ในการแข่งขันรถสูตรอย่าง MotoGP สเปคของตัวรถที่ใช้ลงแข่งขันนั้นถูกกำหนดไว้อย่างเข้มงวด ตั้งแต่ประมาตรกระบอกสูบ ความกว้างของลูกสูบ หรือวัสดุที่สามารถใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องยนต์ได้ แม้แค่เรื่องของปริมาตรถังน้ำมันเชื้อเพลิงก็ถูกระบุไว้อย่างรัดกุม และกติกานั้นก็เข้มงวดถึงขนาดที่ต้องระบุอุณหภูมิเชื้อเพลิงเอาไว้เลย

ก่อนจะไปกันต่อ เราก็ต้องย้อนไปดูเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับถังน้ำมันเชื้อเพลิงของ MotoGP กันก่อน โดยถังน้ำมันของรถแข่งเองนั้นไม่ได้กำหนดปริมาตรไว้แบบตายตัว แต่จะมีการกำหนดปริมาตรของเชื้อเพลิงที่สามารถเติมเข้าไปได้ในแต่ละการแข่งขัน โดยจะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 22 ลิตร ในการแข่งวันอาทิตย์ และไม่เกิน 12 ลิตร ในการแข่งวันเสาร์

โดยน้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกวัดปริมาตรกันตอนที่เราเติมมันลงไปในถัง แบบตอนที่เราเติมน้ำมันตามปั้ม แต่จะถูกวัดและเตรียมลงในอุปกรณ์เติมน้ำมันโดยเฉพาะที่ทำแยกไว้อีกที ก่อนที่จะถูกตรวจสอบโดยกรรมการว่าผ่านข้อกำหนด และสามารถใช้ได้ แล้วค่อยนำไปเติมใส่ตัวรถก่อนที่จะออกจากพิท

แต่การวัดความจุของน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย “ปริมาตร” เป็นหน่วยลิตรก็มีช่องโหว่อยู่ นั่นก็คือทีมแข่งสามารถ “แช่เย็นน้ำมัน” เพื่อให้น้ำมันที่มีอยู่หดตัว ทำให้สามารถใส่น้ำมันปริมาณมากขึ้นลงไปในถังได้ โดยที่ไม่เกินข้อกำหนดที่วัดกันด้วยปริมาตร

ทางผู้จัดเลยออกข้อกำหนดเรื่องอุณหภูมิน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามา ว่าจะต้องไม่ต่ำกว่าอุณหภูมิของอากาศโดยรอบ 15 องศาเซลเซียส แปลว่าถ้าอุณหภูมิอากาศโดยรอบในตอนนั้นอยู่ที่ 25 องศา อุณหภูมิของน้ำมันก็ห้ามต่ำกว่า 10 องศา และถ้าแข่งกันในประเทศไทยที่มีอากาศร้อนระดับ 35 องศา อุณหภูมิของน้ำมันก็ห้ามต่ำกว่า 20 องศา นั่นเอง

แต่ด้วยความที่อุณหภูมิของอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา และเพื่อป้องกันไม่ให้แต่ละทีมอ้างอิงตัวเลขอุณหภูมิที่ไม่ตรงกัน ทางผู้จัดจะทำการประกาศล็อคอุณหภูมิกลางที่ใช้เป็นตัวอ้างอิง 75 นาที ก่อนเริ่มการแข่งขันแต่ละเรซ

แต่ถ้าเราย้ายไปมองในฝั่งของ Formula 1 ทางนั้นจะตัดปัญหานี้ด้วยการวัดประมาณน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหน่วย “กิโลกรัม” แทนที่การวัดปริมาตรด้วยหน่วย “ลิตร”

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลน่าสนใจอื่นเกี่ยวกับถังน้ำมันของรถแข่ง เช่น “การห้ามติดตั้งระบบทำความเย็นในถังน้ำมัน” หรือ “การห้ามอัดลมถังน้ำมัน” เพราะถึงแม้ปริมาตรของน้ำมันที่เติมจะถูกกำหนดมาแล้ว แต่การแช่เย็นน้ำมันในถังหนาแน่นมากกว่าปกติ ยังช่วยสร้างความได้เปรียบในด้านการเพิ่มปริมาณการฉีดน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้ให้มากกว่าเดิมอีกด้วย
หลายทีมจึงมักมีแผ่นป้องกันความร้อนมาคลุมถังน้ำมันเอาไว้ ในช่วงที่นำรถออกมาจอดรอในกริดสตาร์ทก่อนเริ่มการแข่งขัน
อ่านข่าวสาร MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่