Bosch คว้ารางวัล “เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย: สาขานวัตกรรมเพื่อการขับขี่ปลอดภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ (Safety Technology Award: Innovative Motorcycle Technology for Safer Riding)” จากองค์กรทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่แห่งอาเซียน (ASEAN NCAP หรือ ASEAN New Car Assessment Program) รางวัลที่ได้รับแสดงให้เห็นถึงความพยายามของบ๊อช ที่จะพัฒนาระบบการขับขี่ให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยสำหรับยานยนต์สองล้อ อาทิ ระบบเบรกป้องกันล้อล็อคสำหรับรถจักรยานยนต์ หรือระบบเบรก ABS (Motorcycle Antilock Braking System: ABS) ระบบควบคุมการทรงตัวรถจักรยานยนต์ (Motorcycle Stability Control: MSC) และระบบเตือนมุมอับสายตา (side view assist)
มร. จีออฟ ลีแอช หัวหน้าแผนกธุรกิจยานยนต์สองล้อและพาวเวอร์ สปอร์ตของบ๊อช กล่าวว่า “ในฐานะที่บ๊อชเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยสำหรับยานยนต์สองล้อ เราได้มุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่มาโดยตลอด เพื่อช่วยให้การขับขี่มีความปลอดภัย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และช่วยให้ผู้ใช้เพลิดเพลินกับการขับขี่ได้อย่างเต็มที่”
ASEAN NCAP หรือองค์กรทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่แห่งอาเซียน เป็นหน่วยงานการทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ ที่ร่วมจัดตั้งโดยหน่วยงานศึกษาด้านความปลอดภัยบนท้องถนนของมาเลเซีย (Malaysian Institute of Road Safety Research -MIROS) และหน่วยงานทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่ระดับสากล (Global New Car Assessment Program: Global NCAP) จึงนับเป็นหนึ่งในหน่วยงานระดับสากลที่ได้รับการยอมรับและมีบทบาทมากที่สุดในการตรวจสอบสมรรถนะด้านความปลอดภัยสำหรับรถยนต์ใหม่
บ๊อชได้รับรางวัลในประเภทเดียวกันนี้จาก ASEAN NCAP เป็นครั้งที่ 2 โดยได้รับรางวัลครั้งแรกในปี 2557 จาก ESP® (Electronic Stability Program) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ระบบการควบคุมการทรงตัวของรถยนต์ (Electronic Stability Control: ESC) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ได้ช่วยชีวิตผู้คนกว่า 8,500 ราย และช่วยป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนนต่างๆ ได้ถึงร้อยละ 25 จากจำนวนนับล้านครั้ง เพียงแค่เฉพาะในทวีปยุโรป
ในเดือนมิถุนายน 2561 มาเลเซียจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน ที่บังคับใช้กฎหมายให้รถยนต์โดยสารใหม่ทั้งหมดต้องติดตั้งระบบการควบคุมการทรงตัวของรถยนต์ (Electronic Stability Control: ESC) เป็นมาตรฐานความปลอดภัย
ความจำเป็นเรื่องการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่ในตลาดเกิดใหม่นั้นเพิ่มมากขึ้น ในแต่ละปี ประเทศไทยและอินโดนีเซียมีอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 21,000 ราย นอกจากนี้ ในปี 2558 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่ที่ 36.2 คน ต่อประชากร 100,000 คน ส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยร้อยละ 75 ของอุบัติเหตุบนท้องถนน เกี่ยวข้องกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์
มร. โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย กล่าวว่า “เราจะยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ในการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยบนท้องถนน เราคิดว่าการผสานการให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยในยานยนต์ มีความสำคัญอย่างมากโดยมีข้อมูลอ้างอิงว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยลดการบาดเจ็บและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ เราเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมายที่จะช่วยให้การขับขี่บนท้องถนนปลอดภัยมากขึ้นสำหรับคนไทย”
ระบบเบรก ABS ในรถจักรยานยนต์ กำลังกลายเป็นมาตรฐานระดับสากล
การศึกษาวิจัยด้านอุบัติเหตุของบ๊อช แสดงให้เห็นว่า หากมีการติดตั้งระบบเบรก ABS ในยานยนต์สองล้อทุกคัน จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตได้ถึง 1 ใน 4 เนื่องจากระบบเบรกจะป้องกันล้อล็อก จึงช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมการทรงตัวของรถได้ในขณะเบรก และช่วยให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่คับขันได้อย่างรวดเร็วโดยปราศจากความกังวล ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและสนับสนุนให้ใช้ระบบเบรก ABS ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในสหภาพยุโรป ได้มีการออกกฎหมายให้รถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์มากกว่า 125 ซีซี ที่ออกจำหน่ายตั้งแต่ต้นปี 2559 ต้องติดตั้งระบบเบรก ABS ทุกคัน เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น ซึ่งออกกฎหมายให้รถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 125 ซีซีขึ้นไป ต้องติดตั้งระบบเบรก ABS โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป และที่ไต้หวันจะเริ่มใช้บังคับใช้กฎหมายในปี 2562 ขณะที่ในปีนี้ รัฐบาลของอินเดียได้ประกาศให้รถจักรยานยนต์ทุกชนิด จะต้องติดตั้งระบบเบรก ABS นับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2561 เป็นต้นไป
“การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ นับเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญในด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ โดยผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมาจากกฏหมายนี้ จะช่วยกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียหันมาพิจารณาการออกกฏหมายดังกล่าว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผู้คนมากมายใช้ยานยนต์สองล้อในการสัญจร” มร. โจเซฟ กล่าวเพิ่มเติม
จากระบบเบรก ABS ถึงระบบเตือนมุมอับสายตา (side view assist) นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา บ๊อชได้ผลิตระบบเบรก ABS ในรถจักรยานยนต์มากกว่า 2 ล้านหน่วย โดยเมื่อเร็วนี้ๆ บ๊อชได้เปิดตัวระบบเบรก ABS 10 ที่ออกแบบเพื่อรองรับความต้องการสำหรับตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะ เนื่องจากขนาดที่เล็กพร้อมน้ำหนักที่ลดลง ทำให้เหมาะสมและสะดวกสำหรับผู้ผลิตที่จะติดตั้งในรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก ทั้งนี้ Kawasaki Versys – X 300 ABS ที่จะเปิดตัวทั่วโลกเร็วๆนี้ จะเป็นรถจักรยานยนต์รุ่นแรกของโลกที่ใช้ระบบ ABS 10 ตามด้วย Suzuki GSX-S125 ABS รุ่นปี 2018 ที่จะผลิตโดยใช้ระบบนี้ด้วยเช่นกัน
ในปี 2556 บ๊อชได้ผลิตระบบช่วยควบคุมการทรงตัวสำหรับรถจักรยานยนต์ (Motorcycle Stability Control-MSC) ซึ่งนับเป็นการเปิดตัวระบบแบบ all-in-one สำหรับยานยนต์สองล้อครั้งแรกของโลก โดยระบบนี้สามารถวัดข้อมูลตัวแปรต่างๆ เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ อาทิ การทำมุมเข้าโค้ง (lean angle) ทำให้สามารถปรับการเบรกได้อย่างทันท่วงที และควบคุมความเร็วให้เหมาะสมกับสภาพการขับขี่ จึงช่วยป้องกันการล้มรวมถึงเพิ่มศักยภาพการควบคุมการทรงตัวของรถขณะเบรกตอนเข้าโค้ง โดยบริษัทฯ ยังได้พัฒนาระบบเตือนมุมอับสายตา ซึ่งถือเป็นระบบช่วยเหลือขั้นสูงสำหรับการขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นครั้งแรกของโลก โดยเมื่อมีการเปลี่ยนเลน ระบบจะใช้เซ็นเซอร์คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจสอบสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะด้านที่ผู้ขับขี่มองเห็นยากเพื่อหลีกเลี่ยงการชนปะทะ
บ๊อชร่วมมือกับ NCAP ในแคมเปญระดับโลก “Stop the Crash”
บ๊อชร่วมเป็นหนึ่งในพันธมิตรของแคมเปญ “Stop the Crash” ของ NCAP หรือหน่วยงานทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์ใหม่ อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทศวรรษในการสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน โดยองค์การสหประชาชาติ(United Nation Decade of Action for Road Safety) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกลงร้อยละ 50 ภายในปี 2563 ซึ่งในปี 2556 เพียงปีเดียว พบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั่วโลกประมาณ 1.25 ล้านราย
สำหรับแคมเปญ “Stop the Crash” ที่จัดขึ้นในประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บ๊อชได้เผยโฉมเทคโนโลยีระบบเบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์ พร้อมสาธิตเพื่อแสดงสมรรถนะด้านความปลอดภัยด้วย
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ