นับตั้งแต่มีการแบนชุดปีก หรือวิงเล็ทเป็นครั้งแรกในการแข่งขัน MotoGP เมื่อปลายปี 2016 ในปี 2017 และ 2018 ทางคณะกรรมการก็ได้มีการอัพเดทกฏที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้สิ่งเหล่านี้มีความปลอดภัยในการใช้งานมากที่สุด ซึ่งในการแข่งขันปีหน้าพวกเขาก็เตรียมปรับกฏใหม่อีกครั้งเช่นกันหลังมีมติประชุมกันเกี่ยวกับเรื่องนี้เรียบร้อยในการแข่งขัน DutchGP ที่ผ่านมาเมื่อปลายสุดสัปดาห์ก่อน
หากเพื่อนๆยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เราได้เสนอไปว่า ยังไงๆทางคณะกรรมการยังคงอยากให้ “ชุดแอโรแฟริ่ง” ปรากฏอยู่ในการแข่งขันระดับ MotoGP นี้อยู่เช่นเดิม แต่ประเด็นในเรื่องของชุดแฟริ่งแบบแยกส่วนที่สามารถปรับรายละเอียดเล็กน้อยกลางซีซันได้ยังเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอยู่ จนกระทั่งในการแข่งขันล่าสุดนั้นทางคณะกรรมการได้มีมติแล้วว่าจะไม่ให้ทีมแข่งปรับเปลี่ยนรายละเอียดใดๆของชุดแฟริ่งได้ในปี 2019
ขยายความกันอีกสักนิด สำหรับกฏข้อดังกล่าว โดยเราอยากให้เพื่อนๆลองทำความเข้าใจก่อนว่า ในการแข่งขันปี 2018 นี้ กฏที่ใช้ควบคุมชุดแอโรแฟริ่ง มีใจความสำคัฯหลักๆแบ่งเป็นข้อๆได้อย่างนี้ว่า 1. ทีมแข่งสามารถใช้ชุดแอโรแฟริ่งที่นอกเหนือจากแฟริ่งมาตรฐานได้ 1 แบบ, 2. ชุดแอโรแฟริ่งที่ว่านี้สามารถอัพเกรดได้หนึ่งครั้งระหว่างซีซั่น, 3. ตัวชุดแอโรแฟริ่งสามารถออกแบบให้ถอดหรือเปลี่ยนชิ้นส่วนได้หากไม่มีผลต่อแฟริ่งโดยรวม แต่ไม่อนุญาตให้เพิ่มใหม่ได้
ซึ่งปัญหาที่ทางกรรมการต้องถกกันก็คือกฏข้อที่ 3 นี่แหล่ะครับ เพราะเมื่อทางคณะกรรมการบอกว่าชุดแอโรแฟริงที่ว่านี้สามารถถอดเข้าออกได้ ทางทีมแข่งจึงได้ออกแบบชุดแฟริ่งนี้ให้มีหลายชิ้นไว้ก่อน เพื่อที่จะได้ถอดปรับตามความต้องการของนักบิดได้ในภายหลัง มันจึงเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกับทีมอื่นที่ไม่ได้ออกแบบชุดแฟริ่งแนวนี้ไว้แต่แรก แถมยังเป็นการเปลืิองงบประมาณในการออกแบบที่มากกว่าปกติจนเกินไปอีกด้วย
ดังนั้นในปี 2019 ที่จะถึงนี้ ทางกรรมการจึงได้ปรับกฏควบคุมข้อที่ 3 นี้ใหม่ว่า “ชุดแอโรแฟริ่งที่ออกแบบให้กรรมการได้ตรวจสอบและมีการรับรองแล้ว จะไม่สามารถถอด หรือใส่ เพื่อปรับเปลี่ยนใดๆระหว่างฤดูกาลได้ทั้งสิ้น” รวมถึงข้อ 2 คือ “ยกเลิกการอัพเกรดชุดแอโรแฟริ่งระหว่างซีซั่น
นอกจากนี้ในส่วนของระบบ ECU เอง ทางกรรมการก็เตรียมออกกฏควบคุมในเรื่องของจำนวนชุดเซนเซอร์ที่จะป้อนเข้าสู่กล่องเช่นกัน เพราะในปัจจุบันไม่ได้มีการควบคุมจำนวนชุดเซนเซอร์สำหรับป้อนข้อมูลเข้ากล่องอย่างชัดเจน ทำให้ข้อได้เปรียบไปตกอยู่กับทีมที่สามารถสร้้างเซนเซอร์มาขับและส่งข้อมูลได้เยอะที่สุด (ข้อมูลยิ่งเยอะหมายความว่าการประมวลผลก็จะยิ่งละเอียดมากขึ้น) ดังนั้นในปี 2019 จำนวนชุดเซนเซอร์ที่สามารถต่อเข้ากับกล่องควบคุมนี้ได้ จึงจะถูกจำกัดด้วยตัวเลขที่เฉพาะและเจาะจงอบ่างชัดเจนไม่เหมือนปีที่ผ่านๆมา
ขอบคุณข้อมูลจาก GPone.com และ Crash.Net
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ