WSBK หรือชื่อเต็ม FIM Superbike World Championship คือรายการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลกอีกหนึ่งรายการ ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกรองลงมาจาก MotoGP มีจุดเด่นอยู่ที่รถแข่งในรายการดังกล่าว ล้วนแต่เป็นรถถนนที่ผ่านการปรับแต่งเพื่อการแข่งขันทั้งสิ้น ซึ่งการแข่งขันของรายการนี้ก็เริ่มดุเดือดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักแข่งหน้าใหม่ที่มีความสามารถ ขึ้นมาท้าทางแชมป์เก่าได้สำเร็จ แต่เรื่องราวความเป็นมาของรายการรถตลาดนี้มีที่มาอย่างไร?
FIM Superbike World Championship หรือชื่อย่ออื่นไม่ว่าจะเป็น WSBK, SBK, WorldSBK, World Superbike ถือเป็นอีกหนึ่งรายการแข่งขันที่ถูกจัดการโดย FIM หรือ Fédération Internationale de Motocyclisme หรือ สหพันธ์จักรยานยนต์ระหว่างประเทศ นั้นกำเนิดขึ้นในปี 1988 (ก่อนหน้านี้มีรายการ Formula TT ที่จัดตั้งแต่ปี 1977-1990 แต่รายการใหม่ได้รับความนิยมมากกว่า ทำให้รายการนี้ถูกถอดออกไป) โดยทีมที่เข้าร่วมแข่งขันจะต้องทำรถแข่งขึ้นมาจากรถที่มีขายอยู่แล้วในท้องตลาด ที่ต้องมียอดขายอย่างน้อย 1000 คัน ซึ่งนั่นก็ทำให้ค่ายรถหลายเจ้าที่ต้องการลงแข่งขันเพื่อโปรโมทค่าย ได้ทำรถที่เหมาะสมกับการใช้ประเภทนี้งานออกมาขาย ทั้งที่ปกติแล้วรถสปอร์ตสายสนามมักจะไม่ได้ขายให้คนทั่วไปใช้อย่างแพร่หลายมากนัก จนกลายเป็นรถตลาดประเภทใหม่ที่เหมาะกับการใช้ในสนามในที่สุด
กติกาการแข่งขันนั้นจะต่างการ MotoGP ตรงที่มีการแข่งขันสนามละ 2 ครั้ง ในวันเสาร์และอาทิตย์( ในปี 2019 มีการเพิ่มการแข่งแบบสั้น 10 รอบสนามที่เรียกว่า Superpole เข้ามาระหว่างการแข่งหลักทั้ง 2 รอบ) ซึ่งคะแนนที่นักแข่งผู้ผลิตสามารถเก็บได้ในการแข่งแต่ละครั้ง ก็จะถูกนับมานับรวมกันเพื่อหาแชมป์ในแต่ละฤดูกาล แต่เดิมนั้นรถแข่งรายการนี้จะมีความจุเครื่องยนต์ไม่เกิน 750 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์ 4 สูบ และความจุไม่เกิน 1000 ซีซี สำหรับเครื่องยนต์ 2 สูบ ซึ่งแชมป์ในช่วงแรกนั้นก็มีแต่รถจากทีม Ducati ที่ใช้เครื่อง V-Twin 1000 ซีซี ทำให้ต่อมา Honda ก็เริ่มทำตัวแข่งแบบเดียวกันออกมาบ้าง สุดท้ายก็มีแค่ 2 ค่ายนี้ที่แข่งแชมป์โลกกันไปมาจนถึงช่วงต้นปี 2000
ต่อมาในปี 2003 ก็ได้มีการปรับกติกาใหม่ให้เครื่องยนต์ทุกประเภท สามารถมีความจุสูงสุดได้ไม่เกิน 1000 ซีซี เท่ากันหมด แต่เนื่องจากการปรับกติกาใหม่ของทาง MotoGP ที่หันไปใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ในปีเดียวกันก็ทำให้ค่ายรถหลายเจ้าถอนตัวออกจาก WSBK เพื่อไปทุ่มทุนกับเวทีใหญ่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันในช่วงปี 2000-2015 ก็ถือเป็นช่วงที่รายการนี้มีการเปลี่ยนแชมป์กันไปมาระหว่างค่ายอย่างดุเดือดมากที่สุด เพราะมีทั้ง Honda, Yamaha, Suzuki, Kawasaki, Ducati, Aprilia ที่สามารถคว้าแชมป์โลกมาครองได้
ต่อมาในปี 2008 ก็ได้มีการปรับกติกาเรื่องความจุเครื่องยนต์ใหม่อีกครั้ง โดยทาง Ducati ได้พยายามกดดันให้สามารถใช้รถแข่งที่ใช้เครื่องยนต์ 2 สูบ สามารถเพิ่มความจุเครื่องยนต์ได้เป็น 1200 ซีซี เนื่องจากความเสียเปรียบเมื่อเทียบกับรถแข่ง 4 สูบ และจะถอนตัวออกจากการแข่งขันหากไมีมีการเปลี่ยนกติกาดังกล่าว เนื่องจากงบประมาณที่ต้องใช้สำหรับการพัฒนาเครื่องยนต์ 2 สูบ ให้สามารถสู้กับรถ 4 สูบ นั้นสูงมาก (แต่ต่อมา Ducati ก็ทำเครื่องยนต์ 4 สูบ ลูกใหม่ของตัวเองออกมา)
ในปี 2010 มีการขยับข้อกำหนดเรื่องจำนวนการผลิตรถที่สามารถนำมาแข่งได้จาก 1000 คัน กลายเป็น 3000 คัน แต่ต่อมาในปี 2014 ก็ได้มีการปรับกติกาลงมาเป็นการขายให้ได้ 125 คัน ก่อนนำรถมาแข่ง ต่อมาต้องขายได้รวม 250 คัน ภายในการทำตลาดปีแรก และทำยอดขายรวมอย่างน้อย 1000 คัน ภายในปีถัดมา ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ก็เกิดจากความถดถอยของตลาดรถสปอร์ต
และในปี 2015 ก็เป็นปีที่เราได้เห็นการคว้าแชมป์ของ Jonathan Rea ร่วมกับทีม Kawasaki ซึ่งเขาได้คว้าแชมป์โลกกับค่ายรถสีเขียวอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 6 ปี เป็นทั้งนักแข่งที่ความแชมป์ประจำฤดูกาลได้มากที่สุดใน WSBK และทำให้ค่ายรถจากโกเบสามารถคว้าแชมป์ผู้ผลิตติดต่อกันได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะถูกโค่นโดย Toprak Razgatlıoğlu จากทีม Yamaha กับผลงานอันน่าทึ่งในปี 2021