รีวิว CRF450RL จากพวกเราทีมงาน MotoRival กลับมาให้เพื่อนๆได้อ่านกันอีกครั้ง หลังจากที่คราวก่อนเราได้เคยรีวิวมันไปแล้วเมื่อครั้งตอนเปิดตัวใหม่ๆกับการทดสอบแบบบุกตะลุยตามลักษณะการใช้งานจริงๆของรถ แต่ในวันนี้ เราขอนำมันกลับมาทดสอบอีกครั้งในรูปแบบของการใช้งานในเมือง ว่ามันจะทำได้ดีแค่ไหน ?
ก่อนอื่น CRF450RL ถือเป็นรถมอเตอร์ไซค์แนวดูอัล-เพอร์โพสต์ เพียงรุ่นเดียวในประเทศตอนนี้ ที่มีสเปคใกล้เคียงกับตัวแข่งในศึก FIM Motocross World Championship (MXGP) มากที่สุด เนื่องจากมันคือตัวรถที่ถูกสร้างบนพื้นฐานของตัวแข่ง Honda CRF450R จริงๆ หรือถ้าเพื่อนๆมองไม่เห็นภาพ มันก็เหมือนกับแนวคิดในการสร้าง Honda RC213V-S จากพื้นฐานของตัวแข่ง Honda RC213V ต่างกันตรงที่มันไม่ได้เป็นรถที่ถูกผลิตในจำนวนจำกัด ใครๆก็สามารถซื้อหาได้
ดังนั้นหากมองโดยผิวเผิน เราก็จะพบว่าตัวรถรุ่นนี้นั้น มีเส้นสายชิ้นแฟริ่งที่แทบไม่แตกต่างจาก CRF300L มากเท่าไหร่นัก ซึ่งทั้งนี้ก็เพราะเส้นสายของมันได้ถูกส่งต่อไปยังรุ่นน้องแบบแทบจะยกชุดนั่นเอง
อย่างไรก็ดีในส่วนของชุดไฟหน้าที่เป็นแบบโคม LED โปรเจกเตอร์ 4 ดวงนั้น ตัวเบ้าไฟของ CRF450RL จะเป็นสีดำ ครอบด้วยเลนส์สีรมดำอีกชั้น ต่างจากรุ่นน้องที่ใช้เบ้าไฟสีเงินหรือสีโครเมียม แล้วครอบด้วยเลนส์สีไสเท่านั้น ขณะที่ไฟเลี้ยวยังคงเป็นโคม LED ทรงยอดนิยม
ส่วนชุดไฟท้ายแน่นอนว่าจะต้องเป็นแบบ LED แต่ตัวโคมมีลักษณะทรงคล้ายกับของ Honda Grom 125 และจะติดตั้งอยู่บนชุดขาอลูมิเนียมที่สามารถถอดออกแบบยกชุดได้สบายๆเพื่อรองรับการใช้งานแบบบุกตะลุยเต็มพิกัด
ขณะเดียวกันมันก็มาพร้อมกับอุปกรณ์ตกแต่งที่จัดเต็มกว่า ทั้งการ์ดแฮนด์
แฮนด์บาร์พร้อมฟองน้ำกันกระแทก สเปคเดียวกับตัวแข่ง จาก Renthal Made in U.K. พร้อมแผงคออลูมิเนียมน้ำหนักเบาแปะโลโก้ “HRC” บ่งบอกความเป็นสายเลือดตัวแข่งพันธ์แท้ !
ชุดสวิทช์แฮนด์ให้มาเท่าที่จำเป็นทั้งในเรื่องของปุ่ม และขนาด นั่นคือ ชุดสวิทช์สตาร์ทเครื่องยนต์ และสวิทช์ Off-Run ซึ่งจะเห็นได้ว่าทาง Honda ได้มีการออกแบบเสริมตัวครอบป้องกันนิ้ว หรือกิ่งไม้เผลอไปกดดับเครื่องโดยไม่ตั้งใจด้วย
ส่วนปุ่มทางประกับสวิทช์ด้านซ้าย จะมีทั้ง ชุดสวิทช์ไฟสูง/ต่ำ+กระพริบไฟ, แตร, และไฟเลี้ยว
มาตรวัดแบบดิจิตอล ขนาดกระทัดรัดแสดงผลเท่าที่จำเป็นเช่นกัน ทั้ง ความเร็ว, ระยะทางรวม, ระยะทางทริป (A/B), ปริมาณน้ำมันที่ใช้ตลอดทริป (A/B), อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง, และเวลา
มีการ์ดพลาสติกครอบแครงก์เครื่องยนต์มาให้เสร็จสรรพเนื่องจากแครงก์เดิมๆทำจากวัสดุแมกนีเซียมน้ำหนักเบาแบบเดียวกับที่ใช้ในตัวแข่ง CRF450R
พักเท้าหนามพับได้ และตัวแป้นคันเกียร์กับแป้นคันเบรกเองก็เป็นแบบพับได้เพื่อป้องกันการบิดงอตอนล้มเช่นกัน
ขาตั้งข้างอลูมิเนียมก้านยาวพิเศษ แต่ก็แข็งแรงจนสามารถรับน้ำหนักผู้ขี่รวมชุดครบเซ็ทหลัก 100 กิโลกรัมตอนใช้วิธีเหยียบพักเท้าเพื่อคร่อมเบาะขึ้นขี่ได้สบายๆ
ถังน้ำมันไทเทเนียมเน้นความเบาขนาดความจุ 7.6 ลิตร และฝาถังเป็นแบบมีวาล์วป้องกันน้ำมันไหลออกหากรถเกิดล้มขึ้นมา
หม้อน้ำแบบคู่ วางตั้งแยกฝั่งซ้าย-ขวา พร้อมพัดลมไฟฟ้าเพื่อการระบายความร้อนที่ดีกว่า
ท่อไอเสียสแตนเลสขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ถูกออกแบบไส้ในให้กรองไอเสียได้ดีเป็นพิเศษ และเน้นการลดเสียงให้ผ่านตามมาตรฐานมลพิษที่ภาครัฐกำหนด
ด้านชุดเฟรมของ CRF450RL ก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นเฟรมอลูมิเนียม รูปแบบเดียวกันกับที่ใช้ในตัวแข่ง CRF450R เหมือนกันแทบทุกอย่างทั้งวัสดุ, ความสูง, ความยาว, และองศาแผงคอ (28.30 องศา กับระยะเทรล 122 มิลลิเมตร) เว้นเพียงจุดเดียวคือช่วงกลางของตัวเฟรมที่จะกว้างกว่ากันเล็กน้อย เนื่องจากห้องเกียร์ของเครื่องยนต์ในตัว RL จะกว้างกว่าห้องเกียร์ของเครื่องยนต์ในตัว R เนื่องจากมีการปรับจากเฟืองเกียร์ 5 ระดับ เป็น 6 ระดับ นั่นเอง
นอกจากนี้ ถ้ามองไปที่ชุดเฟรมช่วงแผงคอก็จะพบกับสติ๊กเกอร์ที่บ่งบอกว่า นี่คือตัวรถที่ผลิตและนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นแบบทั้งคัน
เบาะนั่งเพรียวบางและยาวตามสไตล์โมโตครอสไบค์ ทำให้ในจังหวะนั่งขี่ก็สามารถขยับตัวไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้อยากไม่มีติดขัด
ชุดสวิงอาร์มมีรูปทรงและขึ้นรูปด้วยวัสดุเดียวกับกับตัวแข่ง CRF450R เช่นเดียวกับชุดเฟรม แต่ไส้ในของมันจะมีการใส่ของเหลวคือสารยูรีเทนอัดไว้ด้วยเพื่อช่วยลดแรงสั่นสะเทือนจากผิวถนน รวมถึงลดเสียงของหน้ายาง
ชุดล้อเป็นแบบซี่ลวดขอบอย่างดีรุ่น DirtStars จาก D.I.D รัดด้วยยางไซส์ 80/100-21 M/C 51P ทางด้านหน้า และ 120/80-18 M/C 62P ทางด้านหลัง ซึ่งรุ่นยางที่ให้มา ก็จะเป็นยางหนามแบบ On/Off Road รุ่นเดียวกับ CRF300L/CRF300 Rally เป๊ะๆ
มิติตัวรถ
ขนาด กว้าง x ยาว x สูง : 845 x 2,280 x 1,260 มิลลิเมตร
ระยะห่างช่วงล้อ : 1,500 มิลลิเมตร
ระยะห่างจากพื้น : 315 มิลลิเมตร
ความสูงของเบาะ : 944 มิลลิเมตร
มุมคาสเตอร์/ระยะเทรล : 28.30° / 122 มิลลิเมตร
น้ำหนักสุทธิ : 131 กิโลกรัม
ด้านท่านั่ง แม้เบาะจะสูง 944 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่า CRF300 Rally ขึ้นไปอีก แต่ด้วยความบางของช่วงเฟรม และตัวเบาะ ทำให้ผู้ขี่ต้องกางขามากเท่าไหร่นักในท่ายืนจอด แต่ยังไงสำหรับผู้ขี่ที่สูงไม่ถึง 170 เซนติเมตร หากต้องยืนจอด 2 ขา ก็ต้องใช้ปลายเท้าแตะพื้นอยู่ดี ไม่สามารถใช้อุ้งเท้าแตะพื้นได้เลย หากไม่เอียงรถแล้วใช้ขาข้างเดียวแตะพื้น ทว่าอย่างน้อยด้วยน้ำหนักตัวที่เบาเพียง 131 กิโลกรัม จึงทำให้ไม่ต้องพะวงเรื่องการล้มแปะมากเท่าไหร่นัก
ส่วนความสามารถในการลัดเลาะ แม้แฮนด์จะกว้างและมีการ์ดแฮนด์เสริมขึ้นมา แต่ความสูงของมันก็สามารถข้ามกระจกมองข้างของรถเก๋งไปได้สบายๆ อาจจะมีต้องโยกหลบกระจกมองข้างรถกระบะเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่มิติตัวรถทางด้านข้างหายห่วงไปได้เลย เนื่องจากตัวรถค่อนข้างเพรียวบางตามสไตล์ดูอัล-เพอร์โพสต์ไบค์อยู่แล้ว ดังนั้นในเรื่องของการมุดช่องจราจรแคบๆจึงต้องบอกว่าหายห่วง เว้นเพียงเรื่องความสูงเบาะที่เราได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ และด้วยเบาะที่ค่อนข้างแคบ จึงทำให้ขณะที่มันมีข้อดีคือเรื่องของความเพรียวบาง ออกแอคชันต่างๆได้ง่าย แต่ถ้านั่งขี่นานๆก็จะมีอาการปวดเมื่อยสวนขึ้นมาเมื่อนั่งขี่ไปนานๆเช่นกัน
ส่วนขุมกำลังของมันก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นเครื่องยนต์บล็อคสูบเดียว ความจุ 449cc ระบายความร้อนด้วยน้ำ ใช้กลไกการเปิด/ปิดวาล์วแบบ Unicam เพื่อการลดน้ำหนักและลดแรงเฉื่อยในช่วงรอบต่ำ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานั้นเครื่องยนต์ถูกยกมาจากตัวแข่ง CRF450R แทบทั้งลูก เว้นเพียงในส่วนของกำลังอัดที่ถูกปรับลงจาก 13.5 : 1 เหลือ 12.0 : 1, เปลี่ยนลูกสูบจากแบบ 1 แหวน เป็นแบบ 3 แหวน เพื่อความทนทาน, เพิ่มขนาดของเพลาข้อเหวี่ยงเพื่อเพิ่มความนุ่มนวลในการไล่รอบของเครื่องยนต์ และเพิ่มแรงบิดในรอบต่ำอีก 13% เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ของ CRF450R แต่ทั้งนี้ผู้ขี่ก็ยังจะต้องคอยเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และทำความสะอาดกรองอากาศทุกๆ 1,000 กิโลเมตรอยู่ดี เพื่ออายุการใช้งานของเครื่องยนต์ที่ยาวนาน (ซึ่งปริมาณน้ำมันเครื่องที่ต้องถ่ายแต่ละครั้งก็ไม่ได้มากมายเท่าไหร่นัก แค่คราวละ 1.1-1.4 ลิตร เท่านั้นเอง)
จากการปรับปรุงทั้งหมดที่ไล่มา ทำให้แรงบิดสูงสุดของเครื่องยนต์ CRF450RL สามารถทำได้ที่ 32 นิวตันเมตร ซึ่งแม้ว่ามันจะไม่ได้แตกต่างไปจาก CRF250L/CRF300L เท่าไหร่นัก เพราะรุ่นน้องของมันทำแรงบิดสูงสุดได้ราวๆ 26-27 นิวตันเมตร แต่ย่านแรงบิดสูงสุดของเจ้า 450 กลับมาในรอบเครื่องยนต์ที่ต่ำเพียง 3,500 รอบ/นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าไวกว่าน้องๆของมันมาก เพราะแรงบิดสูงสุดของรุ่นน้องนั้นกว่าจะมาก็ต้องให้เครื่องยนต์ปั่นไปถึงราวๆ 6,500 รอบ/นาที
และจากคาแรคเตอร์ของเครื่อยนต์ที่ค่อนข้างมีความจี๊ดจ๊าดในรอบต้น กับน้ำหนักตัวรถที่ค่อนข้างเบา จึงทำให้เมื่อนำตัวรถรุ่นนี้มาขี่ใช้งานในเมือง เราพบว่ามันกลับให้ความสนุกสนานในการขับขี่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความติดมือของเครื่องยนต์ในรอบต่ำ ที่สามารถกระแทกคันเร่งในเกียร์ 1 แล้วล้อหน้าลอยได้ง่ายๆโดยไม่ต้องกรอคลัทช์ช่วย และอัตราเร่งจากหยุดนิ่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็รวดเร็วทันใจที่เชื่อได้ว่าไม่มีใครตามทันแน่นอนหากเป็นรถเดิมๆ ก่อนที่จะไปเริ่มตื้อช่วงราวๆ 130 กิโลเมตร/ชั่วโมง เนื่องจากแรงปลายของเครื่องยนต์ลูกนี้ถูกอั้นไว้พอสมควร และความเร็วปลายที่ได้ก็จะอยู่ราวๆ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเกินพอแล้วสำหรับรถมอเตอร์ไซค์แนวนี้
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ปลายท่อไอเสียของ CRF450RL ถูกออกแบบมาให้เน้นการกรองมลพิษ และลดเสียงลงค่อนข้างมาก ดังนั้นมันจึงค่อนข้างอั้น และส่งผลให้มีความร้อนสะสมช่วงคอท่ออยู่พอสมควร เมื่อขี่รถมาแล้วสักราวๆ 30 นาทีขึ้นไป นอกจากนี้ แม้ทาง Honda จะบอกว่าพวกเขาได้ทำการเพิ่มน้ำหนักเพลาข้อเหวี่ยงให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างนุ่มนวลมากขึ้นแล้ว แต่ความสั่นสะท้านตามสไตล์เครื่องยนต์ตัวแข่ง และเครื่องยนต์สูบเดียวลูกโต ก็ยังคงมีให้สัมผัสได้บ้างอยู่ดี
ระบบกันสะเทือนที่ให้มา ทางด้านหน้าก็จะเป็นแบบตะเกียบคู่หัวกลับขนาดแกนใหญ่ถึง 49 มิลลิเมตร ทางด้านหลังก็เป็นโช้กแก๊สเดี่ยว ทำงานร่วมกระเดื่องทดแรง และสวิงอาร์มอลูมิเนียมอย่างที่เราได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งตัวโช้กทั้งด้านหน้าและด้านหลังจากเป็นของ Showa และสามารถปรับเซ็ทได้ทุกค่าในแบบเดียวกับที่ตัวแข่ง CRF450R มีให้
โดยจากการเซ็ทโช้กอัพที่อยู่ใน CRF450RL ที่ค่อนไปทางแข็งและแน่น เพื่อรองรับแรงกระแทกจากการขี่รถผ่านอุปสรรคต่างๆด้วยความเร็วสูง จึงทำให้เมื่อนำตัวรถรุ่นนี้มาใช้งานบนถนนดำ โช้กของมันก็อาจจะไม่ได้สามารถซับแรงกระแทกจากผิวถนนต่างๆได้เนียนกริบเหมือนดูอัล-เพอร์โพสต์ไบค์ทั่วๆไป แต่ในทางกลับกันมันก็ทำให้ตัวรถดูมีความมั่นคงขึ้นมากจากความแข็งและความหนืดของโช้กหน้า-หลังที่ค่อนข้างมากกว่ารถมอเตอร์ไซค์รุ่นน้องๆ เว้นเพียงในเรื่องของหน้ายางแบบหนามที่อาจจะทำให้ต้องระวังกันสักนิดในการเลี้ยวโค้ง
และด้วยช่วงยุบของโช้กที่ค่อนข้างเยอะ ดังนั้นแม้ในความเร็วต่ำมันอาจจะไม่ได้ซับแรงดีขนาดนั้น แต่ถ้าขี่มาเร็วๆต้องเจอลูกคลื่น ฝาท่อ หรือคอสะพาน เพื่อนๆก็สามารถเปิดคันเร่งขี่ผ่าน หรือโดดข้ามไปได้เลย เพราะช่วงล่างของรถคันนี้ถูกออกแบบมาเพื่อการฝ่าอุปสรรคที่หนักหนากว่านั้นได้สบายๆอยู่แล้ว หรือถ้าหากสุดท้ายเพื่อนๆยังไม่พอใจกับประสิทธิภาพ หรือบุคลิกช่วงล่างของเจ้ารถคันนี้ จะลองปรับเซ็ทใหม่ดูก็ได้ เพราะถึงยังไงมันก็เป็นโช้กที่ใช้ระบบกลไกเดียวกับตัวแข่ง CRF450R ซึ่งสามารถปรับเซ็ทได้ทุกค่านั่นเอง
ระบบเบรก ด้านหน้า จานเบรกเดี่ยว ขนาด 260 มิลลิเมตร ทำงานร่วมโฟลทติ้งเมาท์คาลิปเปอร์ 2 ลูกสูบ และ ด้านหลัง จานเบรกเดี่ยว ขนาด 240 มิลลิเมตร ทำงานร่วมโฟลทติ้งเมาท์คาลิปเปอร์ 1 ลูกสูบ
แม้ขนาดปั๊มเบรกทั้งบนและล่างที่ติดมากับ CRF450RL จะมีขนาดค่อนข้างเล็กเพื่อเน้นการไล่เบา และไม่ได้จับไวชนิดที่กดปุ้บติดปั๊บ แต่มันก็แลกมาซึ่งสัมผัสในการไล่แรงเบรกที่ค่อนข้างละเอียด ช่วยให้ผู้ขี่มั่นใจ และเข้าใจกับลักษณะการเบรกของมันได้อย่างรวดเร็ว และแม้ช่วงล่างของมันจะมีช่วงยุบค่อนข้างเยอะ แต่ด้วยความหนืดของระบบกันสะเทือนจึงทำให้ตัวรถมีความมั่นคงพอสมควรเลยทีเดียวในยามเบรกหนักๆ ติดอยู่แค่เพียงมันยังไม่มีระบบ ABS มาให้เท่านั้น เพราะยังไงมันก็คือรถที่เกิดมาเพื่อลุยเป็นหลัก ดังนั้นสำหรับการใช้งานบนทางดำ จึงยังต้องระวังในจุดนี้อยู่บ้าง
สรุป รีวิว CRF450RL ขณะที่มันเป็นรถมอเตอร์ไซค์ดูอัลเพอร์โพสต์เพอร์โพสต์ที่หากคุณยังขี่สายฝุ่นแข็งไม่พองานนี้คุณก็อาจจะเป็นฝ่ายที่ตึงกับคาแร็คเตอร์ของตัวรถที่คอยแต่จะดึงคุณไปข้างหน้า แบบ “ถ้ามือไม่ถึง อย่ามาตึงกับพี่” แต่ในทางกลับกันด้วยคาแรคเตอร์ของตัวรถที่ค่อนข้างมีความจี๊ดจ๊าด ทั้งจากความเบาจากโครงสร้างแทบจะเดียวกันกับตัวแข่ง, ช่วงล่างที่ไม่ต้องกลัวอุปสรรคต่างๆบนถนนดำ, ความจัดจ้านในย่านต้นของขุมกำลังที่ยกมาจากตัวแข่งชนิดที่หาใครตามทันได้ยาก จึงทำให้มันเป็นรถที่สร้างความสนุกสนานให้กับผู้ขี่ได้ดีเป็นอย่างมาก
ไม่เพียงเท่านั้นด้วยราคา 339,000 บาท ที่ใครหลายคนอาจจะบอกว่าแพง เพราะสามารถนำไปซื้อรถ Honda 650 Series ที่ให้ทั้งความสะดวกสบายและความจัดจ้านในย่านปลายที่ต่างกันลิบ ทว่าถ้าคุณคือนักบิดสายลุยพันธ์แท้ ต้องเข้าใจแน่ครับว่านี่สิ่งต่างๆที่ให้มากับรถคันนี้กับราคาที่ถูกตั้งเอาไว้นั้นจัดว่าคุ้มค่าสุดๆแล้ว และหากมองในสถานการณ์ปัจจุบันที่การนำรถไปขี่เที่ยวตามสถานที่ที่คนชุกชุมเป็นเรื่องลำบากเช่นนี้ การมีรถที่สามารถใช้งานได้ทั้งทางดำในวันที่ไม่อยากไปไหนไกลได้อย่างสนุกสนาน แล้วในขณะเดียวกันก็สามารถนำไปใช้ลุยป่าหลีกเลี่ยงผู้คนได้แบบไม่ครณามือ อย่าง CRF450RL จึงถือเป็นตัวเลือกที่ใช่ที่สุดแล้วในตอนนี้
โดยหากเพื่อนๆท่านใดสนใจ Honda CRF450RL ก็สามารถรับชมตัวจริง และสอบถามข้อมูลตัวรถอื่นๆเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการ Honda BigWing ทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปครับ
ขอขอบคุณ A.P. Honda ที่ให้เกียรติทีมงาน MotoRival ได้ร่วมทดสอบ Honda CRF450RL ในครั้งนี้ครับ
รณกฤต ลิมปิชาติ Test Rider + Writer
อ่านข่าว Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านรีวิวอื่นๆเพิ่มเติมที่ได้ที่นี่