ต่อจากสัปดาห์ก่อนที่เราได้พูดถึง “สิ่งของ 8 อย่างที่จะต้องเตรียมพกติดตัวติดรถทุกครั้งที่เดินทาง” กันไปแล้ว ต่อไปเราก็จะมาพูดถึงอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานแต่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดสำหรับผู้ใช้ยานพาหนะอย่างเราๆ นั่นก็คือการตรวจเช็คสภาพก่อนใช้งานด้วยตัวเอง กันบ้าง
โดยในบทความ Tips Trick ครั้งนี้ทาง MotoRival ก็จะทำการลิสต์ 8 สิ่งเบื้องต้นง่ายๆที่ใครๆก็สามารถสังเกตุได้เองจากภายนอก แต่จะมีอะไรบ้างมาเริ่มกันเลยครับ
1. ระบบส่องสว่าง
เริ่มจากไฟหน้าที่นอกจากจะช่วยให้เราสามารถเห็นถนนหนทางในช่วงกลางคืนแล้ว ในช่วงเวลากลางวันเองก็ยังช่วยให้ผู้ใช้ถนนฝั่งตรงข้ามสามารถเห็นเราได้ชัดเจนอีกด้วย ตามด้วยไฟท้าย ที่ใช้บ่งบอกผู้ใช้ถนนด้านหลังทราบว่าเรากำลังจะหยุดรถ และไฟเลี้ยวที่ใช้สำหรับแจ้งเพื่อนร่วมทางโดยรอบถึงทิศทางที่เราจะมุ่งไปถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจจะโดนเสยท้ายเอาได้
2. สวิทช์แตร สวิทช์ไฟต่างๆ
โดยส่วนมากแล้วทางประกับฝั่งขวาจะเป็นที่ตั้งของ คิลสวิทช์ที่ใช้ดับเครื่อง และสวิทช์สตาร์ท ดังนั้นถ้าหากสวิทช์สองอย่างนี้มีปัญหา การสตาร์ทเครื่องยนต์เพื่อใช้งานอาจจะมีปัญหาได้ ส่วนด้านประกับฝั่งขวาก็จะมีสวิทช์หลักๆคือ ไฟสูง/ต่ำ, ไฟเลี้ยว, และแตร ซึ่งจะเห็นได้ว่าสวิทช์เหล่านี้จะเป็นชุดสวิทช์ที่เรามักใช้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะกับในสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งสิ้น
3. ระบบเบรก
ในส่วนของระบบเบรก สิ่งที่เราต้องตรวจเช็คจะเริ่มจากระดับน้ำมันเบรกภายในแม่ปั๊มเบรก ซึ่งปกติแล้วบนตัวกระปุกปั๊มทางผู้ผลิตจะทำเส้นระดับมาให้ และถ้าหากระดับน้ำมันอยู่ต่ำกว่า Lower คือผ้าเบรกหมดนั่นเอง
อย่างไรก็ดีในบางครั้งการเช็คผ้าเบรกจากกระปุกแม่ปั๊มอาจจะบอกได้ไม่ดีเท่าการส่องที่ผ้าเบรกโดยตรง ดังนั้นเราจึงต้องมองไปที่คาลิปเปอร์เบรกด้านล่างกันบ้าง
โดยสำหรับวิธีการเช็คผ้าเบรกนั้นก็ง่ายๆเพียงแค่พยายามก้มลงไปส่องร่องผ้าเบรกว่ายังเหลืออยู่มั้ย ถ้าไม่เหลือนั่นก็หมายถึงผ้าเบรกหมดแล้วจริงๆนั่นเอง
และสิ่งสุดท้ายที่เราอยากให้เพื่อนๆตรวจสอบเกี่ยวกับระบบเบรกก็คือสายเบรก และข้อต่อต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบ ว่ามีการรั่วของน้ำมันเบรกออกมาหรือไม่
4. ระบบกันสะเทือน
ด้านระบบกันสะเทือนหลักๆแล้วเราอยากให้เพื่อนๆเช็คกันว่าบนแกนโช้กมีน้ำมันโช้กไหลออกมาจากซีลโช้กหรือไม่ และถ้าหากพบว่ามีขึ้นมาล่ะก็ งานนี้เราแนะนำว่าให้เพื่อนๆรีบนำรถเข้าศูนย์เพื่อเปลี่ยนซีลทันที เพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมของตัวรถ
5. ล้อคดดุ้ง /ยาง, ตำ, รั่ว, ดอกหมด
ต่อไปคือเรื่องล้อและยางที่เราต้องเช็คว่าขอบล้อมีอาการคดดุ้งเนื่องจากตกหลุม หรือกระแทกแรงๆมา ส่วนยางหน้า/หลังก็ต้องเช็คกันต่อว่ายังมีดอกยางเหลืออยู่มั้ย และมีร่องรอยการถูกของมีคมตำหรือรั่วหรือไม่
สภาพยางหลังดอกเหลือๆ ไม่มีบาดแผลใดๆ
6. โซ่ยาน / สเตอร์หมด / หางปลาหลุด
ขยับมาที่ชุกโซ่ที่เราต้องเช็คว่ามันมีการหย่อนจนเกินไป หรือมีสนิมขึ้นหรือไม่ ส่วนชุดสเตอร์เองก็ต้องดูว่าฟันยังหนาพอให้แข็งแรงพอที่จะเกี่ยวโซ่หรือไม่ และอีกอย่างนึงคือตำแหน่งหางปลาซ้าย/ขวาอยู่ตรงกัน โดยที่น็อตล็อคไม่ได้หลุดหายไปไหน
จะเห็นได้ว่าชุดโซ่สเตอร์ของรถคันนี้ยังอยู่ในสถานะพร้อมใช้งานสมบูรณ์ดีไม่ได้มีจุดไหนที่เสื่อมสภาพ
7. ระดับ น้ำมันเครื่อง และรอยต่อรอบๆเครื่องยนต์
จะบอกว่านี่คือจุดที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าหากน้ำมันเครื่องเกิดพร่องลงไปเยอะจนผิดสังเกตุ อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายหนักให้กับชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ได้อย่างเฉียบพลัน ดังนั้นนอกจากการวัดระดับน้ำมันเครื่องแล้ว เราก็ควรจะตรวจเช็ครอยการรั่วซึ่มตามช่องประเก็นต่างๆหรือรูน็อตรอบๆตัวเครื่องเสริมอีกทางหนึ่ง
น็อตจานไฟไม่มีรอยเยิ้มใดๆของน้ำมันเครื่องไหลอกมา
8. น็อตจุดยึด
และสิ่งสุดท้ายท่ี่เราอยากให้เพื่อนๆไล่เช็คกันเป็นประจำก็คือ น็อตยึดแฟริ่งต่างๆรอบคันว่ามันการคลายตัวหรือหลุดหายไปบ้างหรือไม่ เพราะถ้าหากน็อตยึดเหล่านี้เกิดคลายตัว สิ่งที่จะตามมาก็คือการสั่นของชุดสีที่แม้จะไม่ได้มีผลต่อการขับขี่มากมายนัก แต่ก็สร้างความรำคาญให้กับตัวผู้ขี่อย่างเราๆพอสมควร และถ้าหากน็อตเหล่านั้นเกิดหลุดหายออกไป คราวนี้อาจจะไม่ใช่แก่การสั่นเท่านั้น แต่ชุดสีหรือชุดแฟริ่งอาจจะหลุดกลางอากาศขณะใช้งานซึ่งก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวเราเองและต่อผู้ใช้ถนนร่วมกันได้เลย
อย่างไรก็ดี จาก 8 สิ่งทั้งหมดที่เราได้ยกขึ้นมาให้เพื่อนๆได้เช็คกันนั้น ไม่จำเป็นต้องเช็คกันทุกวันนะครับ เราขออย่างน้อยเดือนละครั้งก็พอเพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง และเพื่อความปลอดภัยของเงินในกระเป๋าเราด้วย เพราะถ้าของบางอย่างเสียแล้วเรารู้ รีบซ่อมก่อน ส่วนใหญ่แล้วมันมักจะประหยัดกว่าการมารู้ช้าแล้วซ่อมทีหลังครับ
ขอขอบคุณ GPX Thailand ที่สนับสุนตัวรถ GPX Demon GR 150 ให้มาเป็นนายแบบหล่อๆของบทความ Tips Trick ในครั้งนี้ครับ
อ่านบทความ Tips Trick เพิ่มเติมได้ที่นี่
เพื่อนๆ Bikers สามารถติดตามข่าวสารวงการล้อ ได้ทางแฟนเพจ MotoRival ของเราครับ