ผ่านไป 3 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2016 เราก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าทาง A.P. Honda จะทำการเปิดตัว CBR250RR (ซึ่งน่าจะเป็น CBR300RR สำหรับตลาดประเทศไทย) ในบ้านเรา จนทำให้หลายคนต่างสงสัยว่าทำไม หรือเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ที่ทำให้จนตอนนี้เรายังไม่ได้มีโอกาสได้สัมผัสตัวเป็นๆของมัน
ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะมาวิเคราะห์กันซักหน่อยดีกว่าครับ ว่าทำไม เจ้า Honda CBR250RR สปอร์ตไบค์พิกัดยอดนิยมคันนี้ ถึงไม่ยอมขายในไทยเสียที ?
และสาเหตุแรกก็คือการที่เรามองว่าน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ CBR250RR ไม่ขายไทยก็ยังคงเป็นสาเหตุประจำที่เราได้ยินกันบ่อยมากก็คือ “มาตรฐานไอเสีย” อันสุดแสนจะเข้มงวดในบ้านเรา เนื่องจากว่าประเทศไทยเรา จะใช้มาตรฐานไอเสียสูงพอๆกับทางฝั่งประเทศยุโรป (ตอนนี้อยู่ในระดับเทียบเคียงกับ Euro4 เตรียมต่อ Euro5 เพราะต้องไม่ลืมว่าเราคือประเทศที่เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถไปวางจำหน่ายในประเทศเหล่านั้น) ส่วนมาตรฐานไอเสียของประเทศอินโดนีเซียดูจะเข้มงวดน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด เพราะพวกเขาพึ่งปรับไปใช้ Euro3 ในปีนี้ และยังมีรถมอเตอร์ไซค์ 2 จังหวะขายในท้องตลาดเมื่อปีก่อนได้อยู่เลย ดังนั้นตัว CBR250RR คันนี้จึงน่าจะผ่านมาตรฐานไอเสียในระดับแค่ Euro3 เท่านั้น
แต่เอาจริงๆแล้วข้อมูลในจุดนี้แหล่งข้อมูลวงในได้มีการเปิดเผยให้กับเราเองว่าส่วนหนึ่งที่โมเดลนี้เอาเข้ามา หรือผลิตเพื่อวางจำหน่ายไม่ได้เพราะติดเรื่องค่าไอเสียที่สูงเกินไปจริงๆ ดังนั้นจึงแทบไม่ต้องอธิบายสาเหตุนี้ต่อให้ยืดยาว
ส่วนสาเหตุที่สองคือ หากมองออปชันต่างๆของตัวรถ ทั้งระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบโช้กตะเกียบคู่หัวกลับ, สวิงอาร์มหลังอลูมิเนียม, และที่สำคัญคือโหมดเครื่องยนต์ 3 ระดับ พร้อมคันเร่งไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นออปชันที่ดูดีกว่า CBR500R รุ่นปี 2016-2018 ที่เปิดตัวไล่เลี่ยกัน(และอาจจะรวมถึงรุ่นปี 2019 ในตอนนี้) ทั้งหมด
ทำให้หากมันถูกเปิดตัวขายจริงราคาของมันอาจจะขยับไปติดกับสปอร์ตไบค์ยอดนิยมพิกัดครึ่งลิตรรุ่นดังกล่าวเกินไป ซึ่งเราก็มีตัวอย่างให้เห็นแบบชัดๆก็จากการที่ Honda ประเทศญี่ปุ่น ได้วางจำหน่าย 2018 CBR400R (2018 CBR500R รุ่นปรับลดควาจุเครื่องยนต์ลงตามกฏหมายประเทศญี่ปุ่น) ในราคาเงินเยนที่ 783,000 เยน หรือราวๆ 229,700 บาท ส่วน 2018 CBR250RR รุ่นธรรมดาจำหน่ายในราคาเงินเยนที่ 784,000 เยน หรือราวๆ 231,000 บาท และจะขยับขึ้นไปเป็น 806,760 เยน หรือราวๆ 236,700 บาท ด้วยซ้ำในรุ่น ABS
นอกจากนี้ ด้วยความที่ปกติแล้วรถมอเตอร์ไซค์ตลาดตั้งแต่ 650 ซีซี ลงมา ที่ A.P. Honda ได้จำหน่ายในไทยจะผลิตในไทยเท่านั้น ส่วน CBR250RR ไม่ได้ผลิตในไทยแต่แรก ทำให้อาจจะโดนกำแพงภาษี ซึ่งแม้จะไม่มีการคิดภาษีนำเข้าเพราะเป็นการนำเข้าจากประเทศในแถบอาเซียน แต่ก็มีภาษีสรรพสามิตรและค่าขนส่งอื่นๆให้บวกเพิ่ม ทำให้ราคาต้นทุนสูงขึ้นไปอีก เพราะต้องนำเข้าตัวรถจากประเทศอินโดนีเซีย
ดังนั้นหากอิงความต่างของราคาตามนี้ ตัว CBR250RR อาจจะตีตลาดได้ยาก เพราะต้องยอมรับจริงๆว่าธรรมชาติของลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่นั้นเป็นประเภท “คลั่ง ซีซี” ทำให้เมื่อมีรถมอเตอร์ไซค์ที่ราคาใกล้เคียง(หรือแพงกว่า)รุ่นใหญ่เปิดตัวออกมา พวกเขาเหล่านั้นมักเลือกซื้อรุ่นใหญ่กว่าไว้ก่อน ส่วนออพชันต่างๆถ้าไม่ได้ด้อยกว่ามากก็มองข้ามมันไปได้ เนื่องจากยังไงก็การันตี “ความแรง” กับความเป็น “รุ่นใหญ่” ที่หลายคนถวิลหาจากความจุที่เพิ่มขึ้น และทาง A.P. Honda ก็ย่อมพิจารณาเรื่องนี้ไว้ในหัวเป็นอันดับต้นๆแน่นอน
และทั้งหมดที่ว่ามานี้คือสาเหตุที่เราสามารถวิเคราะห์ได้ ถ้าหากเพื่อนๆคนไหนมีความคิดเห็นเพิ่มเติมยังไงก็เชิญคอมเมนท์เสนอที่หน้าเพจ MotoRival กันเข้ามาได้เลยครับ
อ่านข่าวสาร Honda เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ