รีวิว GPX Drone โดยพวกเราทีมงาน MotoRival มาแล้วครับ กับรถมอเตอร์ไซค์แนว AT คันแรกจากแบรนด์ไทยโกอินเตอร์ ที่พึ่งเปิดตัวกันไปสดๆร้อนๆเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มันจะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง เรามาว่ากันเลยครับ
แต่ก่อนที่จะพูดถึง รีวิว GPX Drone ตัวรถ เราอยากให้เพื่อนๆทำความเข้าใจก่อนว่า เจ้า Drone คันนี้ เป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่ถูกพัฒนาขึ้นระหว่างความร่วมมือของ GPX และทาง SYM ซึ่งในฝั่ง SYM นั้น จริงๆแล้วพวกเขาถือเป็นผู้ผลิตสัญชาติไต้หวัน ที่ถนัดและช่ำชองอย่างมากในการทำรถสกู๊ตเตอร์ด้วยประสบการณ์มากกว่า 60 ปี ซึ่งแม้ครั้งหนึ่งพวกเขาจะเคยเข้ามาทำตลาดในไทยและหายไป แต่กลับกันในบ้านเกิดของตนเอง และทวีปยุโรป พวกเขาถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จนถึงขนาดที่ค่ายยุโรป หรือค่ายญี่ปุ่นเจ้าดังเองยังเคยจ้าง SYM ให้ช่วยพัฒนาและผลิตรถสกู๊ตเตอร์ให้ ซึ่งบางคันก็ยังวางจำหน่ายอยู่ในตอนนี้ด้วย
ส่วนแนวทางในการพัฒนาเจ้า Drone คันนี้ เบื้องต้นในเรื่องของดีไซน์ภายนอก มากกว่า 90% ทาง GPX จะเป็นคนออกแบบเส้นสายขึ้นเอง จากข้อมูลที่ตนเองได้ทำการวิจัยมา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ทาง SYM เข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้มันเข้ากับโครงสร้างต่างๆของรถที่ต้นเองสร้างขึ้น นั่นจึงหมายความว่าในเรื่องของเทคโนโลยต่างๆที่อยู่ในรถคันนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเทคโนโลยีที่ทางค่ายไต้หวันทำขึ้นมาโดยอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆจากทาง GPX เพื่อพัฒนาตัวรถให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าเช่นกัน
ด้านระบบไฟส่องสว่างรอบคัน เป็นแบบ Full LED พร้อม Daytime Running Light ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในรูป Y Shape แบบคว่ำ พร้อมดีไซน์แบ่งตำแหน่งไฟสูงและไฟต่ำแบบแยกชั้น มีไฟหน้ารวมทั้งหมด 10 ดวง ให้ความสว่างพร้อมความงามทั้งกลางวันและกลางคืน
เถิบขึ้นมาหน่อยก็จะพบกับแถบไฟเลี้ยวที่เป็นหลอด LED เหมือนกัน
ด้านหลังเองก็เป้นโคมไฟ LED แยกส่วนซ้ายขวาเช่นกัน
ชิลด์หน้าสีดำที่ให้มาไม่สามารถปรับความสูง-ต่ำได้
ขยับขึ้นมาที่แฮนด์บาร์ ก็จะพบว่ามันเป็นแบบยึดด้วยตุ๊กตาแฮนด์ แต่เปลือยท่อนบนเอาไว้เพื่อง่ายต่อการติดตั้งของแต่งเสริมต่างๆ เชนขาจับโทรศัพท์หรือ GPS โดยที่ประกับสวิทช์ฝั่งด้านขวา ก็จะะมีทั้งสวิทช์ Off-Run ซึ่งปกติจะไม่มีมาให้ในรถสกู๊ตเตอร์, สวิทช์สตาร์ท, และไฟฉุกเฉินด้านหน้า ส่วนประกับสวิทช์ฝั่งซ้ายมีปุ่มแตร, ไฟเลี้ยว, ปรับไฟสูง-ต่ำ, และไฟกระพริบขอทาง
เรือนไมล์เป็นแบบ Full-Digital LCD แถบยาว แสเงผลค่าพื้นฐานครบครัน แถมมีวัดรอบมาให้ และสามารถปรับตั้งค่านาฬิกา หรือ set ทริปการเดินทางได้
ช่วงคอนโซลด้านล่างฝั่งซ้ายเป็นช่องเก็บของ มีฝาปิด เปิดด้วยการกดย้ำด้านบน ขนาดช่องด้านในใหญ่พอที่จะใส่กระเป๋าสตางค์ เพาเวอร์แบงค์ และโทรศัทพ์ได้สบายๆ นอกจากนี้ยังมีพอร์ทชาร์จไฟแบบ USB มาให้ด้วย
คอนโซลฝั่งขวาเหนือขึ้นมาหน่อยก็จะมีเอมเบลม GPX x SYM เพื่อแสดงถึงความร่วมมือในการพัฒนาตัวรถรุ่นนี้ระหว่างสองผู้ผลิต ด้านล่างมีลูกบิดกุญแจแบบ Keyless แต่ต้องกดปลดล็อคที่ตัวกุญแจก่อนถึงจะบิดลูกบิดได้ แถมยังมาพร้อมกับระบบสัญญาณกันขโมย (ที่ค่อนข้างขี้ระแวงพอสมควร)
ซึ่งตัวกุญแจรีโมนี้จะมีการซ่อนดอกกุญไว้ภายในด้วย เผื่อในกรณีที่ถ่านรีโมทหมด อย่างน้อยก็ยังสามารถไขบิดโดยตรงได้
เบาะนั่งตอนยาว แต่แบ่งขั้นชัดเจนระหว่างผู้ขี่และผู้ซ้อน มีการเดินตะเข็บพร้อมสกรีนโลโก้ GPX บนพื้นหนังสังเคราะห์สีแดง
ใต้เบาะมีความจุมากพอที่จะใส่หมวกกันน็อคเต็มใบขนาดใหญ่ได้ 1 ใบ พอดิบพอดี
เนื่องจากพื้นที่ด้านหลังเป็นถังน้ำมันขนาด 7.5 ลิตร นอกจากนี้ฝาปิดยังเป็นแบบพิเศษไม่ใช่แบบบิดหมุนเกลียวแบบปกติ
แฟริ่งท้ายมีการแปะโลโก้ Drone แบบ 3 มิติ
ชุดล้อที่ให้มาเป็นแบบอัลลอยด์ขอบ 14 นิ้ว รัดด้วยยางทูบเลส ไซส์ 100/90-14 ด้านหน้า และ 110/80-14 ด้านหลัง ซึ่งถ้าสังเกตดีๆก็จะพบว่ามันมีครอบล้อขนาดใหญ่สำหรับบังโคลน และกันฝนดีดให้ด้วย
ขาตั้งข้างเป็นแบบท่อเหล็กกลมแข็งแรง โดยมาพร้อมกับเซนเซอร์จับตำแหน่ง เพื่อป้องกันการเผลอสตาร์ทเครื่องยนต์แต่ยังลืมพับเก็บขาตั้งของผู้ขี่
มิติตัวรถ
กว้าง x ยาว x สูง : *760 x 2,000 x 1,115 mm.
ระยะห่างจากพื้นถึงเครื่อง : 107 mm.
ระยะห่างช่วงล้อ : 1,350 mm.
ความสูงจากพื้นถึงเบาะ : 780 mm.
น้ำหนักสุทธิ : 140 kg.
ท่านั่งแฮนด์บาร์ ความกว้างกำลังดี และด้วยระยะปลอกแฮนด์ที่ค่อนข้างกว้าง จึงทำให้ผู้ขี่สามารถปรับระยะในการจับแฮนด์ได้ตามถนัด ขณะที่ระยะค่อนข้างใกล้ตัว แต่ค่อนข้างเตี้ยเล็กน้อย ทำให้เวลานั่งจะรู้สึกแขนตกนิดๆ แม้ว่าตัวผู้ทดสอบจะไม่ได้เป็นคนตัวสูง ส่วนลำตัวช่วงล่าง แม้เบาะจะสูงเพียง 780 มม. แต่ด้วยลำตัวที่ค่อนข้างกว้าง จึงทำให้ยังไม่สามารถวางเท้า 2 ข้างได้เต็มฝ่าเท้าเท่าไหร่นัก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เนื่องจากศูนย์ถ่วงรถค่อนข้างต่ำ
ส่วนฟลอบอร์ดค่อนข้างยาว ชนิดที่ว่าต่อให้เหยียดขาเต็มที่ก็ยังเหยียบได้ไม่สุด แต่ยังดีที่พื้นยางมีความหนืดกำลังดี ทำให้ไม่ต้องพะวงเรื่องเท้าลื่นตอนเบรกหนักๆ และความกว้างของลำตัวรถตรงกลางก็อยู่ในระยะที่เหมาะสม ไม่เพรียวหรือหนาจนเกินไป ติดตรงที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าพื้นที่ตรงกลางตรงนี้มีชิ้นส่วนอะไรของตัวรถติดตั้งอยู่ เนื่องจากถังน้ำมันอยู่ที่ใต้เบาะไปแล้ว หรือาจจะเป็นพื้นที่ของแบตเตอรี่ก็ได้ ขณะที่กรอบแฟริงข้างตัวรถไม่ปรากฏจุดให้ยึดแครชบาร์แต่อย่างใด
ขณะที่เบาะนั่งผู้ซ้อนนั้นมีขนาดใหญ่เต็มก้น แม้ผุ้ทดสอบจะมีหุ่นค่อนข้างหนา ก็ยังสามารถนั่งได้สบายๆ และมือจับกันตกด้านหลังเองก็ออกแบบมาให้มีความแข็งแรง โดยที่ผุ้ซ้อนก็สามารถจับได้อย่างกระชับมั่นคง
ด้านความสามารถในการลัดเลาะช่องจราจร แม้จากตัวเลขมิติตัวรถของมันจะบ่งบอกว่าขนาดตัวเจ้า Drone บึกกว่าคู่แข่งในแทบทุกส่วน แต่ถ้าหากต้องเจอช่วงรถติดจริงๆแล้ว พบว่าเราก็ยังสามารถมุดช่องจราจรได้ปกติ ไม่ได้มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในคลาสเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสูงกระจกมองข้าง และความกว้างของลำตัวรถ
เครื่องยนต์ สูบเดียว SOHC , 2 วาล์ว , 149.6 ซีซี , *ระบายความร้อนด้วยน้ำ (หม้อน้ำ) จ่ายน้ำมันด้วยหัวฉีดเทคโนโลยีจาก SYM ส่งกำลังด้วยสายพาน C.V.T แต่น่าเสียดายที่ทาง GPX ไม่ได้มีการระบบตัวเลขกำลังสูงสุดและแรงบิดสูงสุดเอาไว้ ทว่าจากการใช้งานจริง พบว่าคาแร็คเตอร์ของรถคันนี้ จะมีช่วงต้นที่ค่อนข้างนิ่มนวล ไม่ได้โดดหรือพุ่งออกในช่วงแรก ส่วนหนึ่งก็คาดว่าจะเป็นเพราะน้ำหนักตัวไม่รวมของเหลวที่มากถึง 140 กิโลกรัม (ไม่ใช่ 150 กิโลกรัมอย่างที่ถูกระบุไว้ในข้อมูลตอนแรก)
หลังจากนั้นพอรอบเครื่องยนต์เริ่มคลอไปถึงระดับ 7,000 รอบ/นาที และความเร็วแตะ 70 กม/ชม จะรู้สึกได้ว่ามันสามารถไต่ความเร็วได้ต่อเนื่องยิ่งขึ้นโดยเฉพาะช่วง 80-90 กม/ชม. พอพ้นช่วง 110 กม/ชม. หากไม่หมอบหลมลมจะไต่ขึ้นความเร็วมากกว่านี้ค่อนข้างช้า แต่จากการทดสอบ Top Speed ก็พบว่ามันทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียวเพราะแตะหลัก 131 กม/ชม ตามเรือนไมล์ ซึ่งนี่เป็นตัวเลขที่ได้จากคนขี่ที่หนักถึง 90 กิโลกรัม และถ้าหากเพื่อนๆตัวเบากว่านี้ก็อาจจะทำได้ถึง 137 กม/ชม เลยทีเดียว จากการสอบถามกรุ๊ปสื่อที่ไปทดสอบรถด้วยกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าเครื่องยนต์และการเซ็ทระบบส่งกำลังของเจ้า Drone นั้นจะเป็นประเภทต้นนิ่มแล้วไหลปลาย
ด้านประเด็นในเรื่องความสั่นสะท้าน พบว่าเครื่องยนต์ของเจ้า Drone นั้น เป็นขุมกำลังอีกลูกหนึ่งที่สั้นสะท้านค่อนข้างน้อยมากเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นรอบต่ำหรือรอบสูง และด้านอัตราสิ้นเปลืองหากเป็นตัวเลขที่ GPX เคลมเอาไว้ ก็จะอยู่ที่ 39 กม/ล ส่วนในการทดสอบจริงแบบบิดไม่ยั้งโดยตัวผู้ทดสอบเองก็จะหล่นลงไปอยู่ที่ราว 30 กม/ล ซึ่งก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ระบบกันสะเทือนของ Drone ด้านหน้าจะเป็นแบบตะเกียบคู่หัวตั้ง ด้านหลังเป็นแบบโช้กคู่ สามารถปรับพรีโหลดได้ 3 ระดับ และจากการใช้งานจริง พบว่าการเซ็ทติ้งระบบกันสะเทือนของสกู๊ตเตอร์คันนี้ จะค่อนไปทางความเฟิร์ม กระชับ สามารถซับแรงจากลอนคลื่นได้อยู่หมัด แต่หากเจอหลุมหนักๆก็ยังมีอาการกระทั้นขึ้นมาบ้าง
ขณะที่การพลิกเลี้ยว ด้วยความที่ระยะเทรลของมันค่อนข้างเยอะ และฐานล้อก็ค่อนข้างยาว เมื่อเทียบกับคู่แข่ง จึงทำให้หน้ารถเจ้า Drone มีความนิ่งพอสมควร แต่เมื่อพลิกรถลงไปแล้ว ตัวรถกลับสามารถจิกไปกับโค้งแบบเลี้ยวเข้าไปทั้งลำง่ายๆ ไม่มีอาการหน้าดื้อ หรือท้ายหวิวให้รู้สึกเท่าไหร่นัก สามารถเอียงรถเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ เพราะตัวยางที่ให้มาก็ยังสามารถเกาะถนนได้ดี ไม่มีอาการออกมาแต่อย่างใด ทว่าหากเพื่อนอยากให้ท้ายรถคม และเลี้ยวตามล้อหน้ากว่านี้ขึ้นไปอีกก็สามารถปรับความแข็งเพิ่มขึ้นได้เลย ติดอยู่แค่นิดเดียวก็ตรงที่ท้องรถค่อนข้างต่ำ ทำให้หากเลี้ยวไปแล้วเจอเนินขึ้นมา ขาตั้งคู่จะขูดพื้นง่ายมากๆ
ปิดท้ายด้วยระบบเบรกที่จัดเต็มที่เป็นอันดับต้นๆในคลาส ณ ตอนนี้ เพราะจะเป็นระบบดิสก์เบรกหน้า-หลัง โดยด้านหน้าจะใช้จานเบรกขนาด 260 มิลลิเมตร ทำงานร่วมปั๊ม 2 พอร์ท ด้านหลังเป็นจานเบรกขนาด 220 มิลลิเมตร ทำงานร่วมปั๊ม 1 พอร์ท ไม่เพียงเท่านั้นยังใช้สายเบรกแบบถักยกชุด เสริมด้วยระบบกระจายแรงเบรก CBS ซึ่งจากการทดสอบจริงพบว่าระบบเบรกของ Drone แม้ก้านเบรกอาจจะสู้มือไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถไล่น้ำหนักได้ดี แถมทำงานได้อย่างหายห่วง มั่นใจและเอาอยู่กับสมรรถนะและน้ำหนักตัวของมัน เหลือแค่เพียงระบบ ABS ที่ยังไม่มีมาให้ แต่เท่านี้ก็ถือว่าคุ้มแล้วกับค่าตัวรถ
สรุป GPX Drone รีวิว สกู๊ตเตอร์คันแรกจากแบรนด์ไทย ภายใต้ความร่วมมือกับ SYM ผู้ผลิตดังสัญชาติไต้หวันคันนี้ ถือว่าเป็นพรีเมียมสกู๊ตเตอร์อีกอันที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมาพร้อมกับสมรรถนะการใช้งานก็ทำได้ดีไม่แพ้คู่แข่งในตลาด ทั้งในด้านขุมกำลังที่มีกำลังปลายเหลือเฟือ ความคล่องตัวในการพลิกเลี้ยวที่เฉียบคม โดยเฉพาะกับระบบเบรกที่หายห่วง รวมถึงฟีเจอร์เสริมอย่างกุญแจ Keyless พร้อมระบบสัญญาณกันขโมย และที่โดดเด่นที่สุดคือเรื่องของหน้าตาที่มั่นใจได้เลยวาดุดันที่สุดในคลาส ตามนิยาม “ชีวิตอิสระ อย่างมีดีไซน์”
สำหรับ GPX Drone จะมีรุ่นย่อยให้ลูกค้าได้เลือกซื้อทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน
• รุ่น Standrad ราคาแนะนำขายอยู่ที่ 65,900 บาท
มีให้เลือก 2 เฉดสีพิเศษ
– สี GALAXY BLACK
– สี ROSSO RED
• รุ่น Keyless ราคาแนะนำขายอยู่ที่ 69,800 บาท
มีให้เลือก 3 เฉดสีพิเศษ
– สี ROSSO RED
– สี SILVER GREY
– สี RACING YELLOW
และ รุ่น Keyless Special ในสีพิเศษ MIDNIGHT BLUE (MATT)
ราคาแนะนำขายอยู่ที่ 70,800 บาท
นอกจากนี้ หากเพื่อนๆคนไหนที่สนใจ GPX Drone โดยจองรถผ่านระบบออนไลน์ www.gpxthailand.com ก่อนวันที่ 13 ธ.ค. 63 เท่านั้น รับข้อเสนอสุดพิเศษ ฟรี! ส่วนลดแทนเงินสด 3,000 บาท และ ฟรี! ค่าจดทะเบียน + พรบ. และหากลงทะเบียนการจองรถกับเว็บกรุงศรีเพิ่มอีกก็รับดอกเบี้ยสุดพิเศษไปเลย 1.39% ต่อเดือน แต่เฉพาะผู้ที่ลงทะเบียน 500 คันแรกเท่านั้น
– รณกฤต ลิมปิชาติ : Test Rider, Writer
– ภณ เพียรทนงกิจ : Photo
อ่านข่าวสาร GPX เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านรีวิวอื่นๆเพิ่มเติมที่ได้ที่นี่