จบลงไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่สำหรับศึก โมโตจีพี รายการ โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2022 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน หลังเว้นวรรคในปี 2020 และ 2021 จากการแพร่ระบาดของโควิด19
3 ปีแห่งการรอคอยสิ้นสุดลงด้วยความประทับใจของแฟนชาวไทย ที่สัมผัสความมันส์ระดับโลกอีกครั้งโดยที่ไม่ต้องเดินทางข้ามประเทศไปดูในสนามอื่น และแน่นอนว่าตลอดทั้ง 3 วัน เต็มไปด้วยเข้มข้น ลุ้นระลึก
โมโตจีพี ปลุกให้ประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นแทบจะทุกมิติ ทั้งในแง่ความนิยมของมอเตอร์สปอร์ตที่พุ่งขึ้นสูงอย่างมากในปี 2022 ผลจากความสำเร็จของนักบิดไทยอย่าง “ก้อง” สมเกียรติ จันทรา เจ้าของชัยชนะและโพเดี้ยมประวัติศาสตร์ในรุ่น โมโตทู ซึ่งเรียกเสียงเชียร์กระหึ่มจนเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการมอเตอร์สปอร์ตไทย แม้จะไม่สามารถคว้าชัยได้ก็ตาม เช่นเดียวกับ “เคเคซัง” เขมินท์ คูโบะ จาก ยามาฮ่า วีอาร์46 มาสเตอร์ แคมป์ ก็สร้างความสุขให้แฟนๆ ในโฮมเรซไม่แพ้กัน
ในแง่เกมการแข่งขัน “โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์” ถือเป็นอีกหนึ่งเรซ ที่แฟนมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกต้องจดจำ เพราะมีจุดเปลี่ยนมากมาย การคว้าชัยชนะสุดพลิกผันของ มิเกล โอลิเวียร่า นักบิดโปรตุกีส, การคัมแบ็กสู่ผลงานสุดร้อนแรงของ มาร์ค มาร์เกซ แชมป์โลก 8 สมัย การทำให้คะแนนสะสมลุ้นแชมป์โลกระหว่าง ฟรานเชสโก้ บันยาญ่า และ ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร กลับมาบี้กันอย่างสนุกอีกครั้ง โดยลดระยะห่างเหลือเพียง 2 แต้ม ก่อนชิงดำกันในช่วง 3 สนามสุดท้าย
ด้านเศรษฐกิจถือเป็นมิติที่สำคัญอย่างมากต่อประเทศ โดยจำนวนผู้ชมที่ทะลักเข้าสู่สนามถึง 178,463 คน จนอัดแน่นทุกสแตนด์ถือเป็นการพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีถึงความตื่นตัวในวงการมอเตอร์สปอร์ต ผู้ชมทุกคนมีส่วนร่วมกับการแข่งขันอย่างสุดเหวี่ยง และที่สำคัญมันนำมาซึ่งเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า “จากการสำรวจเบื้องต้นของ กองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ โมโตจีพี 2022 รายการ โออาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ ตลอดระยะเวลา 3 วัน ของการแข่งขัน Moto GP (30 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565) มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 178,463 คน และมีผู้รับชมการถ่ายทอดทั่วโลกมากกว่า 800 ล้านคน สร้างรายได้โดยรวมในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอื่น ๆ ประมาณ 4,048 ล้านบาท
โดยเป็นการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน ประมาณ 3,592 ล้านบาท และการลงทุนภาครัฐและเอกชน ประมาณ 456 ล้านบาท ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มขึ้น 3,800 ตำแหน่งงาน และภาครัฐได้รับรายได้ในรูปแบบภาษี ไม่น้อยกว่า 173 ล้านบาท โดยผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมงานชาวไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 14,429 บาทต่อคนต่อทริป และผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 23,720 บาทต่อคนต่อทริป
ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า “ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมั่นใจว่า คงจะไม่มีงานใดยิ่งใหญ่เท่ากับงาน โมโตจีพี รายการ โอาร์ ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ 2022 อีเวนต์กีฬาระดับโลกที่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของคนไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้การดำเนินงานของ การกีฬาแห่งประเทศไทย”
“หลังจากเผชิญภาวะโควิด 19 จนต้องเลื่อนงานออกไปหลายต่อหลายครั้ง ไทยได้เล็งเห็นถึงมูลค่าที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยการดึงนักท่องเที่ยวให้กลับมา ตามนโยบาย “ฟื้นประเทศด้วยท่องเที่ยว”
“ส่วนในแง่การพัฒนาวงการมอเตอร์สปอร์ตไทยในรูปแบบกีฬาอาชีพ โดยในปีนี้ สมเกียรติ จันทรา ที่คว้าชัยชนะ เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ คนแรกในประวัติศาสตร์ไทยได้สำเร็จ สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลให้กับเยาวชนนักบิดรุ่นใหม่ๆ ได้เห็นถึงโอกาสที่คนไทยก็สามารถทำได้ในเวทีระดับโลกเช่นกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวเสริม
ประเทศไทย มีสัญญาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โมโตจีพี ไปจนถึงปี 2026 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล็งเห็นประโยชน์ระยะยาวทั้งต่อเศรษฐกิจ และการเติบโตของวงการมอเตอร์สปอร์ตไทย ล่าสุด ดอร์น่า สปอร์ต ประกาศตารางแข่งขัน โมโตจีพี 2023 ออกมาแล้ว ประเทศไทย ถูกบรรจุเป็นสนามที่ 18 ของฤดูกาล โดยจะดวลความเร็วระว่างวันที่ 27-29 ตุลาคม 2023
โมโตจีพี ในประเทศไทยถูกขนานนามว่ามีความคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หลังผ่านวิกฤติโควิด19 ซึ่งแสดงให้เป็นถึงศักยภาพของประเทศไทยอย่างมากในการเป็นเจ้าภาพ “อีเวนต์กีฬาระดับเมเจอร์ของโลก” จนกลายเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของวงการมอเตอร์สปอร์ตโลกอย่างแท้จริง
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมได้ที่นี่