ในช่วงที่กระแสรถ Supersport กำลังเป็นที่นิยมกันในทุกวันนี้ หากพูดถึงรถ Supersport พิกัด 600cc ที่สร้างกระแสเป็นคันแรกให้กับประเทศไทยแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้น Yamaha YZF-R6 ที่มากับรูปลักษณ์หน้าตาที่สวยงาม และถอดแบบดีไซน์มาจากรถ MotoGP และในช่วงนี้ที่เทรนด์ของรถ Supersport Bike กำลังมา ในวันนี้ MotoRival เราจึงขอมา รีวิว Yamaha YZF-R6 กันอีกครั้งกับการใช้งานบนถนนดูบ้าง หลังจากที่เราเคยได้ทดสอบกันไปปีกว่าๆ แล้วที่สนามช้างฯ คลิกอ่านที่นี่
รูปลักษณ์ภายนอก
Yamaha YZF-R6 ถือได้ว่ามีดีไซน์ถอดแบบจากตัวแข่ง MotoGP อย่าง YZR-M1
โดยเฉพาะบริเวณด้านหน้ารถ มีช่อง Ram Air ขนาดใหญ่ ไว้ดักอากาศเข้ากรอง เพื่อรีดกำลังในช่วงความเร็วสูง (ขนาดใหญ่กว่า YZF-R1)
ชุดไฟหน้าแบบ Full LED ทั้ง ไฟ DRL และ ไฟต่ำ/สูง 2 ทางด้านใต้
ขณะที่บั้นท้าย ชุดไฟแบบ LED และแฟริ่งท้ายนั้น เรียกได้ว่ายกมาจาก YZF-R1
กระจกมองข้างมาพร้อมไฟเลี้ยว LED ในตัว ดูดีสมราคาแบบ Superbike ตัวพัน
ถังน้ำมันมีช่องรีดลมถอดแบบพี่ใหญ่ YZF-R1 ช่วยเพิ่ม Aerodynamic ให้ดีขึ้นอีก 8%
สำหรับคันที่เราได้มาทดสอบนี้มาพร้อมท่อ Full System จาก Akrapovic แบบไทเทเนียม ซึ่งนอกจากนจะเพิ่มซุ่มเสียงให้เร้าใจขึ้นแล้ว ยังได้ในเรื่องของสมรรถนะที่ดีขึ้นอีกเล็กน้อย
ชุดมาตรวัดวงกลมแบบ Analog เป็นเข็มวัดรอบเครื่องยนต์
มาตรวัดตัวเลข Digital บอกความเร็ว และแสดงผลค่าต่างๆ อาทิ TCS, D Mode, ตำแหน่งเกียร์ เป็นต้น
ทางด้านบนมีไฟ Shift Light ดวงกลมขนาดใหญ่ ตรงกลาง กระพริบเตือนให้เปลี่ยนเกียร์ (โดยสามารถปรับตั้งรอบเองได้)
สวิทช์ไฟซ้าย นอกจากสวิทช์ควบคุมไฟ และแตรแล้ว มีปุ่มปรับ TCS ให้เลือกปรับได้สูงถึง 6 ระดับ
สวิทช์ไฟขวา นอกจากสวิทช์ Run-Off แล้ว มีปุ่มปรับ D-Mode (A, STD, B) ซึ่งปรับได้โดยสะดวก พร้อมปุ่มไฟฉุกเฉินทางด้านล่าง
นอกจากนี้ก้านเบรกยังหมุนปรับระยะได้ด้วย
มิติรถ
Yamaha YZF-R6 มีน้ำหนัก (Wet) ที่ 190 กก.
มีความสูงเบาะถึง 850 มม.
ถังน้ำมันทำจากอลูมีเนียมน้ำหนักเบา มีความจุ 17 ลิตร
ท่านั่ง
YZF-R6 ตัวเบาะนั่งมีความสูงมากทีเดียวที่ระดับ 850 มม.
แต่เบาะนั่งแคบลงอีก 20 มม. และแบนราบขึ้น จึงทำให้ผู้ขี่ซึ่งมีส่วนสูง 174 ซม. สวมรองเท้าผ้าใบ วางเท้าได้เกือบเต็มฝ่าเท้า เขย่งปลายเท้าเล็กน้อย
สำหรับตำแหน่งคนซ้อนต้องเรียนตามตรงว่า เบาะขนาดเล็ก ตามแนว Supersport และ Superbike ทั้งหลาย อาจจะนั่งไม่สบายนัก ยิ่งสายซ้อนที่ตัวสูงๆ หน่อยทำแหน่งเข่าก็จะงอมากเสียหน่อย
ขณะที่ตำแหน่งแฮนด์นั้น ต่ำมากในแบบรถแข่ง Sport Replica ถือได้ว่า YZF-R6 เป็นรถที่มีตำแหน่งแฮนด์เตี้ยมากที่สุดคันหนึ่ง
ท่านั่งให้ความกระชับดี เมื่อขี่ในท่า Racing หมอบ เข่าและศอกหนีบถังน้ำมันได้กระชับ
แต่กับการขี่ใช้งานบนท้องถนน On Road หรือ ขี่เดินทางแบบ Touring คงจะมีอาการเมื่อยหลังกันบ้าง รวมถึงการหักเลี้ยวในวงแคบที่ค่อนข้างลำบากกับสไตล์ แฮนด์ที่เหมาะแก่การขี่แบบ Racing เช่นนี้
เครื่องยนต์
4 สูบเรียง พิกัด 599cc DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ ปรับปรุงจากโฉมเดิม ให้ผ่านไอเสีย Euro4 ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้มันสามารถวางจำหน่ายในไทยได้
กำลังอัดอยู่ที่ 13.1:1 (สำหรับตัวนี้ยังไม่ใช้แคร้งแบบ CP4 อย่างที่ใช้ใน YZF-R1 ใหม่)
R6 ใหม่ มีกำลัง 118.4 PS @14,500rpm และ แรงบิด 61.7 Nm@10,500rpm
ใช้คันเร่งไฟฟ้า YCC-T พร้อมโหมดขับขี่ D Mode 3 แบบ
A (แรงสุด), STD และ B (เบาสุดสำหรับขับขี่ขณะพื้นเปียก)
ขณะที่ TCS ปรับได้มากถึง 6 ระดับ
นอกจากนี้ยังมี Quick Shifter และ เทคโนโลยี Assist & Slipper Clutch มาให้ด้วย
เริ่มออกตัว น้ำหนักคลัทช์ดูเบามือพอสมควรอานิสงส์จาก Assist & Slipper Clutch
ด้วยการใช้คันเร่งไฟฟ้า เมื่อเปิดคันเร่ง R6 ให้การตอบสนองได้ทันท่วงที แบบบิดติดมือ
สไตล์เครื่อง 4 สูบที่เน้นรอบจัดจ้านระดับ 10,000rpm + การขี่ในช่วงรอบต่ำๆ เรียกได้ว่าสมูท แต่ถ้าบิดในโหมด A ก็ถือว่าคันเร่งมาตามสั่ง
การใช้งานบนสภาพจราจร รอบเครื่องในช่วงไม่เกิน 8,000rpm ก็ถือว่าเพียงพอที่จะใช้เร่งแซงรถทั่วไป
แต่เมื่อเข้าสู่ย่านกลางของรอบเครื่อง (8,000rpm+) ซุ่มเสียงจะเริ่มเร้าใจขึ้น กำลังเครื่องมาอย่างต่อเนื่อง แรงดึงหนักขึ้นจนถึงช่วง Redline ก่อนที่รอบจะตัด
ในด้าน Top Speed นั้น ทางทีมงานเราไม่ได้มีโอกาสลองจริงจัง แต่การทดสอบของเราพบว่าในช่วงความเร็วระดับ 180 กม./ชม. ขึ้นไปนั้น ความเร็วจะยังมาแบบต่อเนื่องมาแบบ เรื่อยๆ
ระบบกันสะเทือน
YZF-R6 ใช้โช้กหน้าหัวกลับ KYB ขนาดแกน 43 มม. ที่ยกมาจาก YZF-R1 สามารถปรับ Preload, Rebound, Compression ได้จากแกนโช้กด้านบน
โช้กหลังเดี่ยว KYB ปรับได้เต็มรูปแบบทั้ง Preload, Hi และ Lo Speed Compression รวมถึง Rebound
การควบคุมรถนั้นพบว่า ช่วงเฟรมท้ายของรถที่เพรียวบางและถังน้ำมันที่ดูไม่เทอะทะ กระชับท่อนขา จึงทำให้การขี่ใช้งาน หากต้องไปเล่นโค้ง ถือว่าพลิกโค้งได้ง่ายคล่องตัว และรถดูน้ำหนักเบาไปในทันที
ขณะที่ระบบกันสะเทือนนั้น แน่นอนขนาดแกนใหญ่ 43 มม. และยกมาจากพี่ใหญ่ R1 สรรพคุณไม่ต้องพูดถึง การซับแรง เวลาเบรกหนักๆ ช่วงล่างหน้ายุบคลายตัวได้อย่างกระชับ
อย่างไรก็ดี หากขี่ด้วยความเร็วสูงๆ หรือ ออกตัวด้วยความเร็ว ต้องพึงระวังไว้เสมอว่าคลาส Supersport โดยส่วนใหญ่จะไม่มีกันสะบัดมาให้ ดังนั้นอาจต้องควบคุมแฮนด์ให้ดี
ในส่วนของโช้กหลังเดี่ยว ให้อาการที่แข็งแบบสปอร์ต ซึ่งเหมาะกับการขี่ด้วยความเร็วเข้าโค้งหนักๆ สามารถเปิดคันเร่งออกได้โดยที่ท้ายไม่โยน
ระบบเบรก ABS
ด้านหน้าจานดิสก์คู่ขนาด 320 มม. พร้อมคาลิปเปอร์แบบ Radial Mount 4 สูบ ของ Advics (ปั๊มตราดาว)
เบรกหลังจานเดี่ยวขนาด 220 มม. ปั๊มเบรก Nissin 1 ลูกสูบ
เบรกหน้าชะลอความเร็วได้ดี ไม่แพ้แบรนด์ชื่อดัง หยุดได้หายห่วง เพราะในพี่ใหญ่ รุ่นอื่นๆ ของ Yamaha ก็เลือกใช้ปั๊มเบรกรูปดาวนี้กันเกือบทั้งนั้น
ส่วนเบรกหลังการใช้งานนั้น เราแอบรู้สึก ABS จะทำงานไวไปนิด น่าเสียดายที่ระบบ ABS ปิดไม่ได้
สรุป รีวิว Yamaha YZF-R6 ถือเป็นรถ Supersport คันแรก ของคนไทย ที่มากับรูปลักษณ์ที่เท่ และดุดัน และเทคโนโลยีที่มาให้แบบครบ ปรับได้หลายระดับ
และหากคุณเป็นสายซิ่งชอบ Track Day ชอบการตอบสนองของคันเร่งที่มาเร็วและทันทีทันใจ มีดีกรีแชมป์ WSS (World Supersport) และ ARRC (Asia Road Racing) แล้วล่ะก็ YZF-R6 คันนี้ล่ะ คือรถที่ตอบโจทย์คุณเป็นที่สุด
- รูปลักษณ์ที่สวยงาม และถ่ายทอดดีไซน์มาจากรุ่นพี่ YZF-R1 และรถแข่ง YZR-M1
- การปรับเปลี่ยน TCS และ D Mode ที่สะดวก ด้วยการกดปุ่มที่สวิทช์ทั้งฝั่งซ้าย-ขวา ปรับได้สะดวกทันท่วงที
- TCS ปรับได้ 6 ระดับ และ D Mode ปรับได้ถึง 3 ระดับ
- ABS ปิด ไม่ได้
- ตำแหน่งแฮนด์ดูจะเตี้ยที่สุดกว่าคันอื่นในตระกูล YZF-R Series ผู้เขียนว่ามันดูจะเตี้ยไปถ้าขี่บนถนน หรือ Touring น่าจะเมื่อยมาก
ขอขอบคุณ Yamaha Riders Club สำหรับรถ Yamaha YZF-R6 ใหม่ ราคา 5.49 แสนบาท
ภณ เพียรทนงกิจ Test Driver
สุภิญญา ชำนาญกุล Photos + VDO
อ่านรีวิวอื่นๆ เพิ่มเติมที่ได้ที่นี่
อ่านข่าวสาร Yamaha เพิ่มเติมที่ได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ