ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ KTM Thailand ภายใต้การทำตลาดของผู้แทนจำหน่ายเจ้าใหม่ Burn Rubbers ได้เน้นรุกตลาดทำแบรนด์ KTM อย่างหนัก เพื่อทำตลาดโมเดล Duke และ RC ในตระกูล 250 และ 390 เพื่อแข่งขันในคลาส Entry Bike กับรถญี่ปุ่น ทั้งการอัดแคมเปญ โปรโมชั่น และทำราคาที่น่าสนใจยิ่งขึ้น นั่นจึงทำให้ผู้คนไม่น้อยให้ความสนใจในโมเดลDuke,RC รุ่นเล็กกันมากยิ่งขึ้น ทาง MotoRival ของเราจึงขอมาทำรีวิว KTM 250 Series ในโมเดล 250 Duke และ RC250 ทั้ง 2 คัน เพื่อให้แฟนๆ ผู้สนใจในรถค่ายส้มนี้ ได้มองเป็นทางเลือกก่อนตัดสินใจซื้อรถในกลุ่มนี้กันครับ
เริ่มที่ KTM RC250 ถือเป็นรถสปอร์ตขนาดเล็ก ดีไซน์อันโดดเด่นสะดุดตา
เบาะนั่งท้ายที่ทำจากโฟมขึ้นรูปทั้งชิ้นดูคล้ายตูดมดขนาดใหญ่ ช่วยให้ผู้ซ้อนนั่งได้สบาย ไม่เหมือนสปอร์ตคันอื่นๆ ที่นั่งแสนจะลำบาก
ไฟท้ายแบบ LED รวมไปถึงการดีไซน์ เพื่อรองรับผู้ชื่นชอบทำท้ายโล่ง เพียงแค่ถอดน๊อตเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น
กระจกมองข้างซึ่งมีไฟเลี้ยวอยู่ที่ก้านกระจก เป็นรูปทรงใหม่ใน โมเดลปี 2016
ยางเปลี่ยนจาก Metzeler มาใช้ Pirelli Diablo Rosso II โดยคงไซส์เดิม หลังหน้ากว้าง 150 มม. และด้านหน้ากว้าง 110 มม.
ชุดเรือนไมล์แบบดิจิตอล ซึ่งถูกยกมาจาก Duke ความเร็วเป็นเลขดิจิตอล รอบเครื่องยนต์เป็นแถบในแนวนอนด้านบน มีไฟบอกเกียร์เลข 0-6 เซ็ททริป A,B ได้ มีแสดงผลอัตราสิ้นเปลือง พร้อมเซ็นเซอร์ขาตั้งเตือน Side Stand Down ปุ่มกดทางด้านซ้าย ค่อนข้างแข็งกดลำบากหน่อย หากใครไม่รู้ที่จริงมันมีปุ่มกดปิด-เปิด ABS ด้วย คือ ปุ่มที่อยู่ด้านล่าง Set ไม่มีระบุอักษรใดๆ
RC250 มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 147 กก.
ความสูงเบาะ 820 มม.
ความจุถังน้ำมัน 10 ลิตร
สำหรับท่านั่งนั้นคล้ายรถ Supersport แม้แฮนด์อาจจะไม่ต่ำเท่า แต่ด้วยความที่เบาะสูงถึง 820 มม. ก็ถือว่าส่งผลให้ท่านั่งนั้นต้องก้มหลังงอก้นแบบ Supersport กันเลย
กระจกมองข้างที่สามารถพับใช้งานได้อย่างง่ายดาย เพียงมือเดียว ทำให้สะดวก เมื่อรถติดก็สามารถบิดพับเข้าหากันได้ทันทีสามารถขี่ซอกแซกการจราจรได้อย่างสบาย แต่ปัญหาหนึ่งที่พบคือ เมื่อพบกระจก ในโมเดลปี 2016 ตัวใหม่นี้ หากหักแฮนด์เลี้ยวมือจะติดกับขอบกระจกที่พับ
แต่ปลอกมือ แบบหนามดูจะเป็นอะไรที่อาจจะขัดกับรถทรง Sport แบบนี้ไปเสียหน่อยขนาด Grip ถือว่าใหญ่กระชับมือทีเดียว หากเทียบกับรถญี่ปุ่นคลาส 250-300cc คันอื่นๆ
มาต่อกันที่ KTM Duke 250 รถ Street Naked ร่างเล็กเหมาะกับขี่ในเมือง ขณะที่รายละเอียดอย่างเบรก, ล้อ, โช้คอัพ ก็ใช้เหมือนกันกับ RC (ที่จริงแล้ว RC นำของ Duke มาใช้)
ในโมเดล Duke 250 นี้ ปลายท่อด้านใต้ท้องรถ คันนี้ดูจะยื่นยาวออกมาเกินหม้อพักมากไปหน่อย ซึ่งอาจดูไม่เรียบร้อยในจุดนี้
ในส่วนของแผงหน้าปัดเป็นเช่นเดียวกับ RC จึงไม่ขอกล่าวซ้ำ
Duke 250 มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 139 กก.
ความสูงเบาะ 800 มม.
ความจุถังน้ำมัน 11 ลิตร
ด้านท่านั่ง แม้จะเป็นรถ Naked แต่ด้วยน้ำหนักที่เบา และดีไซน์ที่เพรียวบาง ทำให้มันดูจะออกไปทางรถ Moto และแฮนด์ Fat Bar ที่ดูกว้าง ปลายแฮนด์ที่เชิดขึ้น ทำให้ท่านั่งออกลักษณะกางแขนแบะศอกคล้ายท่าขี่รถ Supermoto
การขี่ซอกแซกในเมืองนั้น หากมีช่องให้พอพลิ้วได้ ก็ค่อนข้างมุดได้คล่องตัว แต่ในช่วงที่รถติดหนักๆ อาจต้องค่อยๆ เขยิบตัวรถกันไป เพราะตำแหน่งแฮนด์ และกระจก ที่ตำแหน่งดูจะใกล้กับกระจกรถยนต์ ช่วงนี้จึงอาจทำให้การมุดรถติดหนักๆ ความคล่องตัวจะสู้ RC ไม่ได้ เนื่องจากแฮนด์เตี้ยผ่านฉลุย
ตำแหน่งวางขานั้น Duke มีท่าทางค่อนไปทางรถสปอร์ตจากตำแหน่งวางเท้าที่ดูจะเยื้องออกไปทางด้านหลัง นั่นจึงทำให้เวลาขี่ทางไกล อาจจะมีเมื่อยกันบ้าง แต่โดยรวมแล้วท่าขี่ก็ดูเท่เกิน Naked คันใด
สำหรับเบาะนั่งซ้อนท้าย ดูจะค่อนข้างเล็กไปนิด หากเทียบกับ RC แล้ว RC จะนั่งสบายกว่าทั้งที่เป็นรถรูปทรง Sport
เครื่องยนต์ของ KTM 250 Series เป็นเครื่องยนต์ 1 สูบ ความจุ 248.8cc ระบายความร้อนด้วยน้ำ ให้กำลัง 31.3 hp@9,000rpm และแรงบิดสูงสุด 24Nm@7,250rpm
เริ่มต้นบิดกุญแจสตาร์ทกันเลย กำคลัช พบว่าน้ำหนักคลัชเบามาก แทบจะเบากว่ารถเล็กระดับ 125cc เสียด้วยซ้ำ ลองเบิ้ลเครื่องดู พบเสียงท่อดูแปล่งๆ เช่นเคยตามแบบ 1 สูบ KTM ซึ่งไม่ค่อยจะไพเราะนัก แต่นั่นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่เราจะพูด เพราะสมรรถนะต่างหากที่มันน่าสนใจกว่า
ใน 250cc นี้ การขี่ออกตัวที่ความเร็วรอบต่ำ มีพบอาการสำลักเล็กน้อยแต่เทียบกับ 390 ที่เคยทดสอบไปก่อนหน้านี้ ถือว่าดีขึ้นมาก แต่หากไม่ชินกับสไตล์รถ ก็อาจมีดับได้ เพราะต้องเลียคลัชไว้เล็กน้อย ร่วมกับการเปิดคันเร่งช่วยในบางจังหวะ ด้วยทอร์คที่มีไม่มากนักช่วงออกตัวจึงอาจไม่ได้สัมผัสถึงความแรง หรือรู้สึกแตกต่างจากเพื่อนๆ รถญี่ปุ่น 250cc 1 สูบเท่าใด แต่เมื่อเปิดคันเร่งลากไปยาวๆ จนเกือบเข้า Redline จน Shift Light ขึ้นเตือน ก็พอสัมผัสได้ถึงกำลังแรงม้าที่มี + กับน้ำหนักตัวที่เบาทำให้รถดูพุ่งอัตราเร่งถือว่าใช้ได้ ถ้าหากต้องการรีดกำลังอัตราเร่งของเครื่องบล็อก 250cc นี้ให้แรงมาต่อเนื่องไม่ตก ก็ควรลากสับเกียร์ในช่วง 7,000rpm บริเวณใกล้ๆทอร์คสูงสุด หากขี่ลากรอบสูงระดับ 9,000rpm ขึ้นไปนั้น จะพบว่ากำลังเริ่มลดลง และอาการเครื่องสั่นก็มีให้สัมผัสกันพอสมควร
ขณะที่อาการสั่นในช่วงรอบสูงๆ พบน้อยกว่ารุ่น 390 และ 690 แต่หากเทียบกับเพื่อนรถญี่ปุ่น 1 สูบ 250cc แล้วยังดูสั่นกว่า
ด้านความร้อนนั้น ในรุ่น 250 นี้ ช่างแตกต่างจากเครื่องยนต์ 390 เป็นอย่างมาก ในโฉม 390 เรียกได้ว่าร้อนเอาเรื่องทีเดียว ขณะที่ 250 นั้น ถือว่าปกติธรรมดา ไม่ร้อนจนทรมานแต่อย่างใด แต่หากพัดลมหม้อน้ำทำงานก็จะสัมผัสความร้อนได้มากขึ้นอีกนิดหน่อย แต่ถึงอย่างไรก็ดียิ่งในโฉม Duke ซึ่งเปลือย จะให้ความร้อนผ่านโครงถักมาทางต้นขาซ้ายมากกว่า
ระบบช่วงล่างจาก WP นี่เป็นจุดเด่นของ KTM เลย ด้วยโช้คหน้า Inverted Fork ขนาดแกน 43 มม. ด้านหลัง Monoshock แบบเดียวกับ 390 Series
RC250 ยังคงสัมผัสได้ถึงสมรรถนะช่วงล่างอันยอดเยี่ยม ไม่ว่าจะขี่ที่ความเร็วสูง แฮนด์ลิ่งของ RC ยังนิ่งแน่นอนว่า แฮนด์แบบยึดแผงคอทั้งชิ้น และตำแหน่งต่ำแบบรถ Supersport ให้ความมั่นคงสูง ขณะที่อาการของช่วงล่างหลังก็แข็งตามสไตล์ Sport
สำหรับโมเดล Duke390 ฟีลลิ่ง ออกแนวรถ Moto มากกว่า Streetbike โดยรวมช่วงล่างค่อนข้างแข็ง เพราะมันเป็นรถ Naked Sport ด้วยรูปทรงรถเปลือย หากซัดเจ้า Duke ด้วยความเร็วสูง ความมั่นคงจะพบเลยว่าสู้ RC ไม่ได้ หัวเบา ทำให้หน้าไว มีอาการส่ายให้เห็น ขี่ความเร็ว 130 กม./ชม.ขึ้นไปเริ่มมีอาการชัดขึ้น และด้วยท่านั่งที่อาจต้องแบะกางแขนออก ยิ่งทำให้โต้ลมมากขึ้น หากขี่เร็วต้องหุบศอกชิดถังน้ำมัน
ด้านระบบเบรก ABS จาก Bosch MP9 ด้านหน้าดิสก์เบรกจานเดี่ยวขนาดจาน 300 มม. คาลิปเปอร์ 4 ลูกสูบ และจานหลังเดี่ยวขนาด 230 มม. คาลิปเปอร์ 1 ลูกสูบ จาก bybre (by brembo) ซึ่งเป็นเบรก OEM ของ Brembo ที่ทำมาใช้กับรถเล็ก
ในด้านการชะลอความเร็วหยุดรถนั้น แน่นอนว่ามันถูกนำไปใช้ใน 390 Series ด้วย ดังนั้นกับ 250cc แล้ว ถือว่าเพียงพอแก่การใช้งาน แม้ว่าฟีลลิ่งการแตะเบรกนั้นดูจะแข็งทื่อไปบ้าง รวมไปถึงถ้ารำคาญการทำงานของ ABS ที่ล้อหลังซึ่งดูจะทำงานดีไปหน่อย คุณก็ปิด ABS ทิ้งได้ ขณะที่รถพิกัด 600 หรือ 800cc หลายรุ่นที่ติดตั้ง ABS มาให้ยังไม่สามารถปิดได้ด้วยซ้ำ นั่นจึงทำให้การกะควบคุมระยะเบรกในรถ KTM 250 Series ทำได้แม่นยำยิ่งขึ้น
สรุป KTM 250 Series ทั้ง 2 โมเดล นั้นยังคงจุดขายที่รูปลักษณ์อันโดดเด่น รถที่ดูคล่องตัวจากน้ำหนักที่เบา รวมไปถึงสมรรถนะการขับขี่ที่แตกต่างจากรถคันอื่นๆในพิกัดเดียวกัน
ผู้ที่ชื่นชอบสไตล์ Supersport แท้ๆ RC ถือเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ได้อย่างเหมาะสมที่สุด โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องไปซื้อรถ Supersport 600cc ที่แสนแพง
ขณะที่ Duke ได้รางวัลการันตีจากรุ่นพี่ Duke 390 พี่จากสื่อต่างประเทศให้เป็น Best Lightweight Streetbike มาแล้วด้วย
แม้ว่าราคาของ KTM 250 Series ดูเทียบเท่ากับรถคลาส 300cc จากญี่ปุ่น แต่ต้องไม่ลืมว่า นี่คือรถค่ายส้มอันเลื่องชื่อแบรนด์ดังจากยุโรป ซึ่งมาพร้อมสเป็กออปชั่นที่โดดเด่นกว่า ทั้งเบรก Radial และช่วงล่างจาก WP
ดังนั้นผู้ที่ชื่นชอบและรักในค่ายสีส้มนี้ คงไม่มองราคาที่แพงกว่ารถญี่ปุ่นในการตัดสินใจซื้อเจ้า KTM 250 Series เป็นแน่
KTM Duke 250 ราคาอยู่ที่ 1.799 แสนบาท และ KTM RC 250 ราคาอยู่ที่ 1.899 แสนบาท
- น้ำหนักเบา ให้ความคล่องตัวสูง และการควบคุมรถทำได้ค่อนข้างดี
- ระบบกันสะเทือนที่ยอดเยี่ยมระดับรถ Supersport + ปั๊มเบรกแบบ Radial
- ใส่ Slipper Clutch มาให้ พร้อมยาง Diablo Rosso II
- เสียงท่อไอเสียที่ดูแผด ซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกันตั้งแต่รุ่น 200-690
- อาการสั่นแม้น้อยกว่า 390, 690 แต่หากเทียบกับรถญี่ปุ่นสูบเดี่ยวยังดูสั่นกว่า
ขอขอบคุณ Burn Rubbers สำหรับรถทดสอบ KTM 250 Series ทั้ง 2 รุ่น
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
อำพล มูลทองสุข Co-Driver
อ่านรีวิวรถอื่น เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าวสาร KTM เพิ่มเติมที่ได้ที่นี่
อ่านรีวิว KTM RC390 & 390 Duke ได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ
KTM RC250
KTM Duke250
KTM 250 Series
KTM RC250, Duke250 รถ Entry Bike ตัวจี๊ดสูบเดี่ยว 250cc ค่ายส้ม น้ำหนักเบา คล่องตัวขี่สนุก
-
รูปลักษณ์
-
เครื่องยนต์
-
การควบคุม
-
เทคโนโลยี
-
ความคุ้มค่า