าย ช่วงล่างสามารถรับแรงกระแทกจากหินและร่องหินได้ดี บิดคันเร่งรูดได้สบาย ยิ่งในย่านรอบต่ำยิ่งรู้สึกว่ามันนุ่มนวลยิ่งขึ้น
ในทางดำซึ่งจากเส้นทางขาลงจากปิล็อกโค้งค่อนข้างเยอะและแคบถึงแม้จะเป็นยางกึ่งวิบาก (Pirelli MT-60) และช่วงล่างก็ยังทำได้ดี แต่จะมีออกอาการห้อยบางในการเข้าโค้งความเร็วสูง ด้วยความนุ่มของโช้คที่ถูกปรับมาให้ใช้ในทุกสถานการณ์
สรุปโดยรวม
Royal Enfield Himalayan เป็นรถ Adventure Touring สไตล์ Classic ที่พัฒนาให้ดีขึ้นตามยุคตามสมัยลืมอาการสั่นของรถคลาสสิคไปได้เลย ทั้งช่วงล่าง การออกแบบ Chassis ให้มีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ทำให้ควบคุมและขับขี่ง่ายในทุกสภาพถนน ไม่ว่าจะเป็น On Road หรือ Off Road ก็สามารถตะลุยไปได้โดยง่าย
จุดเด่น
– ขับขี่ง่าย ฟิลลิ่งการขับขี่นุ่มนวล ไม่ว่าจะช่วงล่าง ความสูงรถ เบาะ ท่านั่งที่ออกแบบมาไม่ฝืนจนเกินไป เหมาะสำหรับเดินทางไม่ว่าจะใกล้หรือไกลแม้จะมือใหม่ก็ตาม
– รูปร่างหน้าตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีสไตล์ไม่เหมือนใครกับมนต์เสน่ห์ความคลาสสิค และ นักเดินทาง
– ออปชั่นที่มากับรถเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นยาง หรือ ช่วงล่าง ชิวหน้า ถือว่าเดิมๆ นี้ก็พร้อมลุยแล้ว ยิ่งถ้าซื้อ Touring Edition มาพร้อมปี๊ปหลังอีกคู่นึงถือว่าครบเลย (ถูกกว่าซื้อแยกประมาณ 15,xxx บาท)
จุดด้อย
– ความเร็วปลายยังไม่มากนัก หากใช้เดินทางไกล ผู้ที่ต้องการทำความเร็วอาจไม่ตอบโจทย์
– ถ้าจะนำไปใช้แบบ Hardcore Adventure ลงโคลน ไต่ทางวิบากแบบทรหดลุยแหลกคงไม่เหมาะเท่าไร น้ำหนักอาจจะเยอะไปนิด ถ้าสรีระชาวเอเชียทั่วไป อาจไม่ได้ แต่มีเหนื่อย
สำหรับ Royal Enfield Himalayan จะมี 2 สี คือ Granite (เทาดำ) และ Snow (ขาว) ราคาเริ่มต้นที่ 169,800 บาท ในรุ่น Street Edition และ 186,300 บาท รุ่น Touring Edition
ขอขอบคุณทาง Royal Enfield Thailand สำหรับทริปทดสอบ Himalayan ในครั้งนี้
Amphol Moolthongsuk Test Rider Writer&Photo
Pon Piantanongkit Writer&Editor
อ่านข่าว Royal-Enfield เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าวรีวิว เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ