เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาทางทีมงาน MotoRival เราได้รับเกียรติจากทาง Harley-Davidson Thailand และ สิงคโปร์ เชิญเราบินไปไกลถึงเมือง Malaga ประเทศสเปน เพื่อร่วมทดสอบรถ ในตระกูล Softail MY2020 ใหม่ ด้วยกัน 5 รุ่น ในทริป 2020 Triple S
โดยแบ่งออกเป็น วันแรก 3 รุ่น คือ Harley-Davidson Fatbob, Streetbob, Low Rider S
ซึ่งเราจะขอมา รีวิว 2020 Harley-Davidson Fat Bob , Street Bob , Low Rider S 3 รุ่นนี้กันก่อน (สำหรับวันที่ 2 เราจะมาอัพเดทกันต่อไปครับ)
สำหรับรถในตระกูล Softail ทั้ง 5 รุ่น ในทริป 2020 Triple S นี้ จะเป็นรถที่ประกอบในไทยทั้งสิ้น ยกเว้น Low Rider S โมเดลเดียวที่ไม่ได้ประกอบในบ้านเรา ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ได้ทำตลาดในประเทศไทยด้วย ดังนั้น ทางทีมงาน Harley-Davidson จึงขอให้พวกเราประเทศที่ไม่มี Low Rider S จำหน่าย อาจจะขี่นิดหน่อยพอหอมปากหอมคอกันพอ ไม่จำเป็นต้องรีวิว รุ่นนี้จริงจังนัก
ผมเริ่มต้นวันด้วย 2020 Street Bob ก่อน เลย
จริงๆ แล้วชื่อรถทั้ง 3 รุ่น ที่ผมจะมาพูดกันในวันนี้ ที่จริงมันอยู่ในเฟรมของ Dyna มาก่อน แต่ทาง HD ได้ยุติการทำตลาดของโครง Dyna ทิ้ง ซึ่งมองว่าเฟรม Softail ใหม่ มันดีเพียงพอ จึงโอนถ่ายทั้ง 3 โมเดลนี้ มาอยู่ในเฟรมของ Softail ใหม่ เลย
จุดที่ดูง่ายๆ และเห็นความแตกต่างชัด คือ Dyna จะใช้โช้กอัพหลังคู่ ส่วน Softail เป็นโช้กอัพเดี่ยววางใต้เบาะ
Street Bob มันเป็นรถสไตล์ Raw Bobber ชัดเจนทั้งรูปทรงและตัวเบาะ แต่ใช้แฮนด์ยก Mini Ape
ไฟท้ายหายไป เพราะถูกยกมาอยู่ในชุดไฟเลี้ยว ดังเช่น S1000RR ใหม่
ท่อไอเสียปลายกระบอกคู่ทรงยาว ขนานพื้น
ล้อหน้าเป็นซี่ลวด 19″ 100/90B19 หลัง 150/80B16
นน. ตัว 297 กก.
มีมุม Rake ที่ 30 องศา
มาตรวัด Full Digital ไซส์ Minimal วางอยู่ตรงตำแหน่งตุ๊กตาแฮนด์ และแน่นอนว่าเดี๋ยวนี้ HD ใช้ระบบกุญแจเป็น Keyless มาหมดแล้ว
สำหรับขุมพลังนั้น จะเป็นบล็อก Milwaukee Eight 107 โดยรายละเอียดตัวเครื่องจะพ่นสีดำไปจนถึงท่อไอเสีย มีฝาครอบกรองเป็นทรงกลม เครื่องบล็อกนี้มีแรงบิด 144Nm
โดยภาพรวมก็ต้องถือว่า ok เพียงพอแล้ว กับการใช้งานแบบ อเมริกันครุยเซอร์ ยังพอมีแรงฉุดกระชากเวลาเร่งแซง หรือ ช่วงไต่เขาได้แบบสบายๆ แม้จะไม่ดิบดุดันมากนัก แต่ก็ถือว่ากับภาพรวมการใช้งานทำได้ดีทีเดียว นอกจากนี้เอกลักษณ์ของ HD เลยก็คือเรื่องของระบบสายพานขับเคลื่อน ที่สะดวกในการดูแลรักษา และไม่ส่งเสียงดัง รวมถึงส่งกำลังได้ลื่นไหล
ท่านั่งสไตล์ Bobber พักเท้า วาง Mid Control เวลาขี่นั่งขาแบะๆ หน่อยจะดูเท่มาก แบบนักเลงมะกัน
แฮนด์ Mini Ape ยกสูง แต่องศาค่อนข้างงุ้มเข้าหาตัว นั่งหลังตรงได้ไม่ลำบาก หรือ โดยภาพรวมก็ไม่ได้เมื่อยอะไรมากมาย
แต่ปัญหา ที่ผมเจอ คือ ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยคุ้นชินกับแฮนด์ยกสูงเช่นนี้เลย บวกกับ ลมที่แรงมากในเมือง Malaga ทำเอาผมขี่เกาะกลุ่มหน้าหลายคันที่เป็น Fatbob และ Low Rider S กันแทบไม่ทันเลยทีเดียว เพราะการทำความเร็วมากกว่า 100 kmph ขึ้นไปถือว่าค่อนข้างเหนื่อยจากลมปะทะที่แรงใน Malaga นี้มากพอสมควร
ส่วนการขี่เข้าโค้งแม้ ตำแหน่งพักเท้าวางกลาง จะทำให้การเข้าโค้งทำได้ค่อนข้างดี แต่ แฮนด์ยกสูง จึงอาจทำให้การคอนโทรลแบบเทเลี้ยวโค้ง จะสู้ Fatbar หรือ องศาแฮนด์บาร์ทั่วไป อย่าง Low Rider S ไม่ค่อยได้
ขณะที่ตัวเบาะหลังยังพอมี Support ให้อยู่เวลาเพราะอย่างที่บอกรถแนวนี้ไม่ต้องไปนั่งหนีบถังมาก (แต่ผมเองก็ยังติดเข่าหนีบถัง) ทำให้เวลาเปิดคันเร่ง ตัวเราจะถูกฉุดไปด้านหลัง ตัว Back Support ก็ยังพอช่วยได้อยู่บ้าง
หลังจากนั้นพอถึงจุดถ่ายรูปผมได้มีโอกาสสลับมาขี่ 2020 Low Rider S
สำหรับ Low Rider S นี้ จะเป็นรุ่นที่ไม่มีจำหน่ายในไทย ในไทยจะเป็นเพียง Low Rider ธรรมดา ไม่มี S
จุดที่ S เพิ่มเข้ามา ในส่วนของรูปลักษณ์ คือ สวมไอโม่ง Front Cowling
ตัวรถเน้นเป็นโทนสีดำ ทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจากตัวบ้านเราที่เป็นสีโครเมียม
เรื่องของความโดดเด่นในส่วนของสมรรถนะ ก็ใช้กหน้าแบบ USD ร่วมกับ ระบบเบรกทวินดิสก์
ไปจนถึงขุมพลังเครื่องยนต์ก็อัพความจุมาเป็นบล็อก Milwaukee Eight 114 มีแรงบิด 152 Nm แรงบิดมากกว่า 107 ที่อยู่ในตัวบ้านเรา รวมถึง Street Bob ราว 8 Nm
ทำให้มันขี่ได้ดุดันยิ่งขึ้น เปิดคันเร่งแล้วรู้สึกถึงแรงทอร์คบิดกระชาก หลังดึงติด Back Support เอาง่ายๆ
แต่เจ้า Low Rider S ตัวเบาะนั้น Back Support จะมีความสูงมากกว่า Street Bob และดูตัวเบาะเป็นมุมโค้งเว้ารับได้ดีกว่าเล็กน้อย ก็ดูจะช่วยได้ดีกว่า Street Bob ขึ้นมาอีกหน่อย
2020 Low Rider S ได้ติดตั้งไฟท้าย LED อยู่ทางบังโคลนท้าย
ท่อไอเสียทรงเดียวกับ Street Bob
ตัวมาตรวัดเป็นทรงถ้วยกลม 2 ถ้วย วางอยู่บนถังน้ำมันขนาดใหญ่ 18.9 ลิตร ถ้วยบนบอกความเร็ว พร้อมจอ Digital MID ขนาดเล็ก ถ้วยล่างบอกรอบเครื่อง
ล้อหน้า 19″ 110/90B19 หลัง 16″ 180/70B16
นน. ตัว 308 กก.
มีมุม Rake ที่ 28 องศา
ในการคอนโทรลรถเวลาเลี้ยวโค้ง ด้วยความที่ไซส์ล้อขนาดเท่าๆ กัน ตำแหน่งวางเท้า Mid Control เช่นกัน แม้ฟีลลิ่งการควบคุมของลำตัวท่อนล่างดูเผินๆ อาจจะไม่แตกต่างจาก Street Bob มากนัก แต่ไซส์ยางที่ให้มาเป็นหน้ากว้างกว่า ทำให้การเทโค้งทำได้ดีกว่า ขี่เข้าโค้งมั่นใจกว่ากันเยอะ
นอกจากนี้ช่วงแฮนด์บาร์ ที่มีองศากำลังพอดี งอศอกได้ตั้งฉาก รวมถึงมุม Rake จากช่วงแผงคอที่แคบกว่า ภาพรวมการคอนโทรลท่อนบนจึงดูดีกว่า ทำให้เวลา Turn แบบหักแฮนด์เลี้ยวทำได้ง่ายกว่าอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับระบบกันสะเทือน โช้กอัพหน้า USD ให้ฟีลที่ดูมั่นคงมั่นใจกว่า มีความหนืด และซับแรงสะเทือนขึ้นลำตัวได้ดีมากกว่า ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ระบบเบรกก็ถือว่าทำได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการใช้ระบบทวินดิสก์ทางด้านหน้า มีพละกำลังในการหยุดชะลอได้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ดีภาพรวมฟีลแม่ปั๊มบน ก็อาจจะไม่ได้ดูเบรกจิก แบบพวกตระกูลสปอร์ต ซึ่งก็ถือว่า เหมาะสมแล้วสำหรับรถแนวนี้
ปิดท้ายกันที่ 2020 Fat Bob 114 ซึ่งเป็นรถที่ผมได้หวดกันยาวๆ ทั้งวันนี้หลังจากที่ Switch มาขี่คันนี้
โดยภาพรวมดีไซน์ของมันค่อนข้างโดนใจวัยรุ่นยุคใหม่ มาก (รวมถึงผมด้วย) ไฟหน้ารูปทรงทันสมัยแบบ LED ถังน้ำมันขนาดเล็ก
ชุดไฟท้าย จะถูกยกไปอยู่ในไฟเลี้ยวเช่นเดียวกับ 2020 Street Bob นอกากนี้ตัวรถยังดีไซน์แบบท้ายโล่ง
โดยยกบังโคลนกันดีด + ขายึดทะเบียนมาไว้ที่ล้อหลัง
แฮนด์ Fatbar ขนาดใหญ่ และองศากางยาว
รวมไปถึงตำแหน่งพักเท้า ที่ค่อนไปทาง Forward Control (ที่จริงอยู่ระหว่าง Mid กับ Forward) ซึ่งวางขาจะต้องเหยียดไปข้างหน้าเสียหน่อย แบบนี้ก็จะช่วยลดความเมื่อยล้า เวลาขี่ไกลๆได้
ปลายท่อเป็นทรง Shotgun ดูเท่และดุดัน กวา่อีก 2 รุ่นข้างต้น
ตัวเบาะนั่งดูแบนกว่า Low Rider S แต่ Back Support มีความสูงพอๆกัน ซึ่งส่วนตัวผมว่า Low Rider S นั่งได้กระชับกว่า
ส่วน Fat Bob เป็นคันเดียวใน 3 รุ่นนี้ ที่มาพร้อมตำแหน่งเบาะนั่งผู้ซ้อน
มาตรวัดถ้วยกลมถ้วยเดียววางบนถังน้ำมัน วัดรอบเป็นสเกลโดยรอบ ความเร็วเป็นตัวเลขดิจิตอล
ขนาดล้อ 16″ หน้า-หลัง เท่ากัน สวมยางหน้ายางกว้าง ด้านหน้า 150/80-16 หลัง 180/70B16
ความจุถังน้ำมัน 13.6 ลิตร
นน. 306 กก.
มีมุม Rake 28 องศา
แม้ Fat Bob มีมุม Rake ที่ 28 องศาเท่ากัน กับ Low Rider S แต่การใช้ล้อหน้าขนาดเท่ากันทั้ง 16″ หน้าหลัง ร่วมกับไซส์ยางหน้าที่กว้างถึงเบอร์ 150
นั่นจึงทำให้มันมีความหนืดในช่วงการบังคับแฮนด์ มันจึงทำให้การหักเลี้ยวต่างๆ มีความหนืด หรือ หักวงเลี้ยวยากหน่อย ไม่เหมาะที่จะใช้การหักเลี้ยวในโค้ง ควรเทลีน ไปทั้งตัวรถ
ขณะที่ตำแหน่งวางขา Forward Control ก็อาจจะทำให้การเข้าโค้งไม่ถนัดเท่ากับ ตำแหน่ง Mid Control นัก
แต่เมื่อเริ่มชินแล้ว ผมต้องบอกว่า Fat Bob นับเป็น Cruiser ที่ขี่เทโค้งได้สนุกมากคันหนึ่งเลยนะ
ส่วนขุมพลัง Milwaukee-Eight 114 พ่นดำทั้งตัวยันการด์กันความร้อนท่อไอเสีย
ระบบกันสะเทือน และเบรก เหมือนกันกับ Low Rider S ผมจึงไม่ขอพูดซ้ำในส่วนนี้
สรุป 2020 Harley-Davidson Softail ที่ประกอบไทย ถือเป็นรถที่ยังคงรูปลักษณ์ ดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ของ HD แต่ปรับปรุงให้มีความทันสมัย และการขับขี่ที่ดูเป็นมิตรยิ่งขึ้น
น่าจะเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักบิดวัยรุ่นยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fatbob ซึ่งผมถือได้ว่า มันเป็นรถดีไซน์โดนใจคนยุคใหม่ อย่างผมมาก
และอเมริกันครุยเซอร์ ในยุคหลังที่ได้ปรับ Performance ขึ้นมาให้ขี่สนุก และพอที่จะทำราคา สู้แข่งกับพวกรถ ครุยเซอร์อิตาลีสาย Hi Performance ได้อยู่ล่ะ
นอกจากนี้ ต้องบอกว่างานประกอบจากไทยเรา ถือได้ว่า แทบไม่แตกต่างจากตัวประกอบโรงงาน USA เลยครับ ไม่แปลกใจที่ยอดขาย HD ในบ้านเรานั้นโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับราคาจำหน่าย 2020 Harley-Davidson Fat Bob 114 ราคา 1,069,000 บาท
ส่วน 2020 Harley-Davidson Street Bob ราคา 869,000 บาท
สำหรับ ใน วันที่ 2 ซึ่งจะเป็นการทดสอบ ในโมเดล Sportglide และ Heritage เราจะมา นำเสนอกันต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ
อ่านข่าวรีวิว Harley-Davidson Livewire ได้ที่นี่
อ่านข่าว Harley-Davidson เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่าน รีวิว อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ