เป็นที่ทราบกันดีว่าในโลกของรถมอเตอร์ไซค์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีตัวส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปสู่ล้อหลังทั้งหมด 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ โซ่ขับเคลื่อน, สายพาน, และเพลาขับ โดยเรามักจะเห็นระบบส่งกำลังเหล่านี้ถูกใช้งานกับรถมอเตอร์ไซค์ต่างชนิดกันไปด้วยเหตุผลบางอย่าง ซึ่งในวันนี้เราก็จะมาพูดถึงข้อแตกต่างของระบบส่งกำลังทั้ง 3 แบบนี้กันครับ
เริ่มจาก “ระบบสายพาน” ที่เรามักจะเห็นระบบส่งกำลังแบบนี้อยู่ในกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติก ไม่งั้นก็กลุ่มรถมอเตอร์ไซค์แนวครุยเซอร์รุ่นใหญ่ไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าการใช้สายพานขับนั้นจะมีข้อดีในเรื่องความนุ่มนวล เนื่องจากคุณสมบัติในเรื่องความยืดหยุ่น ในขณะเดียวกันมันก็เป็นระบบที่มีเสียงรบกวนส่งออกมาเงียบมากเนื่องด้วยเหตุผลเดียวกัน และแทบไม่ต้องใช้น้ำมันในการหล่อลื่นตัวรถบบเลยแม้แต่น้อย แถมอายุการใช้งานก็นานเอาเรื่องถ้าไม่ไปขับรุนแรงอะไรมา เพราะสายพานหนึ่งเส้นสามารถมีอายุการใช้งานนานถึง 100,000 กิโลเมตรด้วยกัน (แต่โดยเฉลี่ยแล้วสำหรับสายพานขับในรถมอเตอร์ไซค์ออโตเมติกทั่วไปที่มีใช้ในบ้านเรานั้นอยู่ที่ราวๆ 20,000 – 25,000 กิโลเมตร ซึ่งก็ถือว่านานอยู่ดี)
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระบบขับเคลื่อนแบบสายพานไม่ได้มีเห็นอยู่ทั่วไปก็เป็นเพราะว่า ตัวสายพานไม่สามารถขดงอได้มากเท่าไหร่นักเนื่องด้วยข้อจำกัดทางกายภาพของมัน จึงส่งผลให้ชุดพูลเลย์ขับมีขนาดใหญ่ตามไปโดยปริยาย และผลสุดท้ายคือมันไม่สามารถนำไปใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กได้ในที่สุดเพราะเปลืองพื้นที่ในการติดตั้งนั่นเอง
จากจุดนี้เราเชื่อว่าเพื่อนๆหลายคนคงเถียงในใจว่าชุดสายพานที่ใช้อยู่ในรถออโตเมติกแม่บ้านทั่วไปพิกัด 110-150cc ของบ้านเราก็ไม่ได้ใหญ่อะไรหนิ คือมันก็ไม่ได้ใหญ่จริงๆครับ แต่ถ้าเทียบกับรถมเตอร์ไซค์ที่ใช้โซ่ขับทั่วไปก็ยังถือว่าใหญ่กว่าอยู่ดี นอกจากนี้หากการติดตั้งระบบสายพานดังกล่าวนั้นเป็นระบบเปิดการจะเปลี่ยนสายพานแต่ละครั้งนั้นจำเป็นจะต้องถอดชิ้นส่วนหลายอย่างด้วยกัน ตั้งแต่ฝาแครงก์ด้านหน้า, ชุดล้อ, และตัวโช้ก ส่วนระบบปิดอย่างเช่นรถออโตเมติกแม่บ้านทั่วไปนั้นคงไม่ต้องอธิบายให้มากความนะครับ เพราะอย่างน้อยๆก็ต้องมีการถอดฝาแครงก์ที่ยึดน็อตไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ตัว (ส่วนสายแวนซ์ที่ไม่ปิดฝาแครงก์ก็ถอดเร็วขึ้นหน่อย แต่ระวังนะครับ ถ้ามีเศษหินกระเด็ฯเข้าไปเมื่อไหร่ละยุ่งทันที)
ต่อไปคือ “ระบบเพลาขับ” ซึ่งเรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆในกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหญ่ทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับของฝั่ง BMW และข้อดีที่เป็นจุดเด่นสำคัญของระบบนี้เลยก็คืออายุการใช้งานของมันที่เรียกได้ว่านานเท่านานตราบที่ตัวรถยังไช้อยู่ได้เลยทีเดียว เพราะด้วยความที่ว่าระบบนี้มีชิ้นส่วนหลักเป็นเพลาขับขนาดใหญ่ทำงานคู่กับชุดเฟือง แถมยังถูกหล่อลื่นด้วยน้ำมันตลอดเวลาแบบระบบปิด ดังนั้นมันจึงแทบไม่มีการสึกหรอใดๆเลยเนื่องจากความแข็งแรงโดยพื้นฐานของวัสดุและการปราศจากสิ่งรบกวนจากภายนอก
แต่ในขณะเดียวกันนั้นอย่างที่เราบอกไปแล้วว่า “ระบบส่งกำลังแบบเพลาขับ” จำเป็นจะต้องใช้ชิ้นส่วนที่แข็งแรงทั้งหมด ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงเป็นพิเศษ แถมถ้าพังทีก็ซ่อมไม่ได้ง่ายๆเพราะความซับซ้อนของระบบ แถมอะไหล่ไม่ใช่ของที่มีซื้อได้ทั่วไป ส่วนข้อเสียในเรื่องการบั่นทอนกำลังเครื่องยนต์ก็มีอยู่สูงเช่นกันเนื่องด้วยเหตุผลทางด้านน้ำหนักตัวนั่นเอง
ปิดท้ายด้วย “ระบบโช่ขับเคลื่อน” ที่มีให้เห็นกันอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ุกระดับตั้งแต่ แม่บ้านทั่วไปพิกัด 110cc ไปจนถึงสปอร์ตไบค์ไซค์ยักษ์พิกัด 1,400cc ซึ่งความดีงามของระบบนี้นั้นก็หนีไม่พ้นความง่ายในการซ่อมบำรุงใครๆก็สามารถเปลี่ยนได้ด้วยตัวเอง, ต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ, ผลเสียในเรื่องการฉุดกำลังก็น้อยเพราะน้ำหนักเบาที่สุด, สามารถปรับอัตราทดได้เองเพราะมีอะไหล่ให้เลือกหลากหลายรูปแบบ, แต่อาจจะมีข้อเสียอยู่บ้างในเรื่องของเสียงโซ่สะบัดที่ดังจนน่ารำคาญหู แถมส่วนใหญ่ตัวระบบโช่ขับเคลื่อนนี้ก็เป็นระบบเปิด ทำให้มีโอกาศง่ายมาที่พวกเศษดินเศษฝุ่นจะลอยไปติดตามซอกต่างๆ และถ้าหากเราล้างด้วยน้ำมันเบนซิน แล้วหล่อลื่นซ้ำด้วยน้ำมันหล่อลื่น หลายครั้งที่เราจอดลงมาดูรถที่พึ่งหยอดน้ำมันโซ่ไปอีกทีก็พบว่าขอบล้อของเราได้เลอะน้ำมันหล่อลื่นโซ่ไปหมดแล้ว ส่วนในเรื่องของความแข็งแรง ที่แม้ว่าฟังๆดูแล้วมันอาจจะแย่กว่าสองแบบที่เรากล่าวไว้ในตอนแรกก็จริง แต่จากประสบการณ์ส่วนตัวของพวกเราแล้ว ถ้าหากเราหมั่นเช็คดูแลรักษากันดีๆมันก็อาจจะอยู่ให้เราใช้งานได้นานกันหลัก 10,000 กิโลเมตรต่อหนึ่งชุดเลยทีเดียว
อ่านบทความ Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ