Suzuka Endurance ศึกสองล้อระดับโลกสุดทรหดที่สอดไส้เอาไว้ด้วยความคลาสสิคและความทรงจำเอาไว้มากมาย หลังจากเปิดการแข่งขันกันไปตั้งแต่ปี 1978 ล่าสุดในฤดูกาล 2018 นี้ เดินเข้าสู่การแข่งขันครั้งที่ 41 ในสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้
การแข่งขัน 2018 Suzuka Endurance Championship ถือว่าเป็นรายการแข่งระดับตำนานกันเลยทีเดียว ที่ผ่านมาแฟนๆ สองล้อโลกได้ชมลีลาการแข่งขันทั้งในคลาส ซูซูกะ 8 ชั่วโมง และ ซูซูกะ 4 ชั่วโมง เป็นรายการแข่งขันที่เป็นเวทีในการโชว์ออฟของนักบิดนามระบือโลกมากมาย ซึ่งเป็นหนึ่งในความทรงจำที่งดงามของการแข่งขันรายการนี้
เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ส่งดาวบิดดวงใหม่ “ทีมของคนไทย โดยคนไทย เพื่อประเทศไทย”
ประสบการณ์ปีแรกในฤดูกาลที่ผ่านมากับการลงสนามในการแข่งขันรายการ ซูซูกะ 4 ชั่วโมงของ เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ นั่นคือการเรียนรู้จักการแข่งขันหนึ่งในรายการของโลกที่แข็งโป๊ก ทีมแข่งได้เรียนรู้การทำงาน นักแข่งได้เรียนรู้การแข่งขันที่แตกต่างจากเกมส์โรดเรซซิ่งรายการอื่นๆ และที่พีคสุดๆ ก็คือ กองเชียร์พี่ไทยได้หัวใจตูมตามในการหนุนหลัง “ทีมไทย”แท้ๆ ร้อยเปอร์เซ็นในเวทีระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก
ย้อนกลับไป เมื่อมองถึงโจทย์ยากตั้งแต่ยังไม่เริ่มการแข่งขัน ท้ายที่สุดจบท็อปไฟว์มาได้ถือว่าไม่ธรรมดา กับการมาประเดิมสนามระดับโลกครั้งแรก
และในปีนี้ “ เอ.พี.ฮอนด้า” ได้สานต่อภารกิจประวัติศาสตร์ เปิดเกมส์ส่งทีมไทย 100% สู้ศึกระดับโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เปิดโอกาสให้นักบิดดาวรุ่งเลือดใหม่ไฟแรง ลุยศึกเอ็นดูรานซ์สุดทรหด “ซูซูกะ 4 ชั่วโมง” หวังสร้างประสบการณ์ก่อนก้าวสู่นักแข่งระดับโลก โดยมี BNK48 พร้อมกองเชียร์ชาวไทยกว่า 300 ชีวิต บินให้กำลังใจแบบเกาะติดชิดขอบสนามถึงแดนปลาดิบ วันที่ 27-29 ก.ค.
ความคลาสิคที่กลิ่นหอมหวานของมันดึงดูดแฟนๆ มอเตอร์สปอร์ตมาดอมดมกว่า 40 ปี คือความมาราธอนของ ซูซูกะ 8 ชั่วโมง ล่าสุดมันถูกต่อเติมให้เป็นอีเวนท์ที่อลังการงานสร้างยิ่งใหญ่ขึ้นด้วย ซูซูกะ 4 ชั่วโมงอีกรายการ มองดูตัวเลขเผินๆ หลายคนอาจจะคิดว่า รายการนี้หวานหมูยิ่งกว่าเดิม แต่แท้จริงแล้วบอกเลยว่า “ยากไม่น้อยกว่ากันแน่นอน” เมื่อกติกาถูกตัดตอนลงมาให้พอดีกับเวลาที่แข่งขัน 4 ชั่วโมง ทั้งจำนวนนักแข่ง, ยาง หรือพิกัดรถแข่งที่ลงสนาม
การประสบความสำเร็จในเวทีระดับประเทศ หรือการพุ่งชนชัยชนะด้วยการส่งนักแข่งในสังกัดลงไปไล่ล่าเกียรติยศกับทีมแข่งที่มีประสบการณ์และความพร้อมระดับโลกนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว “เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์” คิดข้ามช็อตไปด้วยความท้าทายอีกก้าวที่ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ชนะเท่านั้น แต่เป้าอยู่ที่การเป็นผู้สร้างชัยชนะขึ้นมาเองทีมแข่งไทยแท้ๆ ทั้งหัวหน้าทีม, ทีมแมคคานิค โค้ช และนักแข่งถูกฟอร์มขึ้นมาด้วยความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่ว่า มันจะต้องสำเร็จให้ได้ด้วยการเข้าถึงเส้นชัยไม่ว่าต้องแลกด้วยความพยายาม ความอดทน การวางแผนการขับขี่ที่ดี ต้องมีความพร้อมทั้งทีม นี่คือเวทีที่เหมาะสมเหลือเกินกับการพิสูจน์ตัวเองกับความท้าทายที่มีเป้าหมายมุ่งสู่สนามระดับโลก
นักแข่ง
ซูซูกะ 4 ชั่วโมงจะใช้นักแข่งเพียง 2 คนในการลงสนาม โดยมีนักแข่ง 1 คนที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นตัวสำรองที่พร้อมสแตนบายด์ลงสนาม หากสองนักแข่งที่วางเอาไว้คนใดคนหนึ่งไม่พร้อมลงสนามขึ้นมาก่อนที่การแข่งขันจะเริ่ม ก็จะดึงตัวสำรองมาลงแทน ซึ่งโจทย์นี้ทดสอบ “เอ.พี ฮอนด้า เรซซิ่งไทยแลนด์” มาแล้วในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าพิสูจน์ความพร้อมของทีมกันตั้งแต่เกมส์ยังไม่ได้เริ่มเลยทีเดียว
การเลือกนักแข่งในการลงสนามนั้น ไม่เพียงแค่จิ้มไปที่คนที่ขี่รถได้เร็วที่สุดเท่านั้น แต่การทำงานด้วย “ทีม” นั้นสำคัญที่สุดในรายการนี้ นักแข่งทั้ง 3 คน (รวมสแตนบายอีก 1 คน) นอกจากจะต้องสื่อสารและทำงานกับทีมงานได้เป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ประสบการณ์ในการขับขี่ รถ พิกัดที่ลงสนามนั้นต้องมีอยู่ในกระเป๋า เพราะการต้องลงไปซัดยาวๆ หลายชั่วโมงแบบนั้น ความฟิตของร่างกาย ความแกร่งของจิตใจในการยืนระยะ ความนิ่งของการขับขี่ที่จะรักษาเวลาต่อรอบให้ได้อย่างสม่ำเสมอ คือสรรพคุณชั้นยอดของนักบิดซูซูกะ 4 ชั่วโมง
สไตล์สการขับ ที่จะส่งผลถึงเซ็ทติ้งของรถแข่งนั้นคืออีกกุญแจสำคัญ เมื่อต้องสลับกันลงบิดรถแข่งคันเดียว ที่ใช้การเซ็ทอัพเดียว โพซิชั่นการขับขี่เดียว นั่นทำให้นักแข่งที่เลือกในการแข่งขันนั้นต้องซ้อม, ขี่, ทำงานร่วมกันเป็นทีมให้มากที่สุด เพื่อหาจุดที่ลงตัวที่เป็นธรรมชาติที่สุดร่วมกันให้ได้
รถแข่ง 1 คัน นักแข่ง 2 คน (สแตนบายอีกหนึ่ง) ยาง 1 คู่ พร้อมกับคู่ต่อสู้ที่เรียกว่า 4 ชั่วโมง โดยไม่ต้องไปโฟกัสที่คู่แข่งในการเร่งแซงเบียดบังไลน์เป็นอันดับแรก แต่กับเวลาดังกล่าวนี้คือการต่อสู้กับตัวเองให้ทำระยะทางได้มากที่สุด ทีมไหนที่ทำระยะทางในการแข่งขัน (จำนวนรอบ)ได้มากที่สุด ก็จะเป็นผู้ชนะไปในทันที 18 โค้ง วนรอบวงแหวนเลข 8 ระยะทาง 5.8 กิโลเตรของสนามซูซูกะ
อ่านดูเหมือนง่าย …แต่เรื่องจริงในการแข่งขันนั้นมันยาก! และซับซ้อนกว่าหน้ากระดาษหลายเท่า เพราะตลอดเส้นทาง 4 ชั่วโมงนั้น ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างที่จะสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ
การเริ่มต้นการแข่งขันสุดฮิพ กับอะไรที่เรียกว่า “เลอมัง สตาร์ท”คือหนึ่งในเอกลักษณ์ของ ซูซูกะ ทั้ง 8 และ 4 ชั่วโมง อธิบายให้เห็นชัดๆ ก็คือ ก่อนเริ่มเกมส์การแข่งขันนั้นนักแข่งจะไม่ได้นั่งอยู่บนรถเหมือนโรดเรซซิ่งทั่วไป แต่นักแข่งและตัวรถแข่งคู่กายจะอยู่กันคนละฝั่งของแทร็ค การเริ่มสตาร์ท คือการสับฝีเท้าเข้าหารถแข่งของตัวเองก่อนที่จะรีดมันออกไปสู่เกมส์การแข่งขัน
ชิ้นส่วนเดียวของรถที่สัมผัสกับพื้นแทร็ค….นี่คือโจทย์หินสุดคลาสิคอย่างหนึ่งของซูซูกะ 4 ชั่วโมง เมื่อรถแข่ง 1 คันที่มีนักแข่ง 2 คนสลับกันลงขี่ด้วยความเร็วเต็มที่ และระยะทางมากกว่า 80 รอบสนามของซูซูกะ (สถิติโดยเฉลี่ยของผู้ชนะการแข่งขัน ซูซูกะ 4 ชั่วโมง) กติกากำหนดเอาไว้ให้ใช้ยางได้เพียงชุดเดียวเท่านั้น ยกเว้นกรณีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และทางสนามอนุญาตเท่านั้นจึงจะสามารถเปลี่ยนได้
ประสิทธิภาพการยึดของยางนั้นส่งผลโดยตรงต่อความสามารถของรถแข่งในการทำเวลาต่อรอบ ดังนั้นการรักษายางคู่เดียวให้อยู่ยงจนจบเกมส์นั้นมีความสำคัญอย่างที่สุด สไตล์การขับขี่ การบริหารยางของนักแข่งทั้งสองคน การใช้เบรก ใช้คันเร่งในสนาม ไม่สามารถขี่ได้แบบตามใจฉัน แต่ต้องคำนึงถึงอายุของยางทุกๆ วินาทีอีกด้วย
ตัวแข่งในรายการ ซูซูกะ 4 ชั่วโมงนั้นกำหนดว่าต้องเป็นรถแบบโปรดักชั่น 600 ซีซี (รถที่มีจำหน่าย) ซึ่ง เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่งไทยแลนด์ เลือกไปที่เจ้า Honda CBR600RR ซึ่งสมรรถนะของมันนั้นการันตีเรียบร้อยเมื่อ “เครื่องยนต์” ตัวนี้ เป็นของตัวแข่งชิงแชมป์โลกโมโตจีพี ในรุ่น โมโต 2 มาตลอดหลายปี
การเติมน้ำมันรวดเร็ว พอดี และวางแพลนเกมส์
ไม่น่าเชื่อใช่ไหมว่า การเติมน้ำมันมีผลกับชัยชนะของการแข่งขันเลยทีเดียว นั่นเพราะทุกๆ ครั้งที่เติมน้ำมันนั่นหมายความว่า ต้องเสียเวลาในการทำระยะทางในการแข่งขันไปทันที เนื่องจากรถแข่งต้องวิ่งเข้ามาสู่พิทบ็อกซ์เพื่อรับน้ำมันเข้าสู่ถัง เพราะกติกาของซูซูก้า 4 ชั่วโมงนั้น กำหนดให้รถแข่งต้องเข้ามาเติมน้ำมันที่พิทเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่สามารถที่จะนำน้ำมันออกไปเติมให้รถแข่งในช่วงใดช่วงหนึ่งของสนามได้ (หากหมดก่อนเข้าพิทต้องมีเข็นกันบ้างหล่ะ!)
การเติมน้ำมันให้รวดเร็วและแม่นยำที่สุด เพื่อเป็นการประหยัดเวลาจึงสำคัญมาก! นอกจากนี้แล้วการเข้ามาสู่พิทเพื่อเติมน้ำมันนั้น ทีมแข่งมักจะใช้ช่วงเวลานี้ในการเปลี่ยนตัวนักแข่งลงไปขับขี่ต่ออีกด้วย เพื่อให้นักแข่งคนหนึ่งได้พักและอีกคนหนึ่งได้ทำเวลาต่ออย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเติมน้ำมันแต่ละครั้งจึงต้องคำนวณปริมาณโดยคำนึงถึงระยะทางและความสามารถของนักแข่งคนใหม่ที่จะสามารถขับขี่ในช่วงต่อไป และจะต้องการเข้ามาเติมอีกครั้งเมื่อต้องการเปลี่ยนนักแข่งคนใหม่พอดี นี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ของทีม โค้ช และนักแข่งที่ต้องทำงานร่วมกันให้เป็นทีมมากที่สุดอีกด้วย
เวลา 4 ชั่วโมง รถแข่ง 1 คัน และนักแข่ง 2 คน ทีมไหนวิ่งได้จำนวนรอบสนามซูซูกะมากที่สุด ก็จะได้เป็นผู้ชนะ กติกาสุดชัดเจนและง่ายต่อการเข้าใจ แต่มิติของมันอยู่ที่การจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้ต่างหากที่ยากยิ่ง! ผู้ชนะจึงต้องพร้อมที่สุด ทั้งทีมงาน รถแข่ง การแก้ปัญหา การเตรียมความพร้อม นี่คือการวัดความพร้อม กำลังกาย กำลังแรงใจและความท้าทายอย่างใหญ่หลวงที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น
เป้าหมายของทีมแข่งไทย 100% อย่าง A.P. Honda Racing Thailand
การได้รับชัยชนะนั้นสุดสำคัญทุกๆ เวทีการแข่งขันอยู่แล้ว แต่การชนะในเวทีระดับนานานชาติด้วยนักแข่งไทย ทีมงานไทยล้วนๆ ต่างหากคือเป้าหมายอีกหนึ่งระดับที่ เอ.พี.ฮอนด้า เรซวิ่ง ไทยแลนด์ตั้งเป้าเอาไว้ ทุกความทุ่มเทแน่นอนว่ามันต้องใช้ทุน หยาดเหงื่อ แรงกายแรงใจ และเวลากว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ พวกเขาตั้งมั่นอย่างแนวแน่ว่า จะต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ เพราะมันคือบททดสอบความสำเร็จอีกหนึ่งระดับที่ท้าทาย และจะเป็นบันไดให้พวกเขาได้ก้าวไปสู่เวทีที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก “โมโตจีพี” นั่นคือเป้าหมายสูงสุดที่ “เอ.พี.ออนด้า” ตั้งเป้าไว้
พบและเป็นกำลังใจให้กับ เอ.พี.ฮอนด้า เรซซิ่ง ไทยแลนด์ ในการแข่งขันรายการซูซูกะ 4 ชั่วโมง ฤดูกาล 2018 นี้ รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เชียร์ทีมไทยแท้ๆ เพื่อความภาคภูมิใจของคนไทย จากทีมไทย นักแข่งไทย ไปพร้อมๆ กันกับ BNK48 และกองเชียร์ชาวไทยกว่า 300 ชีวิต บินลัดฟ้ามากำลังใจกันถึงขอบสนามประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว
อ่านข่าว Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ