เหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนก็จะเริ่มปีใหม่ 2017 กันแล้ว นั่นหมายความว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆนี้ ที่รอคอยกันก็ คือ โบนัสสิ้นปี หลายคนอาจจะเลือกที่จะนำเงินเหล่านั้นไปเที่ยวหรือซื้อของที่อยากได้ แต่สำหรับ Biker ทั้งหลายแน่นอนว่ารถมอเตอร์ไซค์คู่ใจในฝันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเราอยากได้มาไว้ครอบครอง
ดังนั้น MotoRival จึงขอเสนอบทความเกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์ที่คุ้มค่ากับเงินในงบ 2 แสนบาท มาให้เพื่อนๆได้ตัดสินใจกันครับ
ว่าคันไหนจะน่าโดน คุ้มค่าราคา มาชมกันเลย
สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ที่มีราคาในช่วงดังกล่าว และจำหน่ายในไทยตอนนี้มีอยู่หลากหลายรุ่นด้วยกัน แต่เราจะเลือกมาเพียง 8 คัน จาก 4 ค่ายที่เรารู้จักกันดี ซึ่งครบทั้งสไตล์ Sport และ Naked เหมาะที่จะใช้งานได้ทั้งการเดินทางไปทำงานในเมือง รวมถึงขี่ท่องเที่ยวออกทริป ทั้ง 8 คันจาก 4 ค่ายอย่าง Honda, Kawasaki, KTM และ Yamaha ที่มีรถทั้ง 2 สไตล์รวมถึงจัดอยู่ในงบที่เราจะนำมาพูดถึงด้วย ในระดับ 2 แสนบาท และที่สำคัญทางผู้เขียนเองได้เคยสัมผัสมาแล้ว ทั้ง 8 โมเดล จึงสามารถอธิบายกันได้แบบเจาะลึกทั้ง 8 รุ่น มีดังต่อไปนี้
Honda CBR500R ราคา 215,000 บาท และ CB500F ราคา 210,000 บาท
KTM RC390 ราคา 214,900 บาท และ Duke 390 ราคา 199,000 บาท
Yamaha YZF-R3 ราคา 185,000 บาท และ MT-03 ราคา 177,000 บาท
Kawasaki Ninja 300 ราคา 182,500 บาท และ Z300 ราคา 172,000 บาท
เริ่มกันที่รูปลักษณ์ภายนอก
ก่อนอื่นต้องขอพูดเกริ่นกันก่อนว่าในส่วนรูปลักษณ์นั้น แล้วแต่ความชอบแต่ละบุคคล ซึ่งเราจะขอพูดเพียงแค่จุดเด่นของแต่ละคันครับ
Honda 500 Series มากับไฟหน้า-ไฟท้าย LED ที่ดูทันสมัยกว่าเพื่อน ขณะที่รูปลักษณ์นั้นให้ความสปอร์ตได้ดี ทั้งบริเวณชุดแฟริ่ง และท่อไอเสียออกข้าง
ทางด้านท้ายมีช่องดักลม ในแบบรถ Superbike ตัวพัน เพื่อเพิ่ม Aerodynamic ในขณะที่ขี่ด้วยความเร็วสูง
KTM 390 Series ในโมเดล RC ออกแบบมาได้โดดเด่นในสไตล์ Supersport อย่างแท้จริง
ไฟหน้าโปรเจ็คเตอร์คู่ ไฟท้าย LED ขาทะเบียนท้ายออกแบบมาให้ถอดแผ่นป้ายทะเบียนทำท้ายโล่งได้สะดวก
กระจกมองข้างมาพร้อมไฟเลี้ยว LED ในตัว
แฮนด์จับโช้กตำแหน่งเตี้ยแบบรถ Supersport
เบาะนั่งตอนท้ายเป็นโฟมขึ้นรูปทั้งชิ้น ทำให้ผู้ซ้อนนั่งได้สบายสุด
มีอีกลูกเล่นบนมาตรวัด ก็คือ ตัวเลขบอกตำแหน่งเกียร์ และไฟ Shift Light
ในโมเดล Duke นั้นเนื่องจากโมเดลที่ขายอยู่ในไทยยังเป็นโฉมเก่า จึงอาจไม่มีลูกเล่นมากมาย แต่จุดเด่นอยู่ที่สไตล์ท่านั่งของ Duke
จะมีความโดดเด่นกว่ารถ Naked คันอื่น เพราะเป็นสไตล์ Naked Sport ผสมรถ Super Moto
Yamaha 300 Series
แม้ไฟหน้าจะเป็นไฟหลอดธรรมดา แต่ไฟท้ายเป็นแบบ LED
ขณะที่เบาะนั่งด้านท้าย Yamaha 300 เป็นเบาะแบนกว้าง และนุ่มกว่าเพื่อนๆ Sport Entry คันอื่น
อีกจุดที่ถือเป็นลูกเล่น คือ ตัวเลขบอกตำแหน่งเกียร์ และไฟ Shift Light เช่นเดียวกับ KTM
Kawasaki 300 Series
แม้จะออกมานานกว่าเพื่อนคันอื่น แต่ยังคงให้รูปลักษณ์สปอร์ตตามแบบฉบับ Ninja และ Z ได้เป็นอย่างดี
ไฟเลี้ยวแนบแฟริ่งในโฉม Ninja ให้ความสปอร์ตในแบบพี่ใหญ่ตระกูล ZX ขณะที่ Z ก็คงโฉมหน้าที่ดุดันตามแบบพี่ใหญ่ Z800 นอกจากนี้มาตรวัดจะมีลูกเล่นไฟ Eco ขึ้นบ่งบอก หากคุณขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน
ท่านั่งขี่
เริ่มที่โฉม Sport
Ninja 300 และ YZF-R3 จะมีตำแหน่งที่แฮนด์ที่ใกล้เคียงกัน คือ ไม่สูงไม่ต่ำเกินไป
ขณะที่ RC390 จะเตี้ยที่สุดในแบบรถ Supersport โดนใจสายหมอบเวลาขี่ในสนาม แต่อาจเมื่อยหลังหากต้องขี่ใช้งานในชีวิตประจำวัน
CBR500R จะเป็นรถที่นั่งสบายที่สุด เนื่องจากตำแหน่งแฮนด์จะสูงกว่าเพื่อนในแบบ Sport Touring ช่วยให้การเดินทางไกล หรือ
ใช้งานในชีวิตประจำวันนั้นสบายที่สุด
ต่อด้วยโฉม Naked
Z300 และ MT-03 จะเป็นแฮนด์บาร์ที่ค่อนข้างสั้น และให้ความคล่องตัวสูงเมื่อขี่ในเมือง แต่การขี่เวลาเทโค้ง และการขี่ด้วยความเร็วสูงอาจจะดูไม่มั่นคงนัก
Duke 390 ด้วยความที่เป็นรถผสานสไตล์ Super Moto จึงทำให้ตำแหน่งแฮนด์สูงขึ้นมาอีกนิด ท่านั่งอาจต้องหลังตรงกางศอกหน่อย
รวมถึงตำแหน่งพักเท้าที่ต้องเขยิบขาไปทางด้านหลังอีกเล็กน้อยในแบบรถสปอร์ต ซึ่งจะต้องงอเข่ากว่า Naked คันอื่น
หากคนที่ไม่เคยขี่รถแนวนี้มาก่อนคงจะมาขี่ Duke และรู้สึกแปลกๆ ไปบ้างในช่วงแรก
CB500F ตำแหน่งแฮนด์เตี้ย และกางออก ซึ่งจะให้ท่านั่งที่ต้องแบะแขนออกเล็กน้อย แต่ให้ความมั่นใจเวลาเข้าโค้งได้ดีกว่า รวมถึงการ
ขี่เดินทางไกลที่ดูจะสบายกว่าแฮนด์สั้น
เครื่องยนต์
Honda 500 Series : 471cc / 2 สูบเรียง / DOHC 8 วาล์ว (4 วาล์วต่อสูบ ) / ระบายความร้อนด้วยน้ำ
KTM 390 Series : 373.2cc / 1 สูบ / DOHC 4 วาล์ว / ระบายความร้อนด้วยน้ำ
Yamaha 300 Series : 321cc / 2 สูบเรียง / DOHC 8 วาล์ว ( 4 วาล์วต่อสูบ ) / ระบายความร้อนด้วยน้ำ
Kawasaki 300 Series : 296cc / 2 สูบเรียง / DOHC 8 วาล์ว ( 4 วาล์วต่อสูบ ) / ระบายความร้อนด้วยน้ำ
เริ่มจากผู้มาก่อน (เปิดตัวก่อนใครเพื่อน) อย่างคู่หูจากค่ายแตนเขียว นั่นก็คือ Ninja 300 กับ Z300 ที่มาด้วยเครื่องยนต์ความจุน้อยที่สุด ต่อด้วยค่ายส้อมเสียง YZF-R3 กับ MT-03 ที่ให้ความจุล้นพิกัดมานิดหน่อย ในขณะที่ชาวต่างชาติ (ออสเตรีย) ทั้ง RC390 และ
Duke 390 ก็ให้ปริมาตรกระบอกสูบมาใหญ่พิเศษถึงเกือบ 400cc เพื่อเพิ่มกำลังวังชาให้สูงขึ้น เนื่องจากเป็นค่ายเดียวที่ใช้เครื่องยนต์สูบเดียว
ในกลุ่มทำให้อาจจะเสียเปรียบในช่วงรอบปลาย และปิดท้ายด้วยคู่หูปีกนกอย่าง CBR500R และ CB500F ที่ให้ความจุของเครื่องยนต์
แบบสองสูบเรียงมาเยอะที่สุดในกลุ่มราคานี้
และเนื่องจากความจุของรถมอเตอร์ไซค์แต่ละรุ่นมีความเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ทำให้แรงม้าและแรงบิดที่ได้มีความแตกต่างกันค่อนข้างเห็นได้ชัด
Honda 500 Series : พละกำลังสูงสุด 49.6 แรงม้า ที่ 8,500 รอบต่อนาที, แรงบิดสูงสุด 43 นิวตันเมตร ที่ 7,000 รอบต่อนาที
KTM 390 Series : พละกำลังสูงสุด 42.9 แรงม้า ที่ 9,000 รอบต่อนาที, แรงบิดสูงสุด 35 นิวตันเมตร ที่ 7,000 รอบต่อนาที
Yamaha 300 Series : พละกำลังสูงสุด 41.4 แรงม้า ที่ 12,000 รอบต่อนาที, แรงบิดสูงสุด 29.6 นิวตันเมตร ที่ 10,000 รอบต่อนาที
Kawasaki 300 Series : พละกำลังสูงสุด 38.5 แรงม้า ที่ 11,000 รอบต่อนาที, แรงบิดสูงสุด 27 นิวตันเมตร ที่ 10,000 รอบต่อนาที
จากตัวเลขจะเห็นได้ว่าทางฝั่งของ Kawasaki นอกจากพละกำลังจะน้อยที่สุดแล้ว ยังมาด้วยรอบที่สูงเอาเรื่อง ซึ่งอาจจะทำให้การใช้งานในชีวิตประจำวันดูเหนื่อยไปบ้าง เพราะต้องใช้รอบช่วยนิดหน่อยในการออกตัวทางชันหรือการเร่งแซง
ส่วน Yamaha ที่ให้พละกำลังเพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อย จากความจุที่มากกว่า ส่งผลให้แรงม้าและแรงบิดสูงขึ้นและเมื่อประกอบกับลักษณะเครื่องยนต์ที่มีขนาดลูกสูบโตกว่ารายก่อนหน้าจึงทำให้อัตราเร่งมีความกระฉับกระเฉงมากขึ้น
ในด้านของ KTM 390 Series นั้น ด้วยความที่ว่าเป็นเครื่องยนต์สูบเดียวแถมยังเป็นแบบลูกโต (มาก) และระยะชักยาว (มาก) ทำให้แรงบิดและแรงม้ามาด้วยรอบที่ต่ำเพียงไม่ถึง 10,000 รอบต่อนาที ซึ่งหมายความว่าอัตราเร่งของเจ้าคู่หูตัวจี้ดคู่นี้มาด้วยความว่องไว รวมถึง
น้ำหนักตัวที่เบากว่าเพื่อน แต่ก็น่าเสียดายเพราะ มาไวแล้วหมดไวด้วยเช่นกัน และที่สำคัญคืออาการสะท้านของเครื่องยนต์ที่เป็นอันรู้กันอยู่แล้วว่ามันคือธรรมชาติของเครื่องยนต์สูบเดียวความจุสูง ประกอบกับการขี่รถติดในเมืองอาจจะต้องเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ หรือ เลี้ยงคลัทช์เอาไว้เสียหน่อย
ปิดท้ายด้วยรุ่นใหญ่สุดในกลุ่มราคานี้นั่นก็คือ CBR500R และ CB500F ที่ให้พละกำลังสูงที่สุดในรุ่นเนื่องจากมีความจุเยอะที่สุด
แถมพละกำลังยังมาด้วยรอบที่ต่ำมาก จึงส่งผลให้อัตราเร่งสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันไปจนถึงการเดินทางท่องเที่ยวนั้นดูจะให้การ
ตอบสนองที่ดีที่สุดในกลุ่มราคานี้ เพียงแต่กำลังเครื่องนั้นจะมาไวหมดไวไปเสียหน่อย อาจไม่มันส์มือสายลากรอบ
ระบบกันสะเทือนหน้า-หลัง
Honda 500 Series :
หน้า ตะเกียบคู่ ขนาดแกน 41 มิลลิเมตร ปรับแข็ง-อ่อนได้ด้วยน็อตปรับที่หัวโช้ก (ระยะยุบ 109 มิลลิเมตร)
หลัง สวิงอาร์มเหล็กกล่อง โช้กเดี่ยว ปรับแข็ง-อ่อน 9 ระดับ พร้อมระบบ Pro-Link (ระยะยุบ 119 มิลลิเมตร)
KTM 390 Series :
หน้า ตะเกียบคู่ “หัวกลับ” ขนาดแกน 43 มิลลิเมตร (ระยะยุบ 125 มิลลิเมตรในรุ่น RC และ 150 มิลลิเมตรในรุ่น Duke)
หลัง สวิงอาร์มเหล็กหล่อขึ้นรูปโช้กเดี่ยว ปรับแข็ง-อ่อน 5 ระดับ (ระยะยุบ 150 มิลลิเมตร)
Yamaha 300 Series :
หน้า ตะเกียบคู่ ขนาดแกน 41 มิลลิเมตร (ระยะยุบ 130 มิลลิเมตร)
หลัง สวิงอาร์มอลูมิเนียมทรง Banana โช้กเดี่ยว ปรับแข็ง-อ่อน 5 ระดับ (ระยะยุบ 125 มิลลิเมตร)
Kawasaki 300 Series :
หน้า ตะเกียบคู่ ขนาดแกน 37 มิลลิเมตร (ระยะยุบ 120 มิลลิเมตร)
หลัง สวิงอาร์มเหล็กกล่อง โช้กเดี่ยว ปรับแข็ง-อ่อน ได้ 5 ระดับ พร้อมระบบ Uni-Trak (ระยะยุบ 130 มิลลิเมตร)
ในส่วนของระบบกันสะเทือน เนื่องจากกลุ่มราคาของรถในระดับนี้ ไม่ได้มีราคาที่สูงมากมาย สเป็กอุปกรณ์ที่ให้มากับรถนั้น จึงไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งโช้กหน้าตะเกียบคู่เทเลสโกปิคที่ประจำการอยู่ใน 3 ค่ายรถญี่ปุ่น ได้แก่ Yamaha และ Kawasaki
แต่ Honda จะพิเศษกว่าเพื่อน เพราะสามารถขันปรับค่าแข็ง-อ่อน ได้ที่แกนโช้กด้านบน
ส่วน RC390 และ Duke 390 จาก KTM เลือกที่จะให้มาดีกว่าเพื่อน เพราะเป็นโช้กหน้าแบบหัวกลับ ที่มีขนาดแกนโช้กใหญ่ถึง
43 มิลลิเมตรจาก WP ซึ่งเลื่องชื่ออยู่แล้ว ทำให้ภาพลักษณ์ออกไปทางรถสนามมากขึ้น
โช้กหลังปรับค่าแข็งอ่อนได้อย่างเดียวเหมือนกันทั้งหมด แต่จะมีส่วนแตกต่างกันก็คือทางฝั่งของ KTM, Yamaha เป็นแบบยิงตรงระหว่างเฟรมกับสวิงอาร์มธรรมดา ส่วน Honda, Kawasaki เป็นแบบกระเดื่องทดแรงซึ่งมีประสิทธิภาพในการรองรับแรงสั่นสะเทือนมากกว่าแบบปกติ
และจุดสังเกตอีกอย่างก็คือทั้ง CBR500R และ CB500F นั้นสามารถปรับค่าแข็งอ่อนได้ถึง 9 ระดับ ซึ่งละเอียดกว่าอีก 3 ค่ายที่สามารถปรับได้เพียงแค่ 5 ระดับเท่านั้น
ระบบเบรก
Honda 500 Series :
หน้า จานเดี่ยว 320 มิลลิเมตร, แอกเซียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบคู่ พร้อมระบบ ABS
หลัง จานเดี่ยว 240 มิลลิเมตร, แอกเซียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบเดี่ยว พร้อมระบบ ABS
KTM 390 Series :
หน้า จานเดี่ยว 320 มิลลิเมตร, เรเดียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบคู่ พร้อมระบบ ABS เปิด-ปิดได้ รุ่น 9MB จาก Bosch
หลัง จานเดี่ยว 230 มิลลิเมตร, แอกเซียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบเดี่ยว พร้อมระบบ ABS เปิด-ปิดได้ รุ่น 9MB จาก Bosch
Yamaha 300 Series :
หน้า จานเดี่ยว 298 มิลลิเมตร, แอกเซียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบคู่ พร้อมระบบ ABS
หลัง จานเดี่ยว 220 มิลลิเมตร, แอกเซียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบเดี่ยว พร้อมระบบ ABS
Kawasaki 300 Series :
หน้า จานเดี่ยว 290 มิลลิเมตร, แอกเซียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบคู่ พร้อมระบบ ABS
หลัง จานเดี่ยว 220 มิลลิเมตร, แอกเซียลเมาท์คาลิปเปอร์ลูกสูบเดี่ยว พร้อมระบบ ABS
ในส่วนของระบบเบรก ทุกโมเดลเป็นแบบดิสก์เบรกหน้าเดี่ยว และดิสก์เบรกหลังเดี่ยว แต่สองคู่หู KTM ใช้คาลิปเปอร์เบรกหน้าแบบเรเดียลเมาท์ และให้ระบบ ABS ชุดใหญ่จาก Bosch รุ่น 9MB ที่สามารถเปิด-ปิดระบบได้ เพื่อเอาใจนักบิดสายแข่งขัน
ในขณะที่ของค่ายอื่นก็มี ABS หน้า-หลัง เช่นกัน แต่ไม่สามารถปิดระบบได้เลย ซึ่งก็มีข้อดีในเรื่องของความปลอดภัย เพราะหากขี่ไปบนท้องถนนที่มีความลื่นแล้วไม่ได้เปิดระบบ ABS อาจส่งผลให้ล้อล็อคจนเกิดอันตรายได้
สำหรับขนาดจานเบรกด้านหน้า จะแปรผันไปตามความจุเครื่องยนต์ ใหญ่สุดเริ่มจาก Honda และ KTM ที่มีขนาดจานเบรกด้านหน้า
เท่ากัน แต่ด้านหลัง Honda ใหญ่กว่าเล็กน้อย
นอกจากนี้ Honda ยังเป็นค่ายเดียวที่มีแถมลูกเล่นอย่าง ก้านเบรกปรับระดับได้มาให้ด้วย
ตามมาด้วย Yamaha และ Kawasaki ตามลำดับ ซึ่งก็สัมพันธ์กับขนาดหน้ายางติดรถที่ให้มาด้วยเช่นกัน โดยไซส์ยางที่ให้มีดังนี้
ขนาดยาง
Honda 500 Series : ยางหน้า ขนาด 120/70-17, ยางหลัง ขนาด 160/70-17
KTM 390 Series : ยางหน้า ขนาด 110/70-17, ยางหลัง ขนาด 150/70-17
Yamaha 300 Series : ยางหน้า ขนาด 110/70-17, ยางหลัง ขนาด 140/70-17
Kawasaki 300 Series : ยางหน้า ขนาด 110/70-17, ยางหลัง ขนาด 140/70-17
ในส่วนของความกว้างหน้ายางนั้นมีเพียงแค่ Yamaha และ Kawasaki ที่ให้มาเท่ากันทั้งหน้าและหลัง แต่คนละยี่ห้อ Yamaha ใช้ Michelin รุ่น Pilot Street ส่วน Kawasaki ใช้ IRC รุ่น Road Winner, KTM ใช้ยางของ Pirelli รุ่น Rosso II ขวัญใจสายเทโค้ง
ทั้งหลาย และเพิ่มขนาดด้านหลังมาอีก 1 ไซส์เป็น 150/70-17
และสำหรับคู่หูห้าร้อยจาก Honda เป็นยางของ Dunlop รุ่น Sportmax D222 ซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 120/70-17 ที่ล้อหน้า และ
160/70-17 ที่ล้อหลัง เพื่อรองรับกับพละกำลังที่มากกว่าและยังช่วยให้การใช้งานบนท้องถนนปลอดภัยยิ่งขึ้นเนื่องจากมีพื้นที่ผิวให้ยึดเกาะมากขึ้นนั่นเอง
ความสูงเบาะ
Honda 500 Series : CBR500R 785 มิลลิเมตร, CB500F 785 มิลลิเมตร
KTM 390 Series : RC390 820 มิลลิเมตร, Duke 390 800 มิลลิเมตร
Yamaha 300 Series : YZF-R3 780 มิลลิเมตร, MT-03 780 มิลลิเมตร
Kawasaki 300 Series : Ninja 300R 785 มิลลิเมตร, Z300 785 มิลลิเมตร
สำหรับความสูงเบาะนั่งของ Yamaha นั้นอยู่ในระดับที่เป็นมิตรกับผู้ขับขี่ไซส์เล็กที่สุดในกลุ่มราคานี้ ด้วยความสูงเพียง 780 มิลลิเมตร ส่วนอีกสองค่ายทั้ง Kawasaki และ Honda จะสูงขึ้นมาอีกเล็กน้อยที่ 785 มิลลิเมตร ซึ่งจะว่าไปแล้ว ทั้ง 3 แบรนด์นี้ ถือได้ว่าเป็นมิตรกับผู้ขี่ที่มีสรีระไม่สูงมากนัก ยังพอยืนคร่อมได้เต็มเท้า ทำให้มั่นใจในการขี่รถยิ่งขึ้น
ในทางกลับกันสำหรับ Duke 390 และ RC390 ที่มีความสูงเบาะมากถึง 800 มิลลิเมตร และ 820 มิลลิเมตร จะให้ภาพลักษณ์แบบรถสปอร์ตสายสนามมากกว่า แต่คงไม่เป็นมิตรกับผู้ขี่ที่มีสรีระไม่สูงนัก
น้ำหนักตัวรถ
Honda 500 Series : CBR500R 194 กิโลกรัม, CB500F 192 กิโลกรัม
KTM 390 Series : RC390 166 กิโลกรัม, Duke 390 154 กิโลกรัม
Yamaha 300 Series : YZF-R3 169 กิโลกรัม, MT-03 165 กิโลกรัม
Kawasaki 300 Series : Ninja 300R 172 กิโลกรัม. Z300 170 กิโลกรัม
แน่นอนว่าอันดับหนึ่งในเรื่องของความเบาคงหนีไม้พ้น KTM ที่เอาดีในเรื่องของความปราดเปรียว ทำให้ทั้ง RC390 และ Duke 390 ดูจะโดดเด่นในเรื่องของการพลิกโค้งไปมา ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการแข่งขัน
แต่ในขณะเดียวกันสำหรับอีก 3 ค่ายจากญี่ปุ่นที่มีน้ำหนักมากขึ้นตามลำดับ คือ Yamaha, Kawasaki และ Honda จะได้เปรียบในเรื่องของความนิ่งช่วงความเร็วสูง (โดยเฉพาะ Honda ที่หนักที่สุด) และลดอัตราการเสี่ยงของลมปะทะที่เกิดขึ้นขณะขับสวนเลนกับรถยนต์หรือรถบรรทุก ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยๆ ในการเดินทางไปตามเส้นทางข้ามจังหวัด
ความจุถังน้ำมัน
Honda 500 Series : CBR500R 16.7 ลิตร, CB500F 16.7 ลิตร
KTM 390 Series : RC390 10 ลิตร, Duke 390 11 ลิตร
Yamaha 300 Series : YZF-R3 14 ลิตร, MT-03 14 ลิตร
Kawasaki 300 Series : Ninja 300R 17 ลิตร, Z300 17 ลิตร
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัว Duke 390 และ RC390 มีน้ำหนักตัวเบากว่าใครเพื่อนนั้นก็เพราะความจุถังน้ำมันมีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งข้อดีก็อย่างที่เราได้บอกไปในหัวข้อก่อนหน้า แต่ถ้าพูดถึงข้อเสียล่ะก็ ใช่แล้วครับ ในการเดินทางไกลที่เราแทบไม่รู้เลยว่าปั๊มน้ำมันนั้นอยู่ใกล้ไกลแค่ไหน แถมยังไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมงนั้นเป็นอะไรที่น่าหวาดเสียวพอสมควรเลยทีเดียว หากน้ำมันเกิดหมดกลางทางขึ้นมาล่ะยุ่งแน่
แต่อีกสามค่ายแดนญี่ปุ่น เริ่มจาก Yamaha ให้ความจุ 14 ลิตรใหญ่ขึ้นมาอีกนิด อาจจะลดความกังวลในเรื่องของปั๊มน้ำมันลงไปบ้าง เนื่องจากค่าเฉลี่ยในการบริโภคน้ำมันของรถมอเตอร์ไซค์พิกัด 300cc นั้นอยู่ที่ประมาณ 20 กิโลเมตรต่อลิตรขึ้นไป จึงหมายความว่า Yamaha จะมีน้ำมันพอให้ขี่ไปได้ไกลขึ้นอีกถึง 60 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับ KTM
ทางฝั่งของ Kawasaki และ Honda อยู่ที่ราว 17 ลิตรทั้งคู่ ทำให้ตัวรถสามารถขี่ไปได้ไกลกว่า KTM และ Yamaha
สรุป
ในงบ 2 แสนบาท หากคุณกำลังมองหา BigฺBike สักคันแล้ว รถทั้ง 8 รุ่น 4 แบรนด์ที่เรามาแนะนำ ต่างมีข้อดี-ข้อเสีย ทั้งสิ้น ลองมาดูสรุปกันว่าคันไหนจะคุ้มค่า หรือตอบโจทย์คุณที่สุด
Kawasaki นั้น อาจมีสมรรถนะที่ดูจะด้อยกว่าเพื่อน จากความจุ และด้วยอายุการทำตลาดที่นานพอสมควรสำหรับ Ninja 300R และ Z300 เพราะถึงแม้ว่าจะมีระบบสลิปเปอร์คลัทช์มาให้ แต่ด้วยความจุที่น้อยกว่าเพื่อน ทำให้อัตราเร่งช่วงต้นไม่หวือหวานัก แต่ข้อดี คือ ความคล่องตัวในเมือง และความเก๋าของ Kawasaki ที่ทำตลาดในกลุ่มนี้มานาน ทำให้ครองใจสาวกค่ายเขียวได้อย่างต่อเนื่อง และมีของตกแต่งที่หลากหลายโดนใจ Biker
ส่วน YZF-R3 และ MT-03 จาก Yamaha นั้นมีลูกเล่นเพิ่มอย่างไฟบอกตำแหน่งเกียร์ และ Shift Light รวมถึงความจุที่มากกว่าทำให้กำลังอัตราเร่งดีกว่า Kawasaki .ในขณะที่การใช้งานคล่องตัวในระดับเดียวกับ Kawasaki แต่ข้อเสียอาจพบปัญหาเรื่องลูกปืนคลัทช์ในสองโมเดลนี้
ส่วนคู่หู RC390 และ Duke 390 จาก KTM ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของน้ำหนักที่เบาและออปชั่น ทั้งสลิปเปอร์คลัชท์, ABS เปิดปิดได้ ระบบกันสะเทือนจาก WP ที่โดดเด่นเกินใคร แต่ท่านั่งนั้นออกแบบมาค่อนไปทางสปอร์ตมากที่สุดในรุ่น RC ส่วน Duke ก็ออกแบบมาในแนว Super-moto ผู้ที่ไม่เคยขี่รถสไตล์นี้อาจจะไม่ถนัดและควบคุมรถได้ไม่คล่องตัวนัก รวมถึงสไตล์เครื่องยนต์ 1 สูบ ที่การขี่ในเมืองนั้นอาจให้ความจี๊ดจ๊าด แต่การเดินทางไกลก็สั่นสะท้านกันพอควร ดังนั้นการใช้งานในชีวิตประจำวันนั้นอาจจะเหนื่อยและเมื่อยกันหน่อยสำหรับคู่หูจากประเทศออสเตรียรายนี้
สุดท้าย Honda 500 Series มีจุดเด่นในเรื่องของรูปลักษณ์ที่เป็นรถ BigBike สไตล์สปอร์ตแฝงความทันสมัย จากไฟหน้า-ท้าย LED และแฟริ่งที่ได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม ท่านั่งออกแบบมาให้ขี่ได้ทั้งใกล้-ไกลโดยไม่เมื่อยล้า รวมถึงกำลังเครื่องยนต์ที่ได้เปรียบกว่าค่ายอื่น จากความจุที่มีมากกว่า ช่วยให้แรงบิดมาตั้งแต่รอบต่ำพร้อมใช้ทันท่วงที รวมถึงการเดินทางไกลก็ไม่เหนื่อยกับการต้องเค้นกำลังเครื่องจนเกินไป น่าเสียดายที่รอบเครื่องหมดไวไปนิด อาจไม่ถูกใจสายลากรอบ ความเร็วปลายจึงอาจไม่ได้มากไปไกลกว่าเพื่อนๆ 300 คันอื่นๆนัก แต่อย่าลืมกว่าการใช้งานส่วนใหญ๋ อัตราเร่งสำคัญกว่าความเร็วปลาย
นอกจากนี้ เรื่องจอดรถทาง Honda ได้มีการสำรองที่จอดรถ Honda BigBike ไว้ พร้อมล็อกเกอร์ให้คุณไม่ต้องแบกหมวกแบกและสัมภาระเดินเข้าห้างฯ ให้เกะกะ อีกต่อไป อย่างเช่น ห้างฯ Central World ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้ เป็นต้น
หากมองตามโจทย์ในงบ 2 แสนบาทแล้ว Honda นั้นอาจจะเกินงบไปอยู่เล็กน้อย แต่จากการเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆทั้งในทางเทคนิคและการสัมผัสด้วยตัวผู้เขียนเองแล้ว รถทุกค่ายมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ซึ่งใครชื่นชอบแบบไหนก็คงจะหาคำตอบได้เอง แต่ถ้าคุณกำลังมองหารถ BigBike ที่ครบเครื่องที่สุดในงบ 2 แสนบาท 2 คู่หูจากค่ายปีกนก น่าจะตอบโจทย์คุณได้อย่างครบเครื่องที่สุด
อ่านข่าว Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว Yamaha เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว kawasaki เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว KTM เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ