ระบบเกียร์ ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่จำเป็นอย่างมาในการใช้ยานพาหนะของมนุษย์เราทุกวันนี้ เพราะถ้าไม่มีมัน เราก็จะไม่สามารถส่งกำลังที่ได้จากขุมกำลังเช่น เครื่องยนต์ หรือ มอเตอร์ไฟฟ้า ให้ส่งไปสู่ล้อหน้า/หลังที่ใช้เป็นตัวขับเคลื่อนยานพาหนะของเราให้พุ่งทะยานไปข้างหน้าได้ ซึ่งในปัจจุบันระบบเกียร์ที่เราคุ้นเคยในรถมอเตอร์ไซค์แยกตามลักษณะการใช้งานหลักๆก็จะมี 2 แบบด้วยกันคือ แบบเกียร์กระปุกที่มีทั้งแบบทำงานร่วมกับคลัทช์มือ และออโตเมติกคลัทช์ (ในรถมอเตอร์ไซค์แม่บ้านจำพวก Honda Wave) และเกียร์ออโตเมติกแบบอัตราทดแปรผัน หรือที่เรียกสั้นๆว่า CVT
แต่อันที่จริงแล้ว ในปัจจุบันเรายังมีระบบคลัทช์/เกียร์อีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกนำมาพัฒนาเพื่อใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ได้แล้วพักใหญ่ๆ ซึ่งเพื่อนๆอาจจะพอได้ยินชื่อกันมาบ้างแล้วอย่าง “ระบบเกียร์ DCT” หรือ “ระบบเกียร์แบบคลัทช์คู่” ที่ในตอนนี้มีเพียง Honda เท่านั้นที่นำมาใช้อย่างจริงจังในผลิตภัณฑ์รถมอเตอร์ไซค์ของตนเอง และในที่สุดทางทีมงาน MotoRival ของเราก็ได้มีโอกาสได้ทดลองรถมอเตอร์ไซค์ของพวกเขาที่มาพร้อมกับชุดเกียร์แบบนี้อย่างจริงจังเสียที ซึ่งมันจะมีดียังไงบ้าง เรามาเข้าเรื่องกันเลยครับ
ก่อนอื่น สำหรับระบบเกียร์ DCT ที่ใช้อยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ของ Honda นั้น ไม่ใช่ระบบที่ใหม่แต่อย่างใดนะครับ เพราะอันที่จริง ระบบเกียร์/คลัทช์แบบนี้ เกิดขึ้นมานานแล้วเกือบ 80 ปี, เริ่มพัฒนานำมาใช้กับรถยนต์จริงๆไม่ต่ำกว่า 30 ปี และมีใช้ในรถยนต์ประเภทซุปเปอร์คาร์, สปอร์ตคาร์ หรือในรถยนต์นั่งบางรุ่น อย่างจริงจังมาแล้วพักใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 ปี เห็นจะได้
โดยเจ้าเกียร์ DCT ที่ว่านี้ จะมีจุดต่างจากระบบเกียร์แบบคลัทช์เดี่ยวทั่วไปตรงที่ ปกติแล้ว รถมอเตอร์ไซค์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ จะมีราวเกียร์ทั้งหมด 2 ตัว, มีชุุดคู่เกียร์ ตามจำนวนเกียร์ (มี 6 เกียร์ ก็ 6 คู่) และใช้ชุดคลัทช์ชุดเดียว ซึ่งการจะเปลี่ยนเกียร์แต่ละเกียร์นั้น เราจะต้องกำคลัทช์ เพื่อให้คลัทช์หยุดจับกัน แล้วเตะเกียร์ เพื่อให้ตัวก้ามปู ดันฟันขบภายใน ละเฟืองเกียร์คู่แรกมาเป็นว่างก่อน แล้วถึงจะขยับไปจับกับเฟืองเกียร์คู่ถัดไปเพื่อให้เกียร์นั้นทำงาน แล้วจึงปล่อยคลัทช์ให้กำลังจากเครื่องยนต์ส่งไปยังชุดเกียร์ต่อไปโซ่ เพลา ลงล้อหลัง (สามารถอ่านหลักการทำงานโดยละเอียดได้ที่นี่)
แต่ในฝั่งเกียร์ DCT ที่มีชุดคลัทช์ 2 ชุด จะแบ่งการทำงานกันร่วมกับชุดเฟืองเกียร์เลขคู่ กับชุดเฟืองเกียร์เลขคี่ที่ถูกแบ่งราวเกียร์ไว้เรียบร้อย พอถึงเวลาใช้งานจริง เมื่อคลัทช์เกียร์ชุดเลขคี่ทำงาน เริ่มจับกันแล้วส่งแรงจากเครื่องยนต์ไปล้อหลัง ฝั่งเกียร์ชุดเลขคู่ที่คลัทช์ยังไม่ทำงานก็จะเข้าเกียร์ลำดับถัดไปรอไว้เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ขี่สั่งรถให้เข้าเกียร์ต่อไป ระบบก็จะทำหน้าที่แค่สั่งให้คลัทช์ของเกียร์เลขคี่เลิกจับ แล้วไปสั่งให้คลัทช์ของเกียร์เลขคู่ก็จับสลับกันเพียงแค่นั้น โดยไม่ต้องรอย้ายฟันขบจากเกียร์คี่มาเกียร์คู่ เหมือนตอนใช้คลัทช์ชุดเดียว ดังนั้นข้อดีของคลัทช์คู่ก็คือ มันจะเสียเวลาในการตัดต่อกำลังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบระบบเกียร์แบบคลัทช์เดียว อย่างน้อยๆก็ครึ่งต่อครึ่ง และมีผลเกี่ยวเนื่องในเรื่องของการต่อกำลังที่ราบลื่นกว่านั่นเอง
และด้วยความที่ชุดเกียร์ DCT นั้นแม้จะบอกว่ามันทำงานคล้ายๆกับเกียร์ธรรมดา แต่ด้วยความที่มันเป็นระบบคลัทช์ไฟฟ้า ทำให้ส่วนใหญ่แล้วเราจึงสามารถใช้งานมันในลักษณะที่คล้ายกับรถเกียร์ออโตเมติกด้วย เนื่องจากผู้ผลิตมักเพิ่มโหมดการใช้งานแบบออโตเมติกที่จะให้ระบบเปลี่ยนเกียร์เองตามความเร็วและรอบเครื่องยนต์เข้ามาด้วยเช่นกัน
เอาล่ะครับ หลังจากที่ทำความรู้จักกับระบบเกียร์ DCT กันไปแล้วคร่าวๆ เราก็จะขอพูดถึงรถมอเตอร์ไซค์ของ Honda ที่ขายอยู่ในบ้านเราแล้วใช้ระบบเกียร์ที่ว่านี้บ้าง ซึ่งในปัจจุบันก็จะประกอบไปด้วย NC750X, X-ADV, NM4 กับ Goldwing และตัวรถที่เราได้รับโอกาสในการขี่ทดสอแบบยาวๆในแบบยาวๆในครั้งนี้ก็คือ Africa Twin (CRF1000L) กับ Africa Twin Adventure Sport (CRF1000L2) ซึ่งเราจะขอพูดถึงมันแค่เพียงในส่วนของระบการทำงานของเกียร์ DCT หลังจากที่เราได้ขี่ทดสอบเท่านั้น ไม่ขอเอ่ยถึงฟีลลิ่งตัวรถอื่นๆนะครับ
โดยสำหรับตัวรถในรุ่นที่ใช้ระบบเกียร์ DCT ที่ Honda วางจำหน่ายนั้น ส่วนใหญ่แล้ว จะมีโหมดการทำงานของระบบเกียร์ขั้นพื้นฐานมาให้ทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน เริ่มจากโหมดแรกคือโหมด “D” ซึ่งจะเป็นโหมดการขี่แบบเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติที่เป็นโหมดเริ่มต้นทุกครั้งที่เริ่มใช้งาน หลังกดปุ่มสวิทช์เกียร์ที่อยู่ตรงประกับแฮนด์ด้านขวา (ที่เห็นเป็นตัวอักษร “D-S”, “N” เรียงจากซ้าย ให้กดตรงปุ่ม “D-S” ลงไปได้เลยครับ)
พอจะออกตัวผู้ขี่ก็มีหน้าที่แค่เปิดคันเร่ง แล้วระบบจะจัดการคลอคลัทช์เอง เหมือนใช้รถมอเตอร์ไซค์แม่บ้าน เพียงแต่พอไต่ความเร็วไปเรื่อยๆ มันจะเปลี่ยนเกียร์ให้เองโดยอัตโนมัติตามอัตราการเปิดคันเร่ง, และอัตราเร่งกับความเร็วที่เราใช้ (คล้ายๆกับรถกระบะเกียร์ออโต้นั่นแหล่ะครับ) รวมถึงความลาดชันของเส้นทาง โดยในโหมด “D” นี้จะถือว่าทำงานได้อย่างมีความนิ่มนวล, ขี่ได้อย่างสบายๆสไตล์ทัวร์ริ่ง ทั้งตอนไต่เกียร์เพื่อไล่ความเร็ว และต่อไวมากที่สุด แบบน่าจะ 2,000 รอบ/นาทีปลายๆ – 3,000 รอบ/นาที เห็นจะได้ๆก็เพิ่มเกียร์แล้ว ทั้งๆที่เรดไลน์อยู่ที่ 8,000 รอบ/นาที (ไต่เกียร์ไวมาก) ส่วนตอนเชนจ์เกียร์ลงให้รับกับอัตราการชะลอของตัวรถตอนเบรก (แต่กว่าจะลงก็ช้าเช่นกัน เพราะรถต้องการความนุ่มนวลมากที่สุดในโหมดนี้)
โหมดที่สองคือโหมด “S” ที่หากผู้ขี่ต้องการใช้ ก็กดย้ำตรงปุ่ม “D” อีกรอบเท่านั้น เพื่อให้หน้าจอเปลี่ยนมาแสดงผลโหมดของระบบเกียร์ว่าเป็นโหมด “S” ซึ่งในโหมดเกียร์นี้จะเป็นยังเป็นโหมดการขี่แบบเปลี่ยนเกียร์อัตโนมัติเช่นเดียวกันกับ “D” แต่จะเปลี่ยนเกียร์ขึ้นที่รอบสูงกว่าเดิมเพื่อความดุดัน, ความมัน(ส์)ในการไล่รอบความเร็ว, และไต่ความเร็ว โดยการกดเปลี่ยนโหมดจะสามารถกดขณะรถมีความเร็วอยู่ได้เลยนะครับ แค่ต้องปิดคันเร่งนิดหน่อยเท่านั้น เพื่อให้กล่องปรับโหมด
ขณะที่จังหวะเชนจ์เกียร์ลงก็จะมีเอนจิ้นเบรกส่งมาที่ล้อหลังหนักหน่วงขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้ทดสอบรู้สึกว่าโหมดนี้มีการไล่เกียร์ค่อนข้างใกล้กับมนุษย์ทั่วๆไปใช้งานเกียร์ธรรมดามากขึ้น ซึ่งอันที่จริงในโหมดการขับขี่แบบ “S” นั้นยังสามารถปรับระดับความดุดันของการเปลี่ยนเกียร์ขึ้น/ลง และอัตราการตอบสนองของเครื่องยนต์ต่อการเปิดคันเร่งได้อีก 3 ระดับ ตามความต้องการของผู้ขี่อีก (โหมด 3 จะดุดันที่สุด)
และโหมดสุดท้ายคือโหมด Manual ที่ผู้ขี่จะต้องกดปุ่ม “A/M” ที่แยกออกมาจากปุ่ม “D-S,M” ซึ่งในโหมดนี้ก็จะทำงานตามชื่อครับ นั่นก็คือหลังจากกดปุ่มที่ว่าแล้ว บนหน้าจอสแดงผลจะไม่มีการขึ้นแถบโหมด “D” หรือ “S” และจะไม่มีเปลี่ยนเกียร์ให้ใดๆทั้งสิ้น ผู้ขี่จะต้องเปลี่ยนเกียร์เองแบบอัตโนมือ และสามารถกดขณะรถมีความเร็วอยู่ได้ด้วยเช่นกัน
โดยการกดปุ่ม “+” ด้านหน้าประกับด้วยนิ้วชี้ และ “-” ด้านหลังข้างใต้ ด้วยนิ้วโป้งที่ติดตั้งไว้ตรงประกับซ้าย เพื่อสั่งเพิ่มเกียร์ขึ้นและลดเกียร์ลงโดยโหมดนี้จะเหมาะมากๆสำหรับการใช้งานแนวบุกตะลุยผู้ขี่ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนเกียร์ขณะใช้งานมากนักถ้าไม่จำเป็น (อย่าสับสนกับปุ่มปรับแทร็คชันคอนโทรล และปุ่มไฟเลี้ยวเชียวล่ะ เพราะมันจะอยู่ใกล้ๆกัน ฮ่าๆ) หรือหากผู้ใช้รู้สึกไม่ชินกับจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ของโหมด “D” และ “S” จะเปลี่ยนมาใช้โหมดนี้เพื่อสั่งต่อเกียร์ตามความเคยชินของตนเองก็ได้เช่นกัน (อย่างเช่นตัวผู้เขียนเอง)
นอกจากนี้ ตัวปุ่ม “+” และ “-” ที่ว่า ยังสามารถกดใช้ขณะขี่รถด้วยโหมด “D” หรือ “S” ได้ด้วย โดยเฉพาอย่างยิ่งในจังหวะเร่งแซงที่อาจจะรู้สึกว่าเครื่องยนต์เร่งได้ติดมือไม่มากพอ หรือตอนเบรกรถเชนจ์เกียร์ลงไม่ทันใจ เพราะผู้ขี่อยากได้แรงเอนจิ้นเบรกมาช่วยดึงรถตอนเบรกแบบที่เคยชินตอนขี่รถเกียร์ธรรมดาก็ได้
แต่หลังจากที่ขี่ไปสักพัก ตัวรถก็จะกลับไป เพิ่ม/ลด เกียร์ให้เองแบบอัตโนมัติตามโหมดหลักที่ตั้งไว้ตามเดิม เรียกได้ว่าทำงานแทบไม่ต่างจากรถยนต์ออโต้คันหรูๆที่มีโหมด Tiptonic +/- เลยเพียงแต่มีความฉับไวในการตอบสนองมากกว่าเพราะเป็นเกียร์แบบคลัทช์คู่นั่นเอง และเอาจริงๆตอนกดปุ่ม +/- นี่รถจะเปลี่ยนเกียร์ค่อนข้างดีเลย์นะครับอาจจะประมาณเกือบๆวินาทีหลังจากกดไปแล้ว และไม่สามารถกดย้ำเร็วๆเพื่อเปลี่ยนเกียร์ที่เดียวหลายสเต็ปได้ ต้องรอให้เกียร์เปลี่ยนมาสักพักหนึ่งก่อนอีกประมาณครึ่ง-หนึ่งวินาทีถึงจะกดเปลี่ยนเกียร์ต่อได้
และเพื่อความสนุกสนานในการใช้งานเชิงบุกตะลุยไปอีกขั้น ตัวรถ Africa Twin (ทั้งรุ่น Standard และ Adventure Sport รวมถึงตัวรถรุ่น X-ADV) ที่ใช้เกียร์ DCT จะมาพร้อมกับ G-Mode ช่วยปรับอัตราการจับ/ปล่อยคลัทช์ให้มีความฉับไวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เวลาผู้ขี่นำรถไปลุยทางทุรกันดาร แล้วต้องการเกระแทกคันเร่งเพื่อกระชากล้อหลังสำหรับตะกรุยทางดิน จะสามารถทำได้อย่างดุดันติดมือมากขึ้นกว่าตอนที่ไม่ได้เปิดโหมดนี้ไว้ และแน่นอนว่าโหมดนี้ก็สามารถกดเปลี่ยนขณะรถมีความเร็วได้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ต้องละมือจากแฮนด์เพราะปุ่มนี้จะไปอยู่ใต้หน้าจอ หรือข้างๆหน้าจอซึ่งต้องเอื้อมมือไปกด (แต่ก็เข้าใจแหล่ะครับ เพราะถ้าอยู่ที่ประกับแฮนด์ก็ไม่รู้จะเอาปุ่มไปไว้ตรงไหน แค่นี้ก็แน่นจะแย่แล้ว)
ข้อดีอีกอย่างที่ผู้เขียนพบเมื่อได้ลองใช้รถที่มีเกียร์ DCT ก็คือ เราแทบไม่ต้องกังวลเรื่องการคลอคลัทช์เวลาซอกแซกช่องจราจร หรือไต่อุปสรรคด้วยความเร็วต่ำๆเลย เนื่องจากระบบเกียร์นี้จะคอยคลอคลัทช์ในช่วงความเร็วต่ำๆให้เองอัตโนมัติ หากจอดหยุดกระทันหันเราไม่ต้องกลัวเรื่องการกระตุกดับ เพราะอย่างที่เราบอกไปในข้างต้นแล้วว่ามันเป็นระบบเกียร์และระบบคลัทช์ที่สั่งการด้วยไฟฟ้า ดั้งนั้นจึงถือว่าสะดวกสบายมากๆเลยทีเดียว และรู้สึกว่าใช้งานง่ายแทบไม่ต่างจากรถมอเตอร์ไซค์แม่บ้านที่มีระบบคลัทช์แบบแรงเหวี่ยงที่หลายๆคนใช้ในชีวิตประจำวัน
ขณะที่หากขี่รถมาด้วยความเร็วสูงๆแล้วเกิดต้องเบรกกระทันหัน ก็อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้นเช่นกันว่าระบบเกียร์ DCT นี้จะทำการเชนจ์เกียร์ลงให้อัตโนมัติ ดังนั้นผู้ขี่จึงไม่ต้องมากังวลเรื่องการกำคลัทช์ เชนจ์เกียร์ลง แล้วเบิ้ลเครื่องเพื่อทำเรฟแมชชิ่ง (Rev Matching) แล้วปล่อยคลัทช์เพื่อทำให้เอนจิ้นเบรกสัมพันธ์กับความเร็วเหมือนอย่างที่เคยทำในรถเกียร์ธรรมดาแต่อย่างใด และถ้าหากจะเปิดคันเร่งต่อเพื่อกระชากตัวออกจากโค้งหรือช่องจราจรที่พึ่งมุดมา ตัวรถก็จะต่อเกียร์ให้ทันที (จะช้าจะเร็วก็ขึ้นอยู่กับโหมดเกียร์ที่ใช้อยู่) เพราะทุกอย่างเกียร์ DCT ได้จัดการให้หมดแล้วเรียบร้อย สะดวกสบายสุดๆ
สรุป การได้รับโอกาสเข้าร่วมทริปทดสอบรถมอเตอร์ไซค์เกียร์ DCT ของ Honda ในครั้งนี้ ถือว่าช่วยเปิดประสบการณ์ของผู้เขียนเกี่ยวกับระบบเกียร์แบบนี้ได้อีกเยอะเลยทีเดียว เพราะแม้อันที่จริงผู้เขียนจะเคยมีประสบการณ์กับเจ้ารถที่ใช้เกียร์ DCT นี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่รถเปิดตัวใหม่ๆ (ตอนนั้นได้ลอง NC750X กับ X-ADV) แต่ในครั้งนี้ที่เป็นทริปขี่แบบยาวๆ กับ Africa Twin ทั้งรหัส CRF1000L, CRF1000L2 เรียกได้ว่าช่วยให้เห็นความสะดวกสบายในการใช้งานของมันที่แทบไม่ต่างจากการขี่รถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติก แต่ก็ไม่ทิ้งลายความสนุก ความมัน(ส์)อย่างที่ได้ขึ้นหัวข้อไว้จริงๆ
ดังนั้นหากเพื่อนๆคนไหนสนใจอยากสัมผัส หรืออยากได้รถที่มีเกียร์ DCT ติดตั้งมาให้ ทั้ง NC750X, X-ADV, NM4, Goldwing, Africa Twin (CRF1000L) และ Africa Twin Adventure Sport (CRF1000L2) ล่ะก็ เชิญไปสัมผัสและทดสอบตัวรถของจริงที่ศูนย์ Honda Bigwing ทั่วประเทศได้เลยครับผม แล้วเพื่อนๆจะติดใจแน่นอน
อ่านข่าว Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ