ในช่วงหน้าฝนแบบนี้ เพื่อนๆหลายคนคงเบื่อกับการขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปไหนมาไหน แต่มันคงจะดีไม่เบา ถ้ามีรถ Adventure พร้อมลุยจริงจังสักคัน เอาไว้ขี่เดินทางช่วงหน้าฝนเช่นนี้แบบไปไหนไปกัน
ดังนั้นในวันนี้ MotoRival เราขอมาเอาใจเพื่อนๆ สาย Adventure ขาลุยกับ รีวิว 2016 Triumph Tiger 800 XRT & XCA พี่เสือ 2 ตัว รุ่นท๊อปทั้งสาย On-Road และ Off-Road กันครับ
2016 Triumph Tiger 800 นั้น จะแบ่งเป็น 2 ตระกูล หลักๆ คือ
XR ซึ่งเป็นสาย On-Road และ XC เน้น Off-Road
ซึ่งทั้ง XR และ XC จะมีรุ่นย่อยเข้าไปอีก ฝั่งละ 3 รุ่น ซึ่งสเป็กและออปชั่นก็จะแตกต่างกัน
แต่สำหรับการรีวิวของเราในครั้งนี้ได้รุ่นท๊อปมาทั้ง 2 สาย คือ XRT และ XCA
ซึ่งเราจะขอมาเริ่มกันที่รุ่น On-Road กันก่อนเลยครับ
2016 Tiger 800 XRT ถือเป็นรถ Adventure รุ่นท๊อปสุดของสายถนน On Road
*ในคันทดสอบนี้ได้มีการติดตั้งชุด Expedition Luggage Pack (Black) มาให้ด้วย ซึ่งทางผู้เขียนได้ติดตั้งเฉพาะในส่วนของกล่องบนเท่านั้น
สำหรับออปชั่นของ Tiger 800 XRT นี้ ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะให้มาแบบจัดเต็มมาก
ล้ออัลลอยหน้าขนาด 19” สวมยางไซส์ 100/90/R19 ด้านหลัง 150/70/R17
ก้านเบรกปรับ 5 ระดับ + ก้านคลัชปรับ 4 ระดับ
ช่องจ่ายไฟ 12V ข้างรูกุญแจ + ช่องจ่ายไฟ 12V ช่องที่ 2 และ 3 ข้างเบาะฝั่งซ้าย
สวิทช์ไฟซ้าย มีให้ทั้งไฟ Pass, ปุ่ม i ปรับเมนู, ปุ่มเลื่อนขึ้น-ลง เมนู I, ถัดออกมาเป็นสวิทช์ไฟตัดหมอก LED + Heated Grip
ในรุ่นนี้เพิ่มฟังก์ชั่นไฟเลี้ยวดับได้เอง
สวิทช์ขวามีสวิทช์ Run-Off และ ปรับเซ็ท Cruise Control +Resource + Set ถัดออกมาเป็นสวิทช์ Heated Seat
แผงแดชบอร์ดเป็นจอ LCD Digital Analog มีปุ่มปรับ Mode ขับขี่ และ ปุ่มไฟ Hazard (ที่จริงไฟ Hazard น่าจะไปรวมอยู่ในชุดสวิทช์ไฟซ้ายจะใช้งานได้สะดวกกว่า)
หน้าจอแสดงผลครบครันจนช่วงแรกอาจจะงงกับการใช้งานเพราะรายละเอียดเยอะมาก! ทั้งมาตรวัดความเร็ว Digital, มาตรวัดรอบเครื่องยนต์แบบอนาล็อก, เซ็ตทริป, อัตราสิ้นเปลือง, ระบบวัดลมยาง TPMS, ตัวบอกตำแหน่งเกียร์, มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง บ่งชี้ข้อผิดพลาดที่ต้องซ่อม บ่งชี้อุณหภูมิอากาศแวดล้อม, Riding Mode มีให้เลือกได้ 3 แบบ (ถนน/วิบาก/ผู้ขับขี่ตั้งค่าเอง) และนาฬิกา
Riding Mode ทั้ง 3 แบบ จะปรับรายละเอียดด้านในได้แก่
1. Engine Map ปรับได้ดังนี้ Road, Sport, Off-Road, Rain
2. TTC ปรับได้ดังนี้ Road, Off-Road, Off
3. ABS ปรับได้ดังนี้ Road, Off-Road, Off
มองต่ำลงมาบ้าง การ์ดหม้อน้ำอลูมิเนียม
รางข้างสำหรับติดตั้งกล่องอลูมิเนียม
ขาตั้งคู่ (ตั้งได้ยากมาก ผู้เขียนน้ำหนักตัว 58 ก.ก.)
เบาะนั่งปรับความสูงได้ 810-830 ม.ม. (ถอดเบาะปรับ)
น้ำหนักตัว Dry Weight ที่ 197 กก.
ถังน้ำมันจุ 19 ลิตร
ในด้านของท่านั่ง รุ่น XRT จะมีตำแหน่งแฮนด์ที่เตี้ยกว่ารุ่น XCA เล็กน้อย ทำให้รู้สึกว่าในการเดินทางขี่รถไกลๆ จะเมื่อยน้อยกว่า
ตำแหน่งเบาะที่ปรับได้ 3 ระดับ ทำให้ผู้เขียนที่มีส่วนสูง 174 ซม. สามารถเหยียบรถได้อย่างมั่นคงเต็มฝ่าเท้า แบบเข่าไม่ตึง เหลือระยะหย่อนพอสมควร
ขณะที่เบาะเจลแบบ Heated Seat นี้ถือว่ามีความนุ่มนั่งสบายดีมากๆ ทั้งผู้ขี่และผู้ซ้อน ตำแหน่งผู้ซ้อนท้ายจะสูงโด่งเล็กน้อย เนื่องจากเบาะเจลได้แยกส่วนกันผู้ขี่และผู้ซ้อนออกจากกันซึ่งจะมีระดับความสูงมากกว่า
แม้ร่างกายพี่เสือจะดูสูง และคันใหญ่ แค่การควบคุมรถในเมืองที่ยังมีช่องให้ไหลผ่านช่องจราจรได้ ก็ถือว่าคล่องตัวพอสมควร ตำแหน่งแฮนด์สูงผ่านกระจกรถยนต์โดยส่วนใหญ่สบายๆ ยกเว้นกระจกระดับรถกระบะ และ SUV คันใหญ่ จะชนที่การ์ดแฮนด์ไม่สามารถไปได้
เครื่องยนต์ 3 สูบเรียง อันเป็นเอกลักษณ์ของพี่เสือ Triumph Tiger 800 ให้กำลัง 95 Hp (70 kW) @ 9,250 rpm แรงบิด 79 Nm (8.1 Kgm) @ 7,850 rpm
ทันทีที่ติดเครื่องยนต์ จะสัมผัสได้ถึงเสียงของเครื่องยนต์ 3 สูบจาก Triumph อันลื่นหู สุดแสนไพเราะ หอมหวาน แต่ก็แน่นทรงพลัง อย่างที่คุ้นเคย
สไตล์ของเครื่องยนต์นั้น ถ้าทราบกันดี เครื่องยนต์ 3 สูบของ Triumph จะเน้นกำลังย่านกลาง แต่โดยรวมแล้วมีอาการค่อนข้างคล้ายเครื่องยนต์ 4 สูบ นิ่มนวล ออกตัวไม่กระชาก คุมคันง่าย ผ่านระบบคันเร่งไฟฟ้า แต่แรงตั้งแต่ต้นยันปลาย จึงตอบสนองการขับขี่ที่ครอบคลุมทุกช่วง ไม่ว่าจะออกตัวขี่เน้นอัตราเร่งในเมือง ก็ทำได้ดีแม้ไม่กระชาก ไม่ได้ฟีลหวือหวานัก หรือ ขี่เดินทางไกลก็ถือว่ากำลังเพียงพอ แม้ม้าไม่ถึง 100 ตัว แต่เมื่อลากเข้าไปที่ระดับม้าสูงสุด 9,000rpm+ ก็มีดึงให้สนุกเร้าใจกันไม่เบาเลยทีเดียว โดยรวมแล้วเครื่องยนต์ของพี่เสือ 800 ดูทำได้ดีกว่าคู่แข่งในคลาสอีกนะ
ด้านโหมดขับขี่ Road เหมาะกับการขับขี่ทั่วไป แต่ถ้าคุณมั่นใจคุมคันเร่งได้ดีแล้วล่ะก็ จัด Sport ค้างไว้ได้เลย คันเร่งติดมือดีขึ้น เรียกกำลังมาได้ไวอีกหน่อย
ขณะที่ Rain และ Off-Road ชื่อก็บอกอยู่ตามสภาพ ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการเปิดคันเร่งของคุณให้ละเอียดขึ้นอีกหน่อย และเลือกส่งกำลังให้เหมาะสมกับแต่ละสภาพผิวถนน
สำหรับการทำ E-Brake (ลดเกียร์ช่วยชะลอความเร็ว) นั้น ไม่หนัก จึงช่วยทำให้การบาลานซ์รถทรงตัวดี ไม่มีอาการสะบัด การเบรกหนักลดเกียร์ลงอย่างรวดเร็วจึงทำได้เลยทันทีโดยไม่ต้องเบิ้ลเครื่องทิ้งก่อน
ในส่วนของความร้อนนั้น ถือว่า ปกติสำหรับรถในพิกัด 800cc มีแผ่ไอร้อนออกมาที่หน้าขาบ้าง แต่ก็ไม่ร้อนจนทรมาน ในวันที่เดินทางซึ่งมีแดดค่อนข้างร้อน ผู้เขียนใส่กางเกงยีนขายาว ซึ่งตัวผ้าค่อนข้างบาง ยังไม่รู้สึกว่าร้อนจนทำให้ไม่สบายหน้าขาแต่อย่างใด
ขณะที่อัตราสิ้นเปลืองนั้น จะอยู่แถวๆ 19 กม./ลิตร สำหรับการขี่เดินทางที่ทำความเร็ว + ชะลอในบางช่วง
แต่ถ้าขี่ชิลๆ สบายๆ สามารถทะลุ 22 กม./ลิตร ได้สบายๆ ทาง Triumph เคลมหากวิ่ง 90 กม./ชม. จะทำได้ดีถึง 27.78 กม./ลิตรเลยทีเดียว
ระบบเบรก ทั้ง XRT และ XCA ใช้เบรกแบบดิสก์กหน้า-หลัง
ด้านหน้าจานลอยแบบคู่ขนาด 308 มม. คาลิปเปอร์ Nissin 2 ลูกสูบ
ด้านหลังจานเดี่ยวผลิตจาก CNC (ในรุ่นท๊อป XRT+XCA) ขนาด 255 มม. คาลิปเปอร์ Nissin ลูกสูบเดี่ยวแบบเลื่อน
มาพร้อม ABS ที่สามารถปรับได้ 3 แบบ Road (เปิดหน้า-หลัง), Off-Road (ล้อหลังปล่อยล๊อก), Off (ปิด)
การชะลอความเร็วนั้นทำได้ค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง แม้จะไม่หนักหน่วงนัก แต่ก็ถือว่าเพียงพอกับการใช้งานเดินทางไกลทั่วๆไป และหยุดฝูงม้าในระดับไม่เกิน 100 ตัว แต่หากซัดยัดมาเร็ว คงต้องมีเผื่อกันบ้าง หรือใช้ E-Brake ช่วยจะดีกว่ามาก
การทำงานของระบบ ABS นั้น ให้ความละเอียดดีพอสมควร ด้านหลังทำงานได้ค่อนข้างไว กันล้อล๊อกได้ทันท่วงที ซึ่งก็ถือว่าเหมาะสม เพราะในหลายครั้งที่ยืนขี่ และลงเบรกเท้าน้ำหนักเยอะเกินไปหน่อย ABS ก็ยังจับทำงานได้อย่างว่องไว ช่วยให้มั่นใจและปลอดภัย ขณะที่โหมด Off-Road จะป้องกันคุณจากการล๊อกที่ล้อหน้า แต่ก็ปล่อยให้ท้าย ล๊อกสไลด์ฝุ่นตลบออกให้ได้อรรถรส
ระบบกันสะเทือน Tiger 800 XRT ใช้โช้คหน้า Showa 43 มม. แบบหัวกลับ ระยะยุบตัว 180 มม.
โช้คหลังเดี่ยว Showa พร้อมกระปุกน้ำมันแยก ปรับความแข็งได้ด้วยไฮดรอลิก ระยะยุบตัว 170 มม.
ในการขับขี่บนถนน On-Road นั้นก็พบว่ามันให้การยึดเกาะถนนทำได้ดีสอบผ่านในแบบรถ ADV ทั่วๆไป ที่ใช้โช้ค USD ไม่ว่าจะควบที่ระดับความเร็วสูงๆ ก็ยังมั่นคงดี โดยเฉพาะทรงช่วงล่างด้านหลังนั้นจะดูหนักแน่นดีกว่า ADV Bike คันอื่นๆ ที่ออกแนวนิ่มไปเสียหน่อย แต่สำหรับ XRT คันนี้ไม่ถึงกับติดแข็งนัก และก็ไม่นิ่มจนเกินไป หากต้องนั่ง 2 คน เรียกได้ว่าน่าจะถูกใจคอ ADV ที่ชอบขี่รถเร็วได้เลย
เราได้มีโอกาสลองจับเจ้า XRT ไปเล่นบนทางฝุ่น Off-Road ด้วย พบว่าช่วงทางตรงปกตินั้น สามารถขี่ไปได้แบบสบายๆ แต่เมื่อเจอหลุม ต่างๆ ลองจับเจ้าเสือลงหลุมดู พบว่า มีการสะเทือนขึ้นมาพอสมควร จน หลุมใหญ่ๆ ต้องชะลอลง เพราะรถที่ใช้ล้ออัลลอย และช่วงยุบของโช้คที่ไม่เยอะ และการปรับเซ็ทความหนืดสำหรับทาง On-Road นั้น คงไม่เหมาะกับทางเช่นนี้สักเท่าไร เรียกได้ว่า พอไปได้แบบหอมปากหอมคอให้ลิ้มรสชาติทางฝุ่นบ้าง แต่ถ้าต้องลุยหนักๆ แล้วล่ะก็หันไปหาตัว XC น่าจะดีกว่า
มาต่อกันที่
2016 Tiger XCA ถือเป็นรถ Adventure รุ่นท๊อปสุดของสายทางฝุ่น Off-Road
โดยในรุ่น XCA คันนี้จะมีจุดที่ต่างจาก XRT ได้แก่
ติดตั้งปากบังโคลนหน้า, โช้คอัพ WP ที่ให้มาทั้งหน้า-หลัง
ใช้ล้อหน้าซี่ลวด ด้านหน้า 21” สวมยาง 90/90/R21 และด้านหลัง 150/70/R17
เพิ่ม Crash Bar ป้องกันเครื่องยนต์
ขาตั้งคู่จะสูงกว่ารุ่น XR ด้วยเนื่องจากตัวรถมีความสูงกว่า
เบาะนั่งปรับระดับได้ 840 – 860 ม.ม. (ปรับที่ใต้เบาะ)
น้ำหนัก Dry Weight 203 ก.ก.
ในด้านของท่านั่ง รุ่น XCA คันนี้ใส่ตุ๊กตาแฮนด์ ยกระดับขึ้นอีก ซึ่งจากเดิม XCA จะมีความสูงกว่า XRT อยู่แล้ว การขี่ทางไกลอาจเมื่อยกว่า XRT เล็กน้อย แต่ตำแหน่งแฮนด์ดูจะควบคุมการเลี้ยวได้ดีกว่า
ผู้เขียนที่มีส่วนสูง 174 ซม. ยังสามารถเหยียบรถ XCA ได้เต็มฝ่าเท้า (สวมรองเท้าผ้าใบ) เมื่อปรับเบาะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่เข่าค่อนข้างตึง และเหยียบไม่มั่นคงเท่า XRT
*ในด้านของลูกเล่นบนแดชบอร์ด, สมรรถนะเครื่องยนต์, ระบบเบรก จะเหมือนกันกับในรุ่น XRT ซึ่งขอไม่พูดซ้ำ
ระบบกันสะเทือน ของ Tiger 800 ในตระกูล XC จะให้โช้คอัพ WP ขนาดแกน 43 มม. แบบหัวกลับ ปรับความหน่วงของการยุบตัวและการคืนตัวของได้ระยะยุบตัวมากถึง 220 มม. และยังปรับความแข็งอ่อนได้ด้วย
โช้คเดี่ยว WP พร้อมกระปุกน้ำมันแยก ปรับความแข็งได้ด้วยไฮดรอลิก ปรับความหน่วงของการคืนตัวของโช้คได้ ระยะยุบตัว 215 มม. ล้อหลัง
ในด้านการขับขี่หากขี่บนถนน On-Road ทำได้ดีไม่ด้อยไปกว่า Showa ในรุ่น XR นัก แต่ด้วยสไตล์ช่วงล่างเซ็ทแบบ Off-Road ในบางจังหวะอาจดูมีระยะยุบเยอะไปนิด ในช่วงขี่เร็วๆ ซึ่งอาจไม่มั่นใจเท่าตัว XR ที่เป็นล้อแม็ก และทรงช่วงล่างที่แอบรู้สึกแน่นกว่าหน่อย
แต่เมื่อเราได้นำมันไปวิ่งบนเส้นทาง Off-Road นั้น ต้องเรียกได้ว่า คุ้มค่าสมราคาไม่ว่าจะหลุมลึก กระแทกหนักแค่ไหน โช้ค WP ยังทำหน้าร่วมกับล้อซี่ลวดได้ดี ซับทั้งแรงสะเทือน ในทุกจังหวะกระแทก ตัวรถมั่นคงไม่มีอาการดีดให้เหวอเหมือนที่พบในรุ่น XR แม้แต่น้อย คือ สามารถใส่ลงได้เลย แทบจะไม่ต้องปิดคันเร่ง เพียงแค่ผ่อนในบางจังหวะเท่านั้น โดยรวมการควบคุม Tiger 800 XCA คันนี้ ง่ายและมั่นใจราวกับขี่รถ Enduro น้ำหนักเพียง 100 กว่า กก. ยังไงยังงั้น
สรุป 2016 Triumph Tiger 800 XRT & XCA พี่เสือขาลุย ถือเป็นรถ Adventure Bike ที่ครบเครื่อง ทั้งสมรรถนะจากเครื่องยนต์ 3 สูบอันเป็นเอกลักษณ์, ออปชั่นต่างๆจัดเต็ม ทั้งเทคโนโลยีช่วยความปลอดภัย และเทคโนโลยีด้านความสะดวกสบาย ซึ่ง Tiger 800 ถือได้ว่าเป็นรถ Adventure Touring ที่โดดเด่นกว่าใครในคลาสเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีรุ่นย่อยให้เลือกหลากหลายเวอร์ชั่น ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าอย่างครอบคลุมทั้งสาย On-Road และ Off-Road
หากคุณได้ลองขี่หลังเสือคันนี้ล่ะก็ บอกได้เลยว่าลงยาก! เพราะอาจติดใจจนไม่อยากลง
จุดเด่น
– เครื่องยนต์ 3 สูบ เรียงที่มีพละกำลังเพียงพอทุกช่วงการใช้งาน + ซุ่มเสียงไพเราะ
– ขี่ง่ายควบคุมง่าย นั่งสบาย เหมาะทุกสภาพการเดินทาง
– ออปชั่นเทคโนโลยีจัดเต็มเกินใครทั้ง ไฟตัดหมอก LED, Cruise Control + Heated Grip + Heated Seated
ไม่ต้องกลัวถ้าขี่ขึ้นเขาในฤดูหนาว
– เบาะนั่งปรับระดับได้
จุดที่อยากให้ปรับปรุง
– การตั้งขาตั้งคู่ทำได้ยาก ทั้งที่น้ำหนักรถระดับเพียง 220 ก.ก.เท่านั้น
– Riding Mode ที่น่าจะมี Rain Mode ให้มาเลยเพื่อความสะดวกในการใช้งานทันทีเมื่อเจอฝน ไม่ต้องมาปรับเซ็ทใน Individual ใหม่
รวมไปถึงการปรับ Mode ขณะขี่ควรทำได้ง่ายกว่านี้ เพียงแค่ปิดคันเร่งแล้วกด Mode
– สวิทข์ไฟ Hazard น่าจะมาอยู่ที่สวิทช์ไฟซ้าย เพื่อความสะดวกในการปรับใช้งาน
ขอขอบคุณ Triumph Motorcycles Thailand สำหรับรถทดสอบ 2016 Triumph Tiger 800 XRT สี Intense Orange ราคา 5.95 แสนบาท และ 2016 Tiger 800 XCA สี Matt Khaki Green ราคา 6.35 แสนบาท
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver & Photo
อำพล มูลทองสุข Co-Rider & Photo
อ่านข่าว Triumph เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านรีวิวรถอื่นเพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ
2016 Triumph Tiger 800 XRT & XCA
Tiger 800 พี่เสือ สายลุยที่ขี่สนุกจนไม่อยากลง
เด่นทั้งสมรรถนะ และออปชั่น ที่เกินกว่ารถคันใดใน ADV 800
-
รูปลักษณ์
-
เครื่องยนต์
-
การควบคุม
-
เทคโนโลยี
-
ความคุ้มค่า