เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติคงเป็นของที่เราเริ่มเห็นกันบ้างแล้วในโลกของรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นตัวช่วยเล็กน้อยอย่างระบบควบคุมความเร็วที่สามารถเร่งและเบรกได้เองอย่าง Cruise Control หรือระบบที่เข้ามาควบคุมตัวรถในระดับที่สามารถแซงและเปลี่ยนเลนได้เอง ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่ยังดูห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่สักหน่อย แต่เราก็ต่างมั่นใจว่าระบบเหล่านี้คงจะวางจำหน่ายในอนาคตอันใกล้ แล้วระบบเหล่านี้เข้าใกล้ความจริงขนาดไหนสำหรับรถมอเตอร์ไซค์หละ
วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาดูสิทธิบัตรของ Honda ที่วางแผนพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ แต่ถึงแม้ว่าสิทธิบัตรที่เรานำมาให้ดูจะเป็นของค่ายปีกนก แต่ขณะเดียวกันค่ายรถรายอื่นก็กำลังซุ่มพัฒนาระบบของตัวเองอยู่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น Kawasaki, Ducati, BMW, KTM ซึ่งแต่ละค่ายก็มีแผนสำหรับแก้ปัญหาและไปสู่เป้าหมายด้วยวิธีการที่ต่างกันออกไป
โดยสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกันเทคโนโยลีล้ำสมัยนั้นก็ถูกจดโดยค่ายปีกนกอยู่เรื่อย ๆ แต่สิทธิบัตรล่าสุดนี้คือระบบที่รวมการทำงานของหลายระบบเข้าไว้ด้วยกันมีชื่อว่า “Drive Assistance Device for a Saddle Riding Type Vehicle” ที่มีการนำระบบ LiDAR ที่จะทำหน้าที่สแกนสภาพแวดล้อมด้วยเลเซอร์ เพื่อทำการวัดระยะและรูปทรงของวัตถุโดยรอบ และจำลองสภาพแวดล้อมภายในคอมพิวเตอร์ ทำให้ตัวรถสามารถรับรู้ถึงสิ่งกีดขวางและวัตถุรอบข้างได้
และข้อมูลที่ได้รับมาก็จะถูกนำไปประมวลผล ก่อนที่จะส่งข้อมูลไปที่แผงคอบังคับเลี้ยวของรถเพื่อควบคุมการหักเลี้ยวในกรณีฉุกเฉิน ตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มรู้สึกแล้วว่ามันเหมือนกับพวงมาลัยพาวเวอร์แบบเดียวกับที่มีในรถยนต์ที่มีฟังก์ชั่นขับขี่อัตโนมัติ ที่สามารถรับรู้แรงกระทำของผู้ขี่ เสริมหรือลดแรงกระทำต่อแผงคอ ช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องออกแรงมากเพื่อเลี้ยว รวมถึงต้านไม่ให้แรงกระทำจากล้อส่งมาถึงมือมากเกินไป เหมือนกับกันสะบัด แน่นอนว่ามันรวมถึงการเข้าควบคุมการเลี้ยวของรถเองด้วย
ระบบอื่นที่มีการทำงานร่วมกันนั้นยังรวมถึงเซนเซอร์ที่ทำหน้าที่ตรวจดูว่าผู้ขับขี่กำลังจับแฮนด์หรือวางเท้าในตำแหน่งพักเท้าหรือไม่ เช่นเดียวกับการตรวจสอบการจับพวงมาลัยรถยนต์ขับอัตโนมัติ หรือกล้องที่จะถ่ายผู้ขี่อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้โปรแกรมช่วยประมวลผลท่าทางของผู้ใช้เพื่อที่จะได้ควบคุมรถตามความต้องการจริง ป้องกันความผิดพลาดที่ผู้ใช้ต้องการทำอย่างนึง แต่รถดันตอบสนองอีกอย่าง นอกจากนี้ระบบยังทำงานร่วมกับ GPS แบบละเอียด ทำให้สามารถระบุตำแหน่งและเส้นทางการวิ่งหรือแม้แต่การเข้าโค้งได้ละเอียดมากขึ้น
แต่ท้ายที่สุดแล้ว เราคงยังไม่ได้เห็นระบบดังกล่าวถูกนำมาใช้งานจริงในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากความต้องการตัวช่วยเหล่านี้ในรถมอเตอร์ไซค์นั้นยังมีน้อย เพราะคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์หลายคน หรือกลุ่มเป้าหมายของรถหลายรุ่นนั้นก็เน้นไปที่ความสนุกในการขับขี่และควบคุมด้วยตัวเองมากกว่า รวมถึงน้ำหนักหรือความซับซ้อนที่เพิ่มเข้ามา ก็จะส่งผลให้ราคาของตัวรถนั้นสูงขึ้นมากอีกด้วย
อ่านข่าวสาร Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่