รีวิว Suzuki V-Strom 1050 XT The Master of Adventure จากทีมงาน MotoRival พร้อมที่จะให้เพื่อนๆได้รับชมกันแล้วในวันนี้ หลังจากที่ แอดเวนเจอร์ไบค์ ฉายา เจ้าพายุ โฉมใหม่ ในพิกัดลิตร ได้ถูกเปิดตัวอย่างเปั้นทางการในไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียด, ความน่าสนใจ, และสัมผัสที่ได้จากการทดสอบมันอย่างจัดเต็มโดยพวกเราจะเป็นอย่างไรบ้าง ? เรามาดูกันเลยครับ
เริ่มกันที่หน้าตา Suzuki V-Strom 1050 XT จะทิ้งความโค้งมนในใน V-Strom 1000 ทิ้งไปทั้งหมด เพื่อหันไปอ้างอิงดีไซน์จากรุ่นพี่ในตำนาน อยาก 1988 Suzuki DR-Z, DR-Big นั่นจึงทำให้มันดูมีความบึกบึน เป็นเหลี่ยมสันขึ้นมาก
ไฟหน้า LED (บล็อกเดียวกับ Katana) และมาพร้อมกับชุด Half-Faring ในแบบที่คล้ายกับ Katana
และไฟเลี้ยวกับไฟท้ายก็เป็นหลอด LED เช่นกัน
ปากบังโคลนหน้า ที่เชื่อมต่อลากยาวไปยังแฟริ่งข้างไปจนถึงถังน้ำมัน ลากเส้นชัดเจนจรดผ่านแฟริ่งกลางลำตัวไปจนถึงบั้นท้าย
วินชิลด์หน้า ปรับได้ด้วยการโยกกระเดื่องล็อคอลูมิเนียมทางด้านล่างขึ้นเพื่อปลดล็อกแล้วถึงจะเลื่อนชิลด์หน้าขึ้น-ลงได้
การ์ดแฮนด์พลาสติกขนาดใหญ่ช่วยป้องกันมือผู้ขี่จากลม และการถูกปะทะโดยกิ่งไม้ หรืออุปสรรคต่างๆได้ดี
แฮนด์บาร์แบบ อลูมีนัมเทปเปอร์ แข็งแรงเบา เหมาะกับสาย Off-Road ถูกออกแบบองศาความโค้งมนมาอย่างดีเพื่อให้เข้ากับดีไซน์ของตัวรถ
มือเบรก-มือคลัทช์สามารถปรับระดับได้ด้วยการหมุนเหรียญปรับ แต่ฝั่งมือเบรกจะปรับได้ 5 ระดับ ส่วนมือคลัทช์จะปรับได้ 4 ระดับ
ชุดประกับสวิทช์ด้านขวาประกอบไปด้วย Engine Kill-Switch ที่จะรวมเป็นชุดเดียวกับสวิทช์สตาร์ท, สวิทช์เปิดการทะงานของระบบ Cruise Control, และสวิทช์ไฟฉุกเฉิน
ส่วนชุดประกับสวิทช์ด้านซ้ายจะประกอบไปด้วย สวิทช์แตร, ไฟเลี้ยว, สวิทช์เปิดปิดไฟสูง-ต่ำ ซึ่งจะรวมเป็นสวิทช์ไฟ Pass Light ไปในตัว, และที่เห็นตรงกลางคือสวิทช์ปรับเซ็ทการทำงานของหน้าจอและโหมดการทำงานของตัวรถต่างๆ
มาตรวัด ฟูลดิจิตอล LCD backlight สีน้ำเงิน แสดงผลครบครันทั้งรอบเครื่องยนต์, ความเร็ว, ตำแหน่งเกียร์, ระดับอุณหภูมิเครื่องยนต์, อุณหภูมิแวดล้อม, ระยะทางรวม, ระยะทางทริป (A/B), อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยตลอดทริป, อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแบบ Real-Time และมีการใส่ไฟชิฟท์ไลท์ที่สามารถปรับได้ตั้งแต่ 4,000 – 8,500 รอบ/นาที เอาไว้ให้ด้วย
ด้านซ้ายของมาตรวัดมีช่อง USB ไว้สำหรับจ่ายไฟ
และยังมีช่องจ่ายไฟ 12V ที่ใต้เบาะสำรองให้อีกด้วย
เบาะนั่งแยก 2 ตอน ขนาดใหญ่ นิ่มและใช้วัสดุกันลื่น สามารถปรับความสูงให้เพิ่มขึ้นได้อีก 20 มม. ในฝั่งผู้นั่ง และเบาะผู้ซ้อนมีการทำลายนูนเป็นโลโก้ชื่อรุ่น “V-STROM”
มือจับกันตกอลูมิเนียมเป็นแบบแร็คหลัง Built-in ไปในตัว
ชุดเฟรมเป็นอลูมีเนียม Twin-Spar น้ำหนักเบา
และด้วยความเป็นตัวรถรหัส XT ในคันนี้จึงติดตั้ง Crashbar มาให้พร้อม
ชุดล้อซี่ลวดอลูมีเนียมแบบทูบเลส ด้านหน้าไซส์ 19″ ด้านหลัง 17″
สวมยางหน้าไซส์ 110/80-19 และหลัง 150/70-17 รองรับการใช้งานแบบลูกครึ่งระหว่างทางดำและทางฝุ่นได้เป็นอย่างดี
ระบบเทคโนโลยี V-Strom 1050 XT ที่ให้มา ต้องบอกว่าจัดเต็ม ทั้ง ระบบคันเร่งไฟฟ้า, Riding Mode ปรับได้ 3 โหมด, IMU 3 แกน 6 ทิศทาง, Cruise Control ทำงานที่ความเร็ว 50-160 kmph โดยต้องใช้เกียร์ 4 ขึ้นไป, TCS ปรับได้ 3 ระดับ + ปิด, ABS ปรับได้ 2 ระดับ
นอกจากนี้ ยังมีระบบ Suzuki S.I.R.S ที่ทำงานประสานกับ IMU อีกที โดยจะแบ่งเป็นระบบย่อย 4 ระบบประกอบไปด้วย
– ระบบ Traction Control 3 ระดับ (+ ปิดได้) : ระบบช่วบควบคุมอัตราการยึดเกาะของล้อหลัง หรือระบบป้องกันล้อหลังลื่นไถลตอนเปิดคันเร่ง
– ระบบ Motion Track Brake 2 ระดับ: ระบบช่วบควบคุมแรงเบรก และปรับความไวของ ABS ให้เข้ากับสภาพการเคลื่อนที่ของรถทั้งทางตรงและขณะอยู่ในโค้ง (Cornering-ABS)
– ระบบ Hill Hold Control : ระบบป้องกันรถไหลขณะจอดบนทางชัน ซึ่งระบบจะเบรกหลังให้เองอัตโนมัติเมื่อพบว่าผู้ขี่จอดรถบนทางชัน และจะปล่อยเบรกเองทันทีเมื่อผู้ขี่เริ่มออกตัว
– ระบบ Slope Dependent Control : ระบบกระจายแรงเบรกหน้า-หลัง เพื่อป้องกันล้อหลังลอยโดยไม่ได้ตั้งใจขณะลงทางชัน
– ระบบ Load Dependent Control : ระบบควบคุมและกระจายแรงเบรกตามน้ำหนักบรรทุกให้ตัวรถมีความสมดุลขณะเบรก
มิติรถ V-Strom 1050 XT
กว้าง x ยาว x สูง : 940 x 2,265 x 1,465 มม.
ความสูงเบาะ : 850 มม. (ปรับความสูงเบาะเพิ่มเป็น 870 มม. ได้)
ระยะห่างจากพื้น : 160 มม.
ความยาวช่วงล้อ : 1,555 มม.
น้ำหนักตัวรวมของเหลว : 247 กก. (Wet)
ท่านั่ง
ด้วยความเป็นเอดเวนเจอร์ไบค์รุ่นใหญ่ ทำให้แม้สำหรับผู้ขี่ที่สูงไม่ถึง 168 เซนติเมตร อย่างผู้ทดสอบ จะสามารถใช้ขาวาดข้ามเบาะหลังเพื่อนั่งได้เลยแบบไม่ติดขัด โดยไม่ต้องเหยียบพักเท้าช่วยขึ้น แต่ในท่ายืนจอดจริงๆ กับเบาะที่สูงถึง 850 มิลลิเมตร จึงทำให้ผู้ทดสอบสามารถใช้ได้แค่ปลายเท้าเท่านั้นในท่ายืนจอดแบบใช้ขาลงทั้งสองฝั่ง หรือถ้าหากจะให้ใช้เท้าเหยียบเต็มฝ่าด้วยขาข้างเดียวให้ได้ นอกจากจะต้องเอียงก้นช่วยแล้ว ก็อาจจะต้องเอียงรถลงมาหน่อยด้วยอยู่ดี เนื่องจากตัวเบาะช่วงหว่างขาค่อนข้างกว้าง
ส่วนลำตัวช่วงบน แม้ตำแหน่งแฮนด์บาร์จะสูงตามสไตล์แอดเวนเจอร์-ทัวร์ริ่งไบค์ แต่ระนาบของมันก็ไม่ได้สูงจากเบาะนั่งมากนัก ทำให้ผู้ขี่ไม่รู้สึกว่านั่งแล้วจมแต่อย่างใด การวางแขนอยู่ในระดับกำลังสบาย และความกว้างก็อยู่ในระดับที่สามารถใช้ออกท่าทางในการใช้แรงแขนเพื่อหักแฮนด์เลี้ยวซอกแซกผ่านอุปสรรคได้ง่าย ทั้งตอนยืน และตอนนั่ง พอบวกกับท่านั่งที่หลังค่อนข้างตรง และเบาะนั่งที่ค่อนข้างกว้าง และพักเท้าที่ไม่ได้เตี้ย หรือถอยหลังมากไป ทำให้ผู้ขี่สามารถนำไปใช้งานเดินทางระยะไกลได้สบายๆ
แต่จุดสังเกตุเกี่ยวกับท่านั่งของ V-Strom 1050 XT จะมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน นั่นคือด้วยความกว้างของเบาะนั่งช่วงหว่างขา ที่อาจทำให้สามารถนั่งขี่ได้สบาย ทว่าจุดนี้กลับจะทำให้ความคล่องตัวและกความกระชับในการใช้ขาหนีบตัวรถตอนยืนขี่น้อยลงไป ซึ่งอันที่จริงจุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้อีกที นอกจากนี้ ด้วยตัวการ์ดแฮนด์ขนาดใหญ่เสริมเข้ามา กับแครชบาร์ที่อยู้ด้านล่าง จึงทำให้นอกจากจะต้องพะวงเรื่องความสูงของกระจกมองข้างรถกระบะแล้ว ยังต้องระวังเรื่องความกว้างของการ์ดแฮนด์ กับแครชบาร์ ที่ยื่นออกไปด้วยอยู่บ้างในยามลัดเลาะช่องจราจรแคบๆ ทว่ามันก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ประเภทนี้ที่ต้องเจอกันแทบทุกคันอยู่แล้ว
ขณะที่เบาะนั่งผู้ซ้อนก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน ทำให้แม้ผู้ทดสอบจะตัวค่อนข้างหนา แต่ก็สามารถนั่งได้เต็มก้น นอกจากนี้ ด้วยความที่ผิวสัมผัสของหนังหุ้มเบาะค่อนข้างหนืด และมือจับกันตกด้านหลังที่แข็งแรง ใหญ่ และจับได้กระชับพอดีมือ ดังนั้นจึงหายห่วงได้เลยเกี่ยวกับเรื่องการเบรกหนักๆแล้วตัวจะไหลไปชนผู้ขี่
ขุมพลังเครื่องยนต์ ของ V-Strom 1050 XT แม้จะมีการเปลี่ยนชื่อรุ่น แต่ความจริงแล้วมันก็ยังคงเป็นบล็อค สูบ V-Twin ทำมุม 90 องศา ระบายความร้อนด้วยน้ำ ความจุ 1,037cc เท่าเดิมกับโฉมก่อน แต่ด้วยการปรับจูนใหม่ตั้งแต่ชิ้นส่วนภายใน และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอากาศขาเข้าและขาออกทำให้ได้กำลังเพิ่มขึ้น 7% ในช่วงรอบกลาง-ปลาย และยังมีการเปลี่ยนไปใช้หม้อน้ำขนาดใหญ่ขึ้น ระบายความร้อนดีขึ้นอีก 15% เมื่อเทียบกับ V-Strom 1000 รุ่นเดิม มันจึงให้กำลังสูงสุด 100 PS ที่ 8,500 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุดอีก 100 นิวตันเมตร ที่ 6,000 รอบ/นาที (สำหรับสเปคประเทศไทย)
พร้อมส่งกำลังด้วยชุดเกียร์ 6 สปีด มีกลไกสลิปเปอร์คลัทช์ติดตั้งไว้เพื่อความปลอดภัย และปั๊มแรงดัน (ไฮดรอลิกคลัทช์) มาให้อีกเพื่อความนุ่มนวลในการควบคุมคลัทช์ที่มากกว่าชุดคลัทช์สายปกติ
จากการทดสอบใช้งานจริง หากเปิดโหมดการทำงานของเครื่องยนต์เป็นโหมด B ซึ่งถือเป็นโหมดระดับกลาง เน้นการใช้งานบนทางดำในเมือง หรือการขี่แบบชิลๆ มีคนซ้อน ผู้ทดสอบพบว่าการเรียกอัตราเร่งของเจ้า V-Strom 1050XT ถือว่ามีความติดมือ เป็นไปตามสั่ง ไม่มีอาการหน่วงให้รู้สึกแต่อย่างใด แม้จะมีการปรับมาใช้คันเร่งไฟฟ้าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับย่านการทำงานของเครื่องยนต์ช่วง 4,000 รอบ/นาที ขึ้นไป ขณะที่แรงบิดในย่านรอบกลาง-ปลายก็เหลือเฟือ สามารถบิดเพิ่มความเร็วเพื่อเร่งแซงขณะอยู่ในเกียร์ 6 โดยไม่ต้องตบลงมาเกียร์ 5 ได้สบายๆ เว้นเสียแต่ว่าเพื่อนๆต้องการความฉับไวในการเร่งแซงจริงๆ
แต่ในขณะเดียวกัน หากปรับโหมดการทำงานเครื่องยนต์เป็นโหมด A จังหวะการทำงานของเครื่องยนต์ตอนเปิดคันเร่งจะรู้สึกได้ชัดเจนว่ามันมีความดุดัน สมกับความเป็นเครื่องยนต์สูบ V-Twin จากค่ายคนบ้ามากขึ้น หากไม่เอียงโน้มตัวไปข้างหน้ารอไว้ อาจจะมีเหวอๆเป็นพักๆ หรือถ้าเผลอกระแทกคันเร่งออกตัวสุ่มสี่สุ่มห้า ล้อหน้าก็พร้อมจะลอยให้สะใจเล่นกันได้เลย และถ้าหากนำไปขี่บุกตะลุย ผู้ขี่ก็สามารถใช้ตีนต้นของโหมดเครื่องยนต์นี้ เปิดคันเร่งเพื่อไต่ข้ามอุปสรรคสูงๆข้างหน้าได้สบายๆ แต่ส่วนตัวผู้ทดสอบก็ยังชอบใช้ โหมด B มากกว่าอยู่ดี เพราะมันสามารถควบคุมคันเร่งและการสไลด์ของล้อหลังยามปิดการทำงานของ Traction Control ได้ง่ายกว่าตอนบุกตะลุยทางดิน ดังนั้นโหมด A จึงเหมาะสำหรับการนำรถไปวิ่งสนุกๆบนทางดำแบบลัดเลาะแล้วเล่นกับโค้งในเขามากกว่าในมุมมองของผู้ทดสอบ
ในโหมด C จะเป็นโหมดที่หน่วงคันเร่งให้ทำงานนิ่มนวลมากที่สุดจนแทบไม่รู้สึกถึงความเป็นเครื่อง V-Twin เลยสักนิด เรียกได้ว่าคนละอารมณ์กับโหมด A แบบต่างขั้ว ทั้งในส่วนของอัตราเร่งที่จะค่อยๆใต่ขึ้นแบบเอื่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่ล้อหลังจะไถลออกตอนเปิดคันเร่ง และเอนจิ้นเบรกที่ทำงานร่วมกับชุดกลไกลสลิปเปอร์คลัทช์ ไม่ได้ปิดคันเร่งแล้วดึงความเร็วรถลงอย่างรวดเร็วในทันที เพื่อป้องกันอาการล้อหลังล็อคสไลด์ ซึ่งจะทำงานได้ดีอย่างมากกับโหมดแทรคชันคอนโทรลระดับ 3 และ Motion Track Brake ABS ระดับ 2 ที่ต่างก็จะทำงานได้ฉับไวที่สุดทั้งคู่
ส่วนความเร็วเดินทางหากเตะเกียร์ 6 แล้วขี่รถด้วยความเร็วราวๆ 140-150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผู้ทดสอบพบว่ามันจะใช้รอบแค่เพียงราวๆ 4,000-5,000 รอบ/นาทีเท่านั้น ถือว่าเป็นการปรับเซ็ทอัตราทดที่ช่วยประหยัดรอบเครื่องเป็นอย่างมาก ทำให้การใช้งานรถด้วยความเร็วเท่านี้ ดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับมันไปเลย ขณะที่ความเร็วปลายก็สามารถไต่ถึงระดับ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยเกียร์ 5 ได้สบายๆ แล้วหลังจากนั้นถึงจะเริ่มรู้สึกว่าด้วยขนาดตัวรถที่ใหญ่และหนา ทำให้ตัวรถค่อนข้างต้านลม และไต่ความเร็วหลังจากนั้นขึ้นไปอีกได้ช้าค่อนข้างมาก ซึ่งเพื่อนๆสามารถดูจากคลิปการทดสอบ Top Speed ของมันที่เราได้เคยทำไว้ได้เลยที่นี่
ด้านอัตราสิ้นเปลือง ด้วยความที่ผู้ทดสอบเป็นคนค่อนข้างมือหนัก ดังนั้นตัวเลขตรงนี้จึงอยู่ในเรท 17-18 กิโลเมตร/ลิตร ซึ่งก็เป็นอัตราสิ้นเปลืองที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของรถมอเตอร์ไซค์พิกัดนี้ แต่ถ้าหากขี่แบบปกติ ไม่ได้เอะอะเปิดคันเร่ง หรือใช้ความเร็วในการเดินทางมากไป ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองก็พร้อมจะขยับขึ้นมาแตะหลัก 20 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้สบายๆ ดังนั้นกับความจุถังน้ำมันหลัก 20 ลิตร จึงทำให้มันรองรับการเดินทางไกลระดับราวๆ 400 กิโลเมตร ต่อน้ำมันหนึ่งถังได้แน่นอนถ้าหากผู้ขี่มือเนียนมากพอ
ระบบกันสะเทือน
โช้กหน้า หัวกลับ ขนาดแกน 43 มิลลิเมตร ปรับเซ็ทได้ทุกค่า
โช้กหลังเดี่ยว สามารถปรับพรีโหลดได้ด้วยรีโมททางด้านข้างและปรับรีบาวน์ได้ด้วยตัวปรับทางด้านล่าง ทำงานร่วมกระเดื่องทดแรงและสวิงอาร์มอลูมิเนียมขนาดใหญ่
การเซ็ทติ้งในภาพรวมของระบบกันสะเทือนที่อยู่ใน V-Strom 1050 XT จะค่อนไปทางกึ่งกลางระหว่างการใช้งานบนทางดำ และการใช้งานบนทางฝุ่น กล่าวคือ มันมีความหนืดและความนิ่งมากพอที่จะนำรถไปขี่ในความเร็วเดินทางระดับกลาง-สูงได้สบายๆ เว้นตอนต้องทิ้งโค้งด้วยความเร็วสูงที่ผู้ขี่ต้องทำความเข้าใจกับช่วงยุบที่ค่อนข้างเยอะซึ่งทำให้รู้สึกหน้า-หลังของตัวรถจะโคลงไปมาเล็กน้อยของมันสักหน่อยในตอนแรก แต่เมื่อชินแล้วก็จะเริ่มเข้าใจและรู้สึกว่ามันเอาอยู่ทั้งในส่วนของโช้กหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโช้กหลังที่ไม่มีอาการโยกขึ้นลงรัวๆแบบรถโช้กหลังนิ่มทั่วๆไปให้รู้สึกเลยสักนิด เนื่องจากความหนืดเดิมๆของโช้กที่เซ็ทออกมาจากโรงงานมีค่อนข้างมากนั่นเอง
ขณะเดียวกันในมุมของทางฝุ่น ระบบกันสะเทือนของมันก็มีความยืดหยุ่นมากพอที่จะสามารถซับแรงกระแทกจากพื้นถนน หรืออุปสรรคจำพวกร่องหลุมต่างๆบนทางกรวด หรือทางลูกรังด้วยความเร็วใช้งานต่ำได้อย่างอยู่หมัด ไม่มีอาการกระแทกกระทั้น หรืออาการโช้กยันที่น่ากลัวส่งขึ้นมาให้ผู้ขี่ได้รู้สึกใดๆเลยเนื่องจากช่วงยุบค่อนข้างเยอะตามสไตล์แอดเวนเจอร์-ทัวร์ริ่งไบค์ ทว่าในจังหวะที่ต้องพลิกรถด้วยความฉับไว ผู้ขี่อาจจะรู้สึกถึงแรงเหวี่ยงหรือความหน่วงของหน้ารถไปบ้าง ด้วยน้ำหนักตัวรถที่ค่อนข้างเยอะ ช่วงหน้าที่ค่อนสูง และขนาดล้อหน้าที่อาจจะเป็นของ 19 นิ้ว ซึ่งทำให้ลุยได้ง่ายขึ้นกว่าขอบ 17 นิ้วขึ้นมาอีกระดับ แต่ก็ยังไม่ใช่พลิ้วสุดสายลุยแบบล้อขอบ 21 นิ้วของมันนั่นเอง และที่สำคัญชุดยางที่ให้มาก็ยังเป็นยางเทรลที่เน้นการใช้งานบนถนนดำอยู่ดังนั้นถ้าหากเปลี่ยนไปใช้ยางเทรลแบบอื่นที่ดอกใหญ่ขึ้น การควบคุมของตัวรถในทางลุยๆก็น่าจะยังดีขึ้นกว่านี้ได้อีกมาก เพราะการทำงานของโช้กจัดว่าเหลือเฟือแล้วจริงๆ
ระบบเบรก
ด้านหน้าดิสก์คู่เดี่ยวขนาด 310 มม. ทำงานร่วมกับเรเดียลเมาท์คาลิปเปอร์ 4 พอท
ด้านหลังดิสก์เดี่ยว ขนาด 260 มม. ทำงานร่วมกับโฟลทติ้งเมาท์คาลิปเปอร์ 1 พอท
มาพร้อมระบบ ABS ที่สามารถปรับความไวในการทำงานได้ 2 ระดับ (1 ทำงานน้อย 2 ทำงานไว และ ปิดไม่ได้)
ในส่วนการทำงานของระบบเบรก เบื้องต้นมันจะไม่ใช่เบรกที่ทำงานฉับไว หรือกดเบาๆแล้วหยุดในทันที แต่จะเป็นเบรกที่เน้นการไล่น้ำหนัก ซึ่งถือเป็นข้อดีและเหมาะสำหรับการใช้งานในทางฝุ่น และทัวร์ริ่งที่เน้นความละเอียดและนุ่มนวลเป็นหลักมากกว่า และแม้ตัวรถจะหนักถึง 247 กิโลกรัม ทว่าการทำงานของชุดคาลิปเปอร์เบรกทางด้านหน้าและด้านหลังของมันก็สามารถเอารถอยู่ได้สบายๆ ว่าง่ายๆคืออาจจะไม่ใช่เบรกที่จับไวในจังหวะแรก แต่ถ้าจะต้องหยุดฉุกเฉินจริงๆมันก็เอาอยู่ได้แน่นอน นอกจากนี้ระบบ ABS ก็ทำงานได้ค่อนข้างเรียบเนียน ไม่มีอาการสะท้อนกลับขึ้นมือหรือเท้าเท่าไหร่นัก แม้จะปรับเป็นโหมด 2 แล้ว มันก็ยังไม่ได้ทำงานแบบขี้ระแวงจนน่ารำคาญอยู่ดี
และด้วยความฉลาดของระบบต่างๆที่ใส่เข้ามาทั้ง Motion Track Brake ABS, Slope Dependent Control, และ Load Dependent Control จึงทำให้การควบคุมตัวรถขณะเบรกตอนอยู่ในโค้งมีความเป้นธรรมชาติขึ้นมาก ลดอาการฝืน หรือหน้าบานตอนเบรกหนักๆในโค้งลงได้เยอะ และการเบรกหนักๆในทางชันแต่ละครั้ง ก็รู้สึกได้เช่นกันว่าแม้หน้ารถจะจมลงจากช่วงยุบรถที่ค่อนข้างมาก แต่ตัวรถก็พยายามรักษาสมดุลของตัวมันเอาไว้ เพื่อไม่ให้ล้อหลังลอยขึ้นมาได้ง่ายๆ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ดีงามจริงๆ
สรุป รีวิว Suzuki V-Strom 1050 XT
ถือได้ว่าเป็นรถ แอดเวนเจอร์พิกัด 1 ลิตร รุ่นใหม่อีกคันที่มาพร้อมกับดีไซน์ต่อยอด DNA สายออฟโร้ด จากตำนานของค่ายคนบ้า แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เครื่องสูบ V-Twin ที่ให้ความดุดันในการเรียกอัตราเร่งไม่แพ้ใคร ขณะที่เทคโนโลยี ก็ปรับใหม่ ให้มาอย่างครบครันทั้งในส่วนของระบบเพื่อความปลอดภัยและระบบอำนวยความสะดวกสบายตามฉบับของรถแอดเวนเจอร์ทัวร์ริ่งไบค์ระดับเรือธงของปี 2021 นอกจากนี้รูปแบบการใช้งานที่เหมาะกับมันยังอยู่จุดกึ่งกลางระหว่างคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นด้วยกัน ดังนั้นถ้าหากใครกำลังมองหาแอดเวนเจอร์ไบค์สักคัน ที่สามารถใช้งานบนทางฝุ่นและทางดำและทางฝุ่นได้อย่างลงตัว “เจ้าพายุ V-Storm” คันนี้ ต้องตอบโจทย์ความต้องการของเพื่อนๆแน่นอน
โดยราคา Suzuki V-Strom 1050 XT สนนตัวเลขสำหรับวางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการที่ 6.19 แสนบาท
และ มีให้เลือก 3 สี คือ สีเหลือง, ส้ม-ขาว, ดำ ซึ่งหากเพื่อนๆคนไหนสนใจ ก็สามารถรับชมตัวรถคันจริงและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยกับศูนย์บริการ Suzuki Bigbike ทั่วประเทศตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
อ่านรีวิว อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่
อ่านข่าว Suzuki เพิ่มเติมได้ที่นี่