ต่อจากสัปดาห์ก่อนที่เราได้พาเพื่อนๆไปไขข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องราวของชุด “กระโหลกคลัทช์กัดลาย” ว่ามันมีข้อดี/ข้อเสียอย่างไรบ้างไปแล้ว ในบทความ Tips Trick วันนี้ เราก็จะพาเพื่อนๆมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่มักจะมามาคู่กันกับชิ้นส่วนก่อนหน้านี้อย่าง ชุดผ้า คลัทช์ทองแดง กับ คลัทช์คาร์บอน ว่ามันจะมีข้อดี/ข้อด้อย ที่แตกต่างกัน และไม่เหมือนกับผ้าคลัทช์เดิมอย่างไรบ้างกันครับ
ก่อนอื่น การอัพเกรดจากผ้าคลัทช์เดิมติดรถให้เปลี่ยนเป็นทั้ง ผ้าคลัทช์คาร์บอน และ ผ้าคลัทช์ทองแดงนั้น แต่ละสำนักแต่งล้วนทำให้ขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์คือเพื่อให้คลัทช์สามารถจับตัวกับกระโหลกคลัทช์ได้ดีขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็หมายความว่ารถจะสามารถออกตัวได้ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ยังสามารถลดอาการออกตัวกระตุกที่มักพบเจอหลังใช้รถไปสักพักแล้วด้วย (แต่อันที่จริงปัญหาออกตัวกระตุกหลังจากใช้รถไปนานๆมักไม่เกิดจากคลัทช์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะกระโหลกคลัทช์สากไม่พอด้วย)
อย่างไรก็ดีหากให้เทียบกัน สำหรับฝั่ง “คลัทช์คาร์บอน” จะมีลักษณะการจับที่ค่อนข้างนุ่มนวล ไม่หนีไปจากคลัทช์เดิมติดรถเท่าไหร่นัก และจะเริ่มจับดีมากขึ้นในช่วงความเร็วกลางถึงปลาย ทำให้เวลาขี่ด้วยความเร็วสูงๆรอบเครื่องยนต์ไม่ค่อยฟรีทิ้ง สามารถส่งกำลังลงมายังล้อหลังได้ดีขึ้น และด้วยเนื้อคลัทช์ที่ค่อนข้างแข็งกว่าคลัทช์เดิม จึงอายุการใช้งานของคลัทช์คาร์บอนจะนานกว่าคลัทช์เดิมอยู่พอประมาณ ประกอบกับการที่ฝุ่นไม่ค่อยจับหน้าคลัทช์ จึงทำให้ช่วงระยะการใช้งานคลัทช์โดยไม่ต้องถอดแกะมาทำความสะอาดนานมากขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจจะทำให้มีเสียงคลัทช์เสียดสีเกิดขึ้นบ้างในช่วงความเร็วต่ำๆที่คลัทช์ยังไม่ได้จับเต็มที่ และหากใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ที่ทำเครื่องมาแรงมากๆ ตัวคลัทช์ก็อาจจะจับไม่ค่อยอยู่อยู่ดี
ดังนั้น เมื่อเทียบกับ “คลัทช์ทองแดง” จะมีลักษณะการจับที่ค่อนข้างกระชับกว่าคลัทช์คาร์บอนอยู่พอสมควร จึงทำให้รถมีความติดมือตอนเปิดคันเร่งออกตัวมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด จึงเหมาะอย่างมากสำหรับเพื่อนๆที่นำรถไปโมดิฟายเครื่องฯมาแล้ว เนื่องจากต้องการคลัทช์ที่จับตัวได้ดีขึ้น หนึบขึ้นแต่มันก็จะแลกมาซึ่งความนุ่มนวลในการใช้งานที่หายไป และถ้าหากใช้กับรถที่ยังไม่ได้ทำเครื่องมา บางทีคลัทช์ก็อาจจะจับดีและไวเกินไปจนหน่วงกำลังเครื่อง เพราะมันยังไม่ทันมีรอบที่จะไต่ขึ้น คลัทช์ก็รีบจับเพื่อให้มันถ่ายกำลังลงล้อหลังแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีโอกาสที่จะเจออาการรถกระตุกง่ายขึ้นด้วย แต่ไม่ใช่เพราะคลัทช์จับๆติดๆ แต่เป็นเพราะคลัทช์พยายามจับกระโหลกคลัทช์แทบจะตลอดเวลา เพราะจับดีเกินไป และด้วยความที่เนื้อคลัทช์ค่อนข้างนิ่ม จึงทำให้เนื้อคลัทช์สึกไว หรือหมดไวมากๆเมื่อเทียบกับคลัทช์คาร์บอนด้วย
อย่างไรก็ดี ข้อดี/ข้อเสีย ของชุด “คลัทช์คาร์บอน” และ “คลัทช์ทองแดง” ที่ว่านั้น จะเห็นผลมากหรือน้อย เกิดขึ้นมากหรือน้อย สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับส่วนผสมของเนื้อคลัทช์, ลักษณะหน้าคลัทช์, ความแข็งของสปริงคลัทช์ หรือว่าง่ายๆคือขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละสำนักอีกทีด้วย ว่าพวกเขาจะออกแบบมาให้งานของตนเองเป็นแบบไหน ดังนั้นหากเพื่อนๆอยากจะอัพเกรดชุดคลัทช์จริงๆ จึงควรจะศึกษาข้อมูลคลัทช์ของแต่ละสำนักก่อนว่าเป็นเช่นไร หรือถ้าไม่อยากวุ่นวายล่ะก็ คลัทช์เดิมติดรถนี่แหล่ะครับ เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วๆไปที่สุดแล้ว
อ่าน Tips Trick เทคนิคที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ