เครื่องยนต์แบบ 2 จังหวะ น่าจะเป็นเครื่องยนต์อีกประเภทของรถมอเตอร์ไซค์ที่มีแฟนคลับอยู่ไม่น้อย ด้วยเอกลักษณ์ด้านอารมณ์ ซุ่มเสียง กลิ่นไอเสีย และพละกำลังที่สามารถสร้างได้ด้วยประมาตรกระบอกสูบที่เล็กกว่าเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ทำให้เรายังเห็นค่ายรถบางรายพยายามหาวิธีรักษามันเอาไว้ ในยุคสมัยที่มาตรฐานไอเสียมีความเข้มงวดมากกว่าคุกนักโทษคดีร้ายแรง
Kawasaki ก็เป็นอีกหนึ่งค่ายรถที่มีความเคลื่อนไหวในทิศทางนี้ออกมา เมื่อพวกเขาทำการจดสิทธิบัตรของเครื่องยนต์ลูกใหม่แบบ 2 จังหวะ ที่มาพร้อมกับวาล์วไอดี หัวฉีดตรงเข้าห้องเผาไหม้ และเล่นใหญ่ขึ้นไปอีกด้วยระบบอัดอากาศ Turbo Charge ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เครื่องยนต์อันเป็นที่รักได้มีโอกาสถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง
ก่อนจะไปกันต่อ เราขอพูดถึงข้อเสียที่ทำให้เครื่องยนต์แบบนี้ต้องหายไปจากถนนกันก่อน เนื่องด้วยงานออกแบบของเครื่องยนต์แบบ 2 จังหวะ ที่จะทำการรวมจังหวะ ดูด อัด ระเบิด คลาย ของเครื่องยนต์สันดาปภายในให้ทับซ้อนกัน จนทำให้เครื่องยนต์แบบนี้สามารถสร้างการจุดระเบิดได้ถี่ขึ้นในแต่ละรอบเครื่องยนต์ ส่งผลให้มีพละกำลังสูงขึ้นด้วยความจุเครื่องยนต์ที่เท่ากัน
แต่การรวบจังหวะการ ดูด อัด ระเบิด คลาย ให้ทับซ้อนกันก็ส่งผลให้ไอดีและน้ำมันเชื้อเพลิงบางส่วน ถูกส่งออกไปทางพอร์ตไอเสียโดยไม่ได้รับการเผาไหม้ ส่วนไอเสียบางส่วนก็อาจตกค้างอยู่ในห้องเผาไหม้ ทำให้การเผาไหม้ครั้งถัดไปนั้นมีขึ้นแบบไม่สมบูรณ์ ส่งผลไปถึงอัตราสิ้นเปลืองและค่ามลพิษที่แย่
Kawasaki จึงทำการอัพเดตเทคโนโลยียุคเก่าให้ทันสมัยมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่รุมเร้า เช่นการเปลี่ยนไปใช้ฝาสูบและวาล์วไอดีแบบเครื่องยนต์ 4 จังหวะ ที่ควบคุมจังหวะการ เปิด-ปิด วาล์วด้วยแคมชาร์ฟ แทนที่รีดวาล์วแบบเดิมที่ติดตั้งอยู่ด้านล่างเสื้อสูบ ทำให้เราสามารถควบคุมจังหวะและปริมาณการไหลของอากาศได้แม่นยำ ถึงอย่างนั้นพอร์ตไอเสียยังคงอยู่ที่ผนังเสื้อสูบเหมือนเดิม
ระบบจ่ายน้ำมันเปลี่ยนจากคาบูเรเตอร์ เป็นแบบหัวฉีดที่จ่ายเชื้อเพลิงตรงสู่ห้องเผาไหม หมายความว่าเราจะสามารถควบคุมจังหวะการจ่ายเชื้อเพลิง ให้มีขึ้นหลังจากที่พอร์ตไอเสียถูกลูกสูบปิดไปแล้วได้ ทำให้ไม่มีเชื้อเพลิงส่วนเกินถูกทิ้งไปโดยไม่ได้รับการเผาไหม้ แปลว่าเครื่องยนต์ลูกนี้จะแรงขึ้น ประหยัดขึ้น และมีมลพิษที่ต่ำลง
ปิดท้ายด้วยการติดตั้งระบบอัดอากาศ ที่นอกจากจะช่วยเพิ่มอากาศสำหรับการเผาไหม้เชื้อเพลิงให้หมดจดได้แล้ว มันยังช่วยผลักดันไอเสียให้ออกจากห้องเผาไหม้ได้ดีขึ้นได้อีกด้วย โดยทางค่ายระบุว่าเครื่องยนต์ลูกนี้จะมีการใช้อัตราส่วนเชื้อเพลิงต่ออากาศที่ค่อนข้างบาง เพื่อให้มั่นใจว่าการเผาไหม้จะมีขึ้นอย่างหมดจดมากที่สุด
แต่ถึงอย่างนั้น Kawasaki ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดส่วนอื่นเอาไว้ว่าเครื่องยนต์ลูกนี้จะมีกี่ลูบสูบ หรือจะเอาไปใช้งานกับรถมอเตอร์ไซค์หรือเปล่า เพราะในเอกสารมีแค่การอธิบายแนวคิดและการทำงานภายในเท่านั้น และถึงแม้จะมีการติดตั้งระบบอัดอากาศ แต่เครื่องยนต์แบบนี้ก็ยังคงมีจุดอ่อนเรื่องแรงบิดที่น้อยอยู่ดี ซึ่งขัดกับความนิยมในปัจจุบันที่คนเริ่มให้ความสนใจแรงบิดมากกว่าแรงม้า นอกจากนี้การติดตั้งระบบอัดอากาศก็ยังไปทำลายจุดเด่นเรื่องความเรียบง่าย และน้ำหนักเบาในเครื่องยนต์ 2 จังหวะ บนรถมอเตอร์ไซค์อีกด้วย
ที่มา motorrad
อ่านข่าวสาร Kawasaki เพิ่มเติมได้ที่นี่