ขนส่งลั่น ม.ค.-ก.พ. ปี 62 หน้า บังคับใช้ระบบเชื่อมข้อมูลเสียภาษีกับใบสั่งของ สตช.-รถจยย. เก๋ง ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ โดนหมด ไม่จ่ายค่าปรับขับต่อโดนปรับ2พัน ข้อหาใช้รถไม่เสียภาษี
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกตามคำสั่งของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 ที่ลงนามออกคำสั่งโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 ว่า
ขณะนี้ ขบ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. อยู่ระหว่างการทดสอบระบบการเชื่อมต่อข้อมูลระบบใบสั่งค่าปรับของ สตช.เข้ากับระบบการขอชําระภาษีประจําปี ของขบ. เพื่อใช้เป็นมาตรการเข้มงวดความปลอดภัยในการขับขี่ยานยนต์ทุกประเภทบนท้องถนน ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ ทั้งส่วนบุคคล และรถโดยสารสาธารณะ โดย ในอนาคตหากผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายจราจร ไม่จ่ายเงินค่าปรับตามใบสั่งจะถูกอายัดการต่อภาษีประจำปีจาก ขบ. คาดว่า จะเริ่มมีการเชื่อมต่อข้อมูล และบังคับใช้ระบบดังกล่าวในเดือยม.ค.-ก.พ. ปี 2562
“ขณะนี้ ขบ. และสตช. ได้ทำการเชื่อมต่อระบบข้อมูลเข้าด้วยกันแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบระบบการใช้งานจริง การออนไลน์ข้อมูลระหว่างกันว่ามีปัญหาอะไรตรงจุดไหนบ้างเพื่อปรับแก้ โดยในส่วนของการชำระเงินนั้น จะชำระผ่านธนาคากรุงไทยตามระบบเดิมที่ สตช.ใช้บริการอยู่แล้ว โดยก่อนที่จะบังคับใช้ระบบเป็นทางการ ขบ.จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบแล้วเตรียมตัวก่อน”
นายกมล กล่าวว่า สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้น จะมีการเปิดโอกาสให้ผู้ขับขี่ที่ถูกใบสั่งสามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ 1.ให้ผู้ขับขี่สามารถจ่ายค่าปรับกับกรมการขนส่งทางบกได้ในคราวเดียวกันกับวันที่มายื่นขอต่อภาษีประจำปี ทั้งนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยผู้ขับขี่สามารถขอรับทราบจำนวนค่าปรับทั้งหมดได้ก่อนที่จะจ่าย ซึ่งขบ.จะออกใบเสร็จให้ทันที โดยในกรณีนี้ ขบ.จะได้รับส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บค่าปรับในอัตรา 5% ของเงินค่าปรับ
2.ผู้ขับขี่ที่ไม่พร้อมจ่ายเงินทันที สามารถ ยื่นขอต่อภาษีประจำปีได้ก่อน แต่กรมการขนส่งทางบกจะออก ป้ายวงกลมชั่วคราวอายุ 30 วันให้ไปใช้ก่อน กรณีที่ผู้ขับขี่ต้องการอุทรธ์คำสั่งค่าปรับ หากภายใน 30 วัน ไม่ชำระค่าปรับรถคันดังกล่าว จะจับข้อหาใช้รถไม่ต่อภาษีหากมีความผิด ตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ข้อหา ใช้รถไม่เสียภาษีประจำปีภายในเขตกำหนด จะถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งตามข้อกำหนดของพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ระบุว่าหาก ผู้ขับขี่ขับขี่รถโดยไม่ต่อภาษีมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 ปีจะถูกขบ. สั่งยกเลิกการจดทะเบียนโดยจะต้องนำป้ายทะเบียนมาคืยให้ ขบ.
อย่างไรก็ตาม หากภายหลังผู้ขับขี่มีการชําระค่าปรับครบถ้วนถูกต้อง ให้คดีสิ้นสุด และในกรณีที่มีการเรียกเก็บ ใบอนุญาตขับขี่ไว้ ให้ผู้ขับขี่นําหลักฐานการชําระค่าปรับ ไปขอรับใบอนุญาตขับขี่คืนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้เรียกเก็บ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่คืน ให้ถือว่าหลักฐานแสดงการชําระค่าปรับเป็น ใบแทนใบอนุญาตขับขี่มีกําหนด 10 วัน นับแต่วันที่ชําระค่าปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก นั้นเป็นการดำเนินการ ตามคำสั่งของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 ที่ลงนามออกคำสั่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 เนื่องจาก คสช.มองว่า ปัจจุบันมีผู้ขับขี่รถหรือเจ้าของรถที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก จํานวนมาก
โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงและเพิกเฉยต่อการบังคับใช้ทางกฎหมาย ซ้ำยังปรากฏว่ามีการ กระทําความผิดดังกล่าวซ้ำอีกในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความสงบเรียบร้อยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน จึงจําเป็นต้องปรับปรุง กลไกและกําหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติม
เพื่อให้เกิดความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูประบบการคมนาคมขนส่งและความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม โดยที่ผ่านมา คสช. ได้ออกคำสั่งบังคับใช้ไปมาตรการมาตั้งแต่ มี.ค.2560 แล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะขั้นตอนของกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย โดยขณะนี้ ขบ .และสตช.กำลังเร่งจัดทำระบบ และอยู่ระหว่างการทดสอบระบบ