Tips Trick : 5 ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นตอนออกทริปของนักเดินทางหน้าใหม่

0

การออกทริป ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และเเป็นของคู่กันอยู่แล้วกับผู้ขี่รถมอเตอร์ไซค์อย่างเราๆ ซึ่งหากเพื่อนๆคนไหนเดินทางกันมาบ่อย จนมีประสบการณ์มาแล้ว ก็อาจจะไม่ค่อยมีอะไรผิดพลาดมากนักในการเดินทาง หรือเกิดขึ้นมาแล้วรับมือได้ แต่สำหรับนักบิด หรือนักเดินทางหน้าใหม่ที่ไม่เคยออกทริปมาก่อน เรามาดูกันหน่อยดีกว่าครับ ว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องแพ็คกระเป๋า สตาร์ทรถ แล้วบิดออกไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ พวกเขามักทำอะไร หรือทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง ?

how-to-pack-your-motorcycle-01
1. พกสัมภาระมากเกินไป – เชื่อว่านักเดินทางมือใหม่ อาจจะยังไม่รู้ว่ามีสิ่งใดบ้างที่จำเป็นจริงๆ และไม่จำเป็นเลยในการเดินทาง ดังนั้นพวกเขาจึงมักพกเอาสิ่งของต่างๆติดตัวให้หลากหลายอย่างไว้ก่อน โดยมีคติว่า “เหลือดีกว่าขาด” แต่หารู้ไม่ว่า พอเราต้องเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ที่มีพื้นที่ให้บรรทุกของน้อยอยู่แล้ว มันยิ่งทำให้เรามีพื้นที่นั่ง หรือขยับตัวบนอานเบาะได้ยากขึ้นไปอีก ไม่เพียงเท่านั้นยังหนักรถเปล่าๆจนขี่รถได้ยากขึ้นอีกด้วย หรือบางคนอาจจะกลัวของหาย เลยต้องสะพายเป้ติดหลังไว้ตลอด คราวนี้ก็ยิ่งปวดหลัง ระบมขากันหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นก่อนออกทริปปรึกษาพี่ๆในทริป หรือคนที่มีประสบการณ์ก่อนก็ดีนะครับ ว่าอะไรควรพกไปบ้าง และอะไรไม่ต้องพกติดตัวติดรถไปก็ได้ (อย่างคุณผู้หญิงบางท่าน พกไดร์เป่าผมสุดที่รักไป… คำถามคือ พกไปทำไม ที่โรงแรมก็มี ฮ่าๆๆ)

RoyalEnfield_Himalayan_PilokTrip_03
2. วางแผนน้อยไป ไม่ก็มากไป – เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เวลาเราต้องทำอะไรสักอย่าง มันก็จะต้องมีแบบแผน แต่บางครั้งถ้ายึดติดกับแผนมากเกินไป จากที่จะทำสิ่งนั้นได้อย่างสนุกสนาน ดันกลายเป็นว่าเราจะหงุดหงิดไปเสียหมดโดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุบางอย่างที่ทำให้แผนคลาดเคลื่อนไปจากที่วางไว้ แน่นอนว่าการเดินทางออกทริปเองก็เช่นกัน เพราะเราไม่รู้เลยว่าเส้นทางข้างหน้าที่เรากำลังจะไปนั้น จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นบ้าง

ดังนั้นหากเกิดบางอย่างผิดพลาดขึ้นมา ก็ไม่ควรจะกดดัน หรือพยายามบีบให้ทุกอย่างกลับสู่ทางเดิมมากเกินไป แต่ควรใจเย็น และลองหาทางเลือกอื่นที่ไปถึงที่หมายได้ ในแบบที่เราและลูกทริปคนอื่นๆก็สบายใจกว่าแทน อย่างส่วนตัวผู้เขียนเอง ถ้าไปขี่รถเล่นไกลๆแล้วเกิดหลงขึ้นมา (ในบางจังหวะ GPS ไม่ทำงาน) ก็จะปล่อยหลงไปเลย แล้วถือซะว่าได้เบิกทางใหม่ที่เราไม่เคยรู้จัก (แต่ถ้าขี่นานๆแล้วยังไม่กลับเข้าทางหลัก หรือ GPS ไม่ทำงานสักทีอันนี้ก็มีเสียวๆเหมือนกันล่ะครับ ฮ่าๆ)

ในขณะเดียวกัน สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่สายชิล หากไม่วางแผนอะไรเลย แม้แต่ของที่เตรียมไปก็ยังไม่มีอะไรที่เผื่อไว้ใช้ยามจำเป็น (จากข้อแรก) หรือไม่เช็ครถเลยสักนิดว่าอยู่ในสภาพดีมั้ย อันนี้ก็ควรระวังเหมือนกันครับ เพราะเราอาจจะเสียเวลากับการเอ้อระเหยบนถนนไปพอสมควรจนกว่าจะถึงที่มายก็ล่อซะมืดค่ำ หรือเลยกำหนดนัดกับผู้ที่อยู่ปลายทางไปแล้ว หรือถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เพราะดันไม่ได้เช็ครถก่อนออกเดินทาง แล้วเราดันไม่ได้คิดแผนสำรองเอาไว้ ก็กลายเป็นว่าจะไปไหนไม่ได้อีก เพราะฉะนั้น วางแผนเผื่อไว้สักนิดก็ดีครับ เวลาเดินทางจะได้รู้สึกว่ามีความอุ่นใจ และเป้าหมายในการเดินทางให้ทำตามอยู่บ้าง

CRF250Rally-Trip-2ndDay_3
3. จดจ่อแต่กับจุดหมาย – คล้ายๆกับด้านบน แต่คราวนี้จะเจาะลึกลงไปอีกนิด เพราะโดยปกติแล้ว การเดินทางไปที่ใดสักแห่ง หรือออกทริปสักครั้ง เราก็มักจะมีแลนด์มาร์ค ไม่ก็เช็คพอยท์ให้เราได้ไปยืนถ่ายภาพกับรถเท่ๆ หรือร้านอาหารที่ต้องไปกินให้ได้กันอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นนักบิดสายวางแผน ก็จะต้องพยายามเก็บจุดเหล่านั้นให้ได้ทั้งหมด แต่บางครั้งสถานที่นั้นก็อาจจะปิดตัวชั่วคราว ไม่ก็มีคนไปเยอะจนแออัดจนถ่ายรูปไม่ได้ เข้าไม่ได้ (โดยเฉพาะเวลาไปทริปช่วงวันหยุดยาว หรือตอนสถานที่แห่งนั้นกำลังอยู่ในช่วงพีค)

เพราะฉะนั้นหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นมา ก็อาจจะอดใจกันไว้สักนิด ไว้กลับมาอีกครั้ง หรือถือซะว่ามันยังไม่ใช่เวลาของเรา ไม่งั้นก็แว้บไปร้านข้างๆก็ได้นะครับเผื่อจะอร่อย และมีมุมถ่ายรูปที่ชิคกว่า แถมไม่ซ้ำใครด้วย

2018-yamaha-finn-review-trip-05
4. ไม่ระวังเรื่องค่าใช้จ่ายในทริป – หากไม่ได้มีเงินถุุงเงินถัง หรือรวยล้นฟ้า การจำกัดเพดานค่าใช้จ่ายต่างๆในทริปถือเป็นเรื่องจำเป็น เพราะในแต่ละครั้งหรือบางครั้ง หากเราไปเที่ยวแล้วไม่จำกัดงบ ไม่แน่ว่าทริปนั้นอาจจะเสียเงินโดยไม่จำเป้นสูงจน แทบไม่เหลือไว้ทำกิจกรรมอย่างอื่นในช่วงนั้น (หรือเดือนนั้นสำหรับมนุษเงินเดือน) หรือหากเพื่อนๆไปเที่ยวด้วยงบที่มีจำกัดอยู่แล้ว แต่ดันลืมจำกัดค่าใช้จ่ายในทริป โดยใช้ไปกับค่ากิน ค่าผ่านทางจนเกือบหมด แล้วไม่เหลือเงินไว้เติมน้ำมันเพื่อขี่รถกลับ คราวนี้ล่ะครับได้งานงอกกันแน่ๆ เพราะหากไปเที่ยวในที่ธุรกันดาร หรือเกิดน้ำมันหมดระหว่างทางแล้วตรงจุดนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ขึ้นมา จะยืมเงินชาวบ้านแถวนั้นมันก็คงไม่ดีแน่นอนครับ

cfmoto-650mt-650nk-test-trip-24
5. ใส่ไรดิ้งเกียร์ผิดประเภท – จริงอยู่ว่าการใส่ชุดจัดเต็ม โดยเฉพาะเสื้อการ์ดหนังจะทำให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่ด้วยสภาพอากาศบ้านเราที่ค่อนข้างร้อน ต่อให้ขี่ขึ้นเหนือช่วงหน้าหนาว ถ้าไม่ได้ขี่ขึ้นภูเขาจริงๆก็ยังร้อนอยู่ดี ดังนั้นหากเป็นไปได้ ก็ควรจะมีเสื้อการ์ดจำพวก Air flow ติดตู้เสื้อผ้าเอาไว้หน่อยก็ดีนะครับ เพราะถ้าให้ขี่รถตอนร้อนๆแล้วใส่เสื้อการ์ดหนังตลอดทริปเนี่ย เกรงว่าจะเหงื่อออกจนหมดตัวก่อนแล้วหน้ามืดจนขี่ไม่ไหวแทน

ว่าแต่เพื่อนๆมือเก๋าคนไหน อยากจะเพิ่มอะไรอีกบ้าง เชิญคอมเมนท์กันเข้ามาได้เลยครับผม

ขอบคุณภาพจาก bookmotorcycletours

อ่าน Tips Trick เทคนิคที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่

Share.

About Author

error: Content is protected !!