ก่อนหน้านี้ทางเว็บของเราได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับ ใบขับขี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ที่มีพละกำลังสูง หรือ ใบขับขี่บิ้กไบค์ กับไปหลายรอบหลายมุมแล้ว ซึ่งเราก็สนับสนุนให้มีการบังคับใช้ข้อกฏหมายดังกล่าว เพื่อคัดกรองความสามารถของผู้ขี่ให้เหมาะสมกับรถที่เลือกใช้ แต่วันนี้เราจะขอมาพูดถึงมุมมองเกี่ยวกับปัญหาเล็กน้อยของข้อกฎหมายดังกล่าว ที่อาจทำให้ผู้ใช้จำนวนมาก พลาดโอกาสที่จะได้ใช้รถมอเตอร์ไซค์บางรุ่น ทั้งที่รถเหล่านั้นอาจไม่ใช่รถที่แรงหรืออันตรายเกินไป
เริ่มกันที่ข้อกำหนดที่หลายคนคงรู้กันอยู่แล้วว่า รถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องใช้ใบขับขี่บิ้กไบค์นั้นคือรถที่มีความจุเครื่องยนต์มากกว่า 400 ซีซี หรือมีพละกำลังมากกว่า 35 กิโลวัตต์(47 แรงม้า) ซึ่งก็ดูจะเป็นเกณฑ์ที่เห็นได้ในเหล่าประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ได้มีอะไรที่ดูเป็นปัญหาอะไร แต่ในมุมมองของเรานั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่เกณฑ์ แต่เป็นคำเชื่อม “หรือ” ในข้อกฏหมายต่างหาก
เพราะนั่นจะหมายความว่ารถมอเตอร์ไซค์ที่มีตัวเลขเกินเกณฑ์แม้แค่อย่างเดียว ก็จะทำให้ไม่สามารถใช้ใบขับขี่ปกติได้ ทั้งที่ประเทศอื่นที่เราใช้เป็นต้นแบบของกฎหมายนี้จะเลือกใช้เกณฑ์ “ความจุเครื่องยนต์” หรือ “พละกำลังสูงสุด” แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่นญี่ปุ่น ที่ตั้งเกณฑ์โดยใช้ความจุเครื่องยนต์จำกัดที่ 400 ซีซี นั่นจึงทำให้ผู้ใช้สามารถขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ได้ทุกรุ่นที่มีความจุเครื่องยนต์ไม่เกินที่กำหนด โดยที่รถคันดังกล่าวจะสามารถมีพละกำลังเท่าไรก็ได้ ซึ่งนั่นจะมีผลดีกับอุตสาหกรรมโดยรวม ที่ผู้ผลิตจะต้องพยายามพัฒนารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ภายใต้เครื่องยนต์ที่มีขนาดจำกัด
ในขณะที่ทางยุโรป จะตั้งเกณฑ์โดยใช้พละกำลังสูงสุดเป็นที่ตั้ง นั่นจึงทำให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้รถมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาดเครื่องยนต์เท่าไรก็ได้ ตราบที่พละกำลังของเครื่องยนต์นั้นไม่มากกว่า 35 กิโลวัตต์(47 แรงม้า) ซึ่งจะทำให้ค่ายรถสามารถวางจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ที่มีความจุเครื่องยนต์ที่ใหญ่ แต่จำกัดพละกำลังสูงสุดเอาไว้ไม่เกินข้อกำหนดของใบขับขี่ และเมื่อผู้ใช้ได้รับใบขับขี่ที่มีระดับสูงขึ้น ก็จะสามารถนำรถไปปรับให้พละกำลังออกมาเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องซื้อรถคันใหม่
วิธีแก้ปัญหาที่เราอยากเสนอคือ ให้รัฐเลือกใช้ข้อกำหนดแค่แบบใดแบบหนึ่งไปเลย อีกทางเลือกคือการเปลี่ยนคำว่า “หรือ” เป็น “และ” ในกฏหมายดังกล่าว เพื่อปลดล็อคตัวเลือกให้กับผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัด หรือไม่มีแผนที่จะใช้รถบิ้กไบค์ที่มีราคาและกำลังสูงสูงอยู่แล้ว สามารถเข้าถึงตัวเลือกในตลาดที่หลากหลายได้มากขึ้น ซึ่งเราจะขอยกตัวอย่างมอเตอร์ไซค์บางรุ่นที่ไม่ผ่านเกณฑ์บางข้อให้ดูกัน
ความจุเครื่องยนต์ไม่เกินข้อกำหนด แต่พละกำลังเกิน
– Kawasaki ZX-4R(ZX-25R ถูกลดพละกำลังในตลาดไทยไปก่อนแล้ว)
– Honda CB400
พละกำลังไม่เกินข้อกำหนด แต่ความจุเครื่องยนต์เกิน
– Honda CB500F
– Honda CB500X
– Honda Rebel 500
– Royal Enfield Himalayan 411
– Royal Enfield Scram 411
– Royal Enfield Interceptor 650
– Harley Davidson X440
– รวมถึงมอเตอร์ไซค์ที่ถูกจำกัดพละกำลังไว้อีกหลายรุ่น
อ่านข่าวสารมอเตอร์ไซค์ล่าสุดได้ที่นี่