หลังจากที่เมื่อวันก่อน เราได้ทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของ 2019 Yamaha YZF-R25 ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน หรือปรับปรุงที่ส่งผลถึง YZF-R3 ในบ้านเราหรือไม่ ? โดยใช้เอกสารค่ามลพิษของ 2019 YZF-R3 ที่ทาง Yamaha USA ได้ยื่นเอาไว้กับทางกรมมลพิษมาเป็นตัวจุดประเด็นกันไปแบบพอหอมปากหอมคอ วันนี้เราจะขอพาเพื่อนๆมาวิเคราะห์กับข้อมูลที่เราได้รับมาแบบเจาะลึกขึ้นอีกนิด เผื่อในกรณีที่ว่าบางคนอาจจะยังเข้าใจผิดในข้อมูลบางอย่างซึ่งเราเชื่อว่าปล่อยไว้อย่างนั้นคงไม่ดีแน่ๆ
เริ่มจากรหัสเครื่องยนต์ที่เพื่อนๆจะสังเกตได้ว่า ของ 2019 R3 จะใช้รหัส “KYMXC.321GCA” ที่ดูต่างกับ 2018 R3 ที่ใช้รหัสว่า “JYMXC.321GCA” อยู่นิดหน่อย นั่นก็คือแค่ตัวอักษรแรกของชุดรหัส ซึ่งอาจจะทำให้ใครหลายคนตื่นเต้นกันบ้างว่ามันจะต้องมีการปรับปรุงอะไรแน่ๆ แต่อันที่จริงทางผู้ผลิตจะทำการเปลี่ยนตัวอักษรต้นของชุดรหัสเครื่องยนต์ควบคู่ไปกับรหัสโครงรถทุกปีการผลิตอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้เอาไว้ไล่ลำดับการจดทะเบียน (Model Year), เช็คไลน์การผลิต หรือเก็บข้อมูลไว้ตรวจสอบในภายหลังกันแบบปีต่อปี ไม่ได้จะสื่อถึงการเปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์แต่อย่างใดเลยสักนิด (เพราะตัวอักษรที่บ่งบอกว่าเครื่องยนต์มีการปรับเปลี่ยนจริงๆคือตัวท้ายสุดครับ ไม่ใช่ตัวหน้า ยกตัวอย่างเช่นกรณีของ 2019 ZX-6R ที่เราเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้)
ส่วนค่าไอเสียต่างๆของ 2019 R3 นั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนไปจากปี 2018 เลยแม้แต่น้อย เรียกได้ว่าเหมือนกันเป๊ะทุกค่า ทุกอัน ดังนั้นจึงแทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่เครื่องยนต์จะถูกปรับจูนระบบการจ่ายน้ำมัน, เปลี่ยนระบบควบคุมวาล์ว, ปรับปรุงระบบรับไอดี/ระบายไอเสีย โดยที่ค่ามลพิษไม่เปลี่ยนแม้แต่จุดทศนิยมเดียว
ด้านน้ำหนักตัวรถของ 2019 YZF-R3 เองก็เห็นได้ชัดเจนเลยว่ามันเท่ากันกับ 2018 YZF-R3 เป๊ะ ทุกหลัก ซึ่งทำให้เราค่อนข้างแปลกใจมากว่า ถ้าหาก R3 โมเดลใหม่จะได้รับการปรับโฉมด้วยการเปลี่ยนชุดแฟริ่งด้านหน้า, และเปลี่ยนไปใช้ชุดโช้กอัพหน้าหัวกลับ แบบเดียวกับ R25 ที่ถูกจับภาพ Spyshot ไว้เมื่อต้นเดือนก่อนจริง ทำไมน้ำหนักตัวรถถึงได้เท่ากันแบบนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปแม้แต่นิดเดียว ราวกับว่า 2019 R3 อาจจะไม่ได้มีการปรับโฉมใดๆทั้งสิ้นและมีเพียงแค่การเปลี่ยนสีกับลายสติกเกอร์เท่านั้น
แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องประเด็นความเป็นไปได้ในลำดับต่อไป เพื่อนๆหลายคนอาจจะงงกันไปบ้างว่า ตัวเลขน้ำหนัก “EIM” ที่ระบุไว้สูงถึง 260 กิโลกรัมนั้นมันหมายถึงอะไรกันแน่ เนื่องจากไม่มีทางเลยที่รถสปอร์ตไบค์พิกัด 300cc คันนี้จะหนักได้ถึงขนาดนั้น ซึ่งจะเข้าใจแบบนั้นก็ไม่ผิดครับ เพราะหากค้นข้อมูลน้ำหนักของตัว 2018 YZF-R3 จริงๆที่ระบุไว้ในข้อมูลตามเว็บไซต์ของ Yamaha ก็ยังหนักแค่เพียง 167 กิโลกรัมเท่านั้น
งานนี้เราอยากจะขอพาเพื่อนๆแว่บไปดูที่ด้านล่างเอกสาร ที่ทาง CARB ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าตัวอักษรย่อ EIM ที่ใส่ไว้บนตารางนั้นแท้จริงแล้วก็คือ “Equivalent Inertia Mass” หรือแปลตรงตัวแบบไทยๆก็จะได้ว่า “ค่าสมมูลมวลเฉื่อย” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเป็น “น้ำหนักตัวรถสุทธิ” แบบที่ผู้ผลิตต่างๆระบุไว้ในเอกสารข้อมูลทางเทคนิคของตัวรถเหมือนตัวเลขข้างบน
โดยหากให้อธิบายคร่าวๆ “ค่า EIM นี้จำเป็นต้องเอาน้ำหนักตัวรถเดิมๆมาเข้าสูตรทางฟิสิกส์รวมเพื่อหาค่าผลลัพธ์อีกทีหนึ่ง” ซึ่งนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมตัวเลขตรงนี้ถึง “สามารถเอามาคาดคะเนน้ำหนักตัวรถได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่” (แต่เนื่องจากการหาค่าและอธิบายที่มาที่ไปตรงนี้ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นเราจึงขอละไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพื่อไม่ให้เพื่อนๆงงกันมากไปกว่าเดิม)
แน่นอนว่าสำหรับตัวหน่วยด้านล่าง EIM ที่เขียนว่า “(kg)” นั้นทาง CARB ก็ระบุไว้ชัดเจนด้านล่างเอกสารเช่นกันว่ามันหมายถึงหน่วย “กิโลกรัม” เพราะอย่างที่เรากล่าวไปในข้างต้นว่า มันคือตัวเลขที่ได้จากการนำเอาน้ำหนักตัวรถมาเข้าคำนวนในสูตรทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่หน่วยของ “Energy Imbalance Market” ที่จริงๆแล้วหมายถึง “ข้อตกลงการคุมความสมดุลในการใช้พลังงานไฟฟ้าระหว่างรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา” และไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆกับ “การวัดค่ามวลของพลังงานและคาร์บอนในตัวเครื่องยนต์” เลยซักนิด
กลับมาที่ประเด็นที่เราได้เกริ่นเอาไว้อีกครั้งนะครับ จากจุดสังเกตที่ว่ามา ทำให้มีความเป็นไปได้ 2 อย่างที่อาจจะเกิดขึ้นกับ 2019 YZF-R3 ในบ้านเรา นั่นก็คือ
1. 2019 YZF-R3 ในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะมีการเปลี่ยนหน้าตาเปลือกนอกแบบเดียวกับ 2019 YZF-R25 ที่กำลังทดสอบอยู่ในประเทศอินโดนีเซียขณะนี้จริง โดยที่เครื่องยนต์ยังคงเป็นสเปคเดียวกันกับ YZF-R3 รุ่นปัจจุบัน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่งในบ้านเราก็คงจะเปิดตัวทำขายทั้งอย่างนั้น เพราะปกติแล้วเราจะได้ใช้ Global Model เหมือนกับที่ถูกส่งไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว ไม่ได้มีสเปคพิเศษต่างจากชาวบ้านชาวช่อง เหมือนกลุ่มประเทศที่จำกัดขนาดความจุเครื่องยนต์ (เช่น ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, และเวียดนาม เป็นต้น)
2. 2019 YZF-R3 ในอเมริกาจะยังคงทำขายด้วยหน้าตาเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้นจากโฉมปัจจุบัน นอกจากชุดสีและลายสติกเกอร์ ซึ่งแน่นอนว่า Yamaha บ้านเราก็คงจะเปิดตัวทำขายทั้งอย่างนั้นเช่นกัน โดยที่ R3 หน้าใหม่ (ใส่โช้กหัวกลับ + เปลี่ยนแฟริ่ง) จะถูกเลื่อนไปเปิดตัวปลายปี 2019 และจำหน่ายในฐานะโมเดลปี 2020 หรือก็คือหลังจากที่ทางอินโดนีเซียทำตลาด YZF-R25 หน้าใหม่ไปแล้ว 1 ปีแทน เพื่อให้ทางวิศวกรได้ทำการปรับจูนเครื่องยนต์สำหรับรองรับเทคโนโลยีวาล์วแปรผัน VVA เหมือนกับ 2019 R25 ที่เรากล่าวในข้างต้นนั่นเอง
เอาล่ะครับ และนี่คือประเด็นทั้ง 2 อย่างที่เราสามารถวิเคราะห์ได้โดยอาศัยจากข้อมูลที่เราได้รับมาขณะนี้ ซึ่งหากเพื่อนๆคนไหนอยากลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเราล่ะก็ เชิญคอมเมนต์กันเข้ามาที่หน้าเพจ MotoRival ของเราได้เลยครับผม
สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่อยากลองอ่านใบ CARB ที่เราใช้อ้างอิงนี้ดู สามารถคลิกได้ที่นี่
อ่านข่าว Yamaha เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ