สำหรับคนใช้ชีวิตในเมืองอย่างเราๆ การต้องเผชิญกับสภาวะจราจรติดขัดแล้วเราต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์คู่ใจมุดไปตามช่องว่างต่างๆจึงถือเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นในวันนี้เราก็จะมาพูดถึงสิ่งที่เพื่อนๆควรรู้ และควรทำในการมุดช่องจราจรกันครับ มาเริ่มกันเลย
1. อย่าขับเร็วเกินไปนัก
ความเสี่ยงมักจะเกิดขึ้นง่ายมากกว่าเดิมแบบก้าวกระโดดตั้งแต่เราขี่จนทะลุความเร็วระดับ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมถึงตอนที่เราขี่เร็วกว่าเพื่อนร่วมถนนเกิน 25 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป ดังนั้นทางที่ดีควรเลือกมุดแค่ในช่วงที่ความคล่องตัวการจราจรอยู่ราวๆ 50 กิโลเมตร/ชั่วโมงไม่เกินนี้ อย่าผลีผลามรีบมุดจนเกินไป เพราะไม่งั้นอาจจะเบรกไม่ทันหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา
2. รู้จักสังเกตุผิวถนนและเลือกเส้นทางที่จะไปไว้ก่อน
สำหรับการขับขี่ในที่แคบๆอย่างเช่นช่องว่างระหว่างตัวรถ การสังเกตุผิวถนนข้างหน้าในทิศที่เราจะขับไปถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าหากเราพลาดขับไปเหยียบจุดเสิ่ยงต่างๆเช่น เส้นขาว, โคมไฟฝังพื้นถนน หรือ รอยน้ำมันเครื่องขึ้นมา เราอาจจะลื่นและล้มตรงนั้นได้ในทันที ดังนั้นเราจึงต้องระวัง และสังเกตุพื้นถนนให้ดี รวมถึงการวางไลน์ว่าเราจะเหยียบหรือขับไปตรงไหนไว้ล่วงหน้าอย่างน้อยซัก 3-4 เมตร
3. ทำตัวให้เหมือนเรดาร์
เพราะเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์อันตรายจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ ดังนั้นสายตาของเราจะต้องคอยเช็คสิ่งต่างๆรอบตัวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรถที่อยู่ด้านหน้าที่อาจจะหยุดโดยไม่ทันตั้งตัว หรือจากด้านข้างที่อาจจะเลี่ยนเลนเข้ามาโดยกระทันหัน แม้กระทั่งด้านหลังที่ต้องส่องด้วยกระจกมองหลังเสมอ เนื่องจากเราอาจจะเผลอไปปาดหน้าใครก็ได้ทุกเมื่อตอนเราหักเลี้ยวเพื่อเปลี่ยนเลน
4. รู้จักคาดการณ์สถานการณ์ล่วงหน้า
เรื่องนี้อาจจะคล้ายกับข้อที่แล้ว คือการพยายามส่งทุกความเสี่ยงที่อยู่ด้านหน้า แต่มันมีความยากขึ้นมาอีกหน่อยตรงที่เราต้องใช้ประสบการณ์ในการขับขี่ที่ผ่านๆมา วิเคราะห์เพื่อนร่วมทางว่าพวกเขาเหล่านั้นจะทำอะไรต่อ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ารถคันข้างหน้าเราไปีก 3 คันเบรกขึ้นมา เราก็ควรเตรียมเบรกไว้ได้เลย เพราะเดี๋ยวคันข้างหน้าจะเบรกตาม (ว่าง่ายๆคือให้มองไปที่รถคันหน้าสุดในสายตาเรา อาจจะซัก 3-4 คัน เพื่ออ่านสถานการณ์ล่วงหน้า) หรือแม้แต่การอ่านภาษากายของรถคันข้างหน้าเพื่อวิเคราะห์ว่าตัวเขามีความคิดจะเลี้ยวซ้าย/ขวาหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เราเผลอเสียบเขาเข้ากลางลำโดยไม่ทันตั้งตัว (ในจุดนี้จากประสบการณ์ส่วนตัว ผู้เขียนจะใช้วิธีการสังเกตุว่าผู้ขี่รถมอเตอร์ไซค์คันข้างหน้ามีการหันซ้ายหันขวาหรือเบี่ยงรถไปชิดเลนฝั่งไหนหรือไม่ ซึ่งมันช่วยได้เยอะเลยทีเดียว)
5. มองหาช่องทางเผื่อไว้กรณีทางแรกที่เลือกไม่สามารถไปได้
แน่นอนว่าการมีแผนสำรองย่อมสำคัญ ซึ่งในที่นี้เราหมายถึงการมองหาจุดปลอดภัยล่วงหน้าไว้เสมอๆ เผื่อไว้ในกรณีทีรถคันข้างๆปาดเข้ามา หรือรถคันข้างหน้าเบรกกระทันหัน ซึ่งในหลายๆครั้งเราอาจจะเบรกไม่ทันจนชนคนเหล่านั้นได้ ดังนั้นการหาจุดไว้เบี่ยงจึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ไว้เสมอๆ (ผู้เขียนเองก็รอดมาหลายครั้งเพราะการหาจุดๆนี้เผื่อไว้บ่อยๆเช่นกัน)
6. พยายามอย่าอยู่ในมุมอับ
หากเพื่อนๆไม่อยากโดนปาดหน้า เราขอแนะนำว่าอย่าไปขับติดรถยนต์ข้างๆมากนักเพราะตัวรถยนต์จะบังเราไว้หมด จนรถมอเตอร์ไซค์คันข้างๆที่เค้าจะเลี้ยวเข้ามาเลนเดียวกับเราไม่สามารถมองเห็นเราได้ หรือถ้าจำเป็นต้องหลบไปจริงๆ เราก็ควรจะแสดงตัวด้วยการบีบแตรเบาๆสั้นๆ หรือกระพริบไฟซักนิดเพื่อให้คันข้างหน้าเห็นเรา หรือรู้ว่าเราอยู่ด้านหลัง
7. รู้จักการเว้นระยะห่างที่เหมาะสมจากท้ายรถคันข้างหน้า
จริงๆหัวข้อนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เราทุกคนถูกสอนกันมาโดยตลอดนั่นก็คือการเว้นช่องว่างระหว่างรถคันข้างหน้ากับตัวเราให้เหมาะสมกับความเร็วที่ใช้อยู่ขณะนั้น เพราะถ้าหากรถคันข้างหน้าเกิดเบรกกระทันหัน เราอาจจะไปเสียบท้ายเขาได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเผื่อระยะไว้ซักนิด อย่าจี้กันมากเกินไป ไม่เช่นนั้นเราอาจจะต้องเสียเงินให้กับค่าซ่อมรถทั้งของตัวเราเองและของคู่กรณีเอาดื้อๆ หรืออย่างร้ายแรงที่สุดก็อาจจะมีการบาดเจ็บถึงขั้นเลือดตกยางออกได้เลยทีเดียว อย่างที่เราๆเคยเห็นกัน
8. พยายามวางนิ้วไว้บนก้านเบรกตลอดเวลา
เอาจริงๆแล้วเรื่องการวางมือไว้เหนือก้านเบรกนี้ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ในการขับขี่แบบปกติ แต่ด้วยสภาวะที่พร้อมจะเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินได้ง่ายกว่าปกติขณะมุดช่องการจราจรแบบนี้ การทำตัวให้พร้อมที่จะหยุดรถไว้ตลอดก็ถือเป็นเรื่องที่ควรทำเช่นกัน
9. ฝึกการควบคุมรถที่ความเร็วต่ำไว้ให้ดี
ฝึกทรงตัวและทำความเคยชินกับคลัชท์ในช่วงความเร็วต่ำไว้บ่อยๆ เพราะจริงอยู่ว่าเราอาจจะใช้ขาค้ำไว้ และกำคลัชท์ไหลไปก็ได้ หากไม่มั่นใจ แต่เชื่อเถอะครับว่าการทำความเคยชินกับสมดุลตัวรถในช่วงความเร็วต่ำ รวมถึงการเลี้ยงเอนจิ้นเบรกไว้ใช้ตอนผ่อนคันเร่งมันสามารถทำให้เราไหลไปกับการจราจรแคบๆได้ดีกว่าแบบผิดหูผิดตา
10. ทำใจให้เย็น
สิ่งนึงที่เรากล่าวเอาไว้แทบจะทุกข้อนั่นก็คือความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ เราอยากให้เพื่อนๆทำใจร่มๆไว้ก่อน แล้วตัดสินสถานการณ์นั้นอย่างใจเย็น เพราะเราเองก็ไม่อยากเห็นเพื่อนๆไปโผล่ในคลิปโซเชียลเน็ทเวิร์คว่ากำลังทะเลาะวิวาทกับคู่กรณีวันใดวันนึง่หรอกครับ เพื่อนๆก็คงไม่อยากเหมือนกันใช่มั้ยล่ะครับ ?
ขอบคุณภาพจาก
อ่านบทความ Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ