ภายในปี 2027 นอกจากการแข่งขันในรุ่นใหญ่อย่าง MotoGP จะทำการเปลี่ยนกติกาครั้งใหญ่เกี่ยวกับตัวแข่ง โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์ ที่จะมีการลดปริมาตรกระบอกสูบลงมาเหลือแค่ 850 ซีซี ขณะเดียวกันในรุ่นเล็กอย่าง Moto3 พวกเขากลับมีแผนขยายความจุเครื่องยนต์แทน

กติกาของการแข่งรุ่น Moto3 ในปัจจุบันนั้นจะใช้เครื่องยนต์แบบ 1 สูบ ปริมาตรกระบอกสูบ 250 ซีซี ที่สามารถรีดพละกำลังได้ประมาณ 60 Hp โดยรถแต่ละคันจะมีค่าตัวอยู่ที่ประมาณ 175,000 EURO หรือถ้าจะให้พูดคือรถที่เหล่าวัยรุ่นตัวตึงเอาไปวิ่งและล้มกัน มีค่าตัวใกล้เคียงกับ Porsche 911 GTS
แต่ในกติกาใหม่ที่กำลังอยู่ระหว่างการวางแผน จะทำการเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ 2 สูบเรียง ปริมาตรกระบอกสูบ 500 ซีซี หรือเทียบได้กับการใช้เครื่องยนต์เดิม 2 เครื่อง มามัดติดกัน แต่กลับสร้างพละกำลังได้ที่ 80 Hp ซึ่งถือว่าเพิ่มมาไม่เยอะเท่าไรเมื่อเทียบกับปริมาตรที่ใหญ่ขึ้นเท่าตัว เนื่องจากจะมีการใช้วัสดุหรือชิ้นส่วนที่มีต้นทุนต่ำลง ทางผู้จัดตั้งเป้าให้ค่าตัวต่อคัน ต่ำลงมาอยู่ที่ประมาณคันละ 75,000 EURO เท่านั้น

โดยทางผู้จัดการแข่งขัน และตัวแทนของทีมแข่งในรุ่นเล็ก ต่างก็มีเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายให้ทีมแข่ง รวมถึงลดช่องว่างด้านความต่างของพละกำลังตัวรถระหว่างรุ่น Moto3 และ Moto2 ให้ลดน้อยลง ซึ่งจะช่วยให้นักแข่งรุ่นเล็กที่ขยับขึ้นไปขี่ในรุ่นกลาง ที่ใช้เครื่องยนต์ 3 สูบเรียง 765 ซีซี ที่มีพละกำลัง 145 Hp สามารถปรับตัวกับรถที่ใหญ่กว่า หนักกว่า และแรงกว่าได้ดีกว่าเดิม
แต่กติกาอย่างเป็นทางการก็ยังไม่มีการสรุปออกมาว่าจะเป็นแบบไหน และจะบังคับใช้มันในฤดูกาล 2027 หรือ 2028 กันแน่ รวมถึงยังไม่รู้ว่าผู้ผลิตรายใดจะเข้ามารับหน้าที่สร้างเครื่องยนต์และรถที่ทีมแข่งจะนำไปใช้ จากข้อมูลล่าสุดนั้นดูเหมือนว่าจะมี 3 ค่ายรถที่สนใจรับหน้าที่ดังกล่าวคือ Honda, Yamaha และ KTM

Pit Beirer ผู้จัดการฝ่ายมอเตอร์สปอร์ตของ KTM ก็แสดงท่าทีสนใจ พร้อมแง้มว่าอาจแชร์พื้นฐานของรถแข่งร่วมกับรถที่ขายจริง แบบเดียวกับที่ Triumph ทำกับรุ่นกลาง โดยเขาได้อธิบายว่า “ด้วยงบ 75,000 EURO นั้นถือว่าเป็นไปได้ ถ้ารถแข่งใช้พื้นฐานร่วมกับรถตลาด แต่มันไม่ได้หมายความว่าเวลาต่อรอบนั้นจะดีไปกว่า Moto3 ในปัจจุบัน เพราะรถมันจะใหญ่ขึ้นและหนักขึ้น”
“ในการแข่งขันนั้นตัวมีตัวเลขอยู่ 2 อย่าง คือ เงิน และ เวลาต่อรอบ ถ้าคุณมีเงินมากขึ้น เวลาต่อรอบก็จะต่ำลง แต่ถ้ามีเงินน้อย เวลาต่อรอบก็จะไม่ดี เป้าหมายที่จะทำให้รถแข่งถูกลงคันละ 100,000 แถมยังเร็วขึ้นนั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่มีเครื่องยนต์โปรดักชั่นของรถรุ่นไหนที่ทำได้ 80 Hp ด้วยปริมาตรเท่านั้น ถ้าเราจะเปลี่ยนชิ้นส่วนที่ดีขึ้นเพื่อให้รถแรงขึ้น ต้นทุนก็จะสูงขึ้นตาม”

ทางด้านค่ายรถรายอื่นอย่าง Aprilia และ Ducati ได้ทำการปฏิเสธบทบาทตรงนี้ไปก่อนแล้ว ในส่วนของ Yamaha ก็วางแผนจะทำ ในกรณีที่พวกเขาสามารถสร้างรถรุ่นขายจริง ที่แชร์พื้นฐานร่วมกับรถแข่งได้เท่านั้น
ที่มา GPOne
อ่านข่าวสาร KTM เพิ่มเติมได้ที่นี่