หลังจากที่เมื่อคราวก่อน เราได้มีการพูดถึงวิธีการเซ็ทความแข็ง/อ่อนของสปริงโช้ค โดยอิงจากค่า SAG ที่เหมาะสมกันไปแล้ว อันที่จริง การเซ็ทอัพระบบกันสะเทือน ยังมีอีก 2 ค่าที่ผู้ใช้ซึ่งมีประสบการณ์ในระดับหนึ่งควรรู้ด้วย นั่นคือค่า Compression และค่า Rebound ว่าแต่ 2 ค่านี้ คือค่าอะไร ? ทำไมเราถึงต้องรู้ ? เรามาไขข้อสงสัยกันเลยครับ
ก่อนอื่น สิ่งที่เพื่อนๆต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ ในระบบกันสะเทือน 1 ชุด จะไม่ได้มีแค่ “สปริง” ที่ใส่เข้ามาเพื่อการซับแรงสั่นสะเทือน เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากเวลาสปริงยุบตัวลงไป แล้วไม่มีแรงอะไรมากดมันไว้กระทันหัน มันก็จะรีบคืนตัวกลับ โดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆทั้งสิ้นทันที (ถ้านึกภาพไม่ออก ให้ลองถอดเอาสปริงปากกามากดเล่น ก็จะเห็นได้ว่าเมื่อเราเอานิ้วออกจากการบีบกระทันหัน มันก็รีบดีดตัวกลับในฉับพลัน)
ดังนั้นเพื่อให้ระบบกันสะเทือนมีอัตราการยุบและอัตราการยืดได้อย่างเหมาะสมกับการใช้งาน (ทั้งสภาพผิวถนน และความเร็ว) จนรถโคลงไปมา มันจะต้องมีกลไกเสริมเข้ามาอีกหนึ่งอย่าง เพื่อควบคุมความเร็วในการยุบ – Compression และการยืด – Rebound เอาไว้ด้วย นั่นก็คือกระบอกไฮดรอลิก หรือกระบอกโช้ค ที่ถูกติดตั้งเสริมเข้ามา ซึ่งมันจะทำงานด้วยการคุมอัตราการไหลของน้ำมันในกระบอกโช้คจากห้องหนึ่งสู่ห้องหนึ่ง ให้อยู่ในอัตราที่ผู้ผลิตออกแบบไว้
แต่กับรถเดิมๆที่ออกโรงงานมา ส่วนใหญ่ผู้ผลิตมักจะไม่ติดตั้งชุดระบบกันสะเทือนที่สามารถปรับค่า Rebound และ Compression มาให้เท่าไหร่นัก เนื่องจากการทำให้โช้คสามารถปรับเซ็ทค่าต่างๆเหล่านี้ได้ ภายในตัวโช้คก็จะต้องมีกลไกที่ซับซ้อนกว่าชุดวาล์วคุมอัตราการไหลของน้ำมันในกระบอกโช้คแบบตายตัวค่อนข้างมาก เราจึงมักจะเห็นว่าผู้ผลิตเลือกติดตั้งโช้คที่สามารถปรับเซ็ทค่าเหล่านี้ได้เฉพาะในรถราคาแพง หรือรถสมรรถนะสูง
หรือไม่เช่นนั้น หากเพื่อนๆต้องการโช้คที่สามารถปรับเซ็ทค่าต่างๆเหล่านี้ ให้เข้ากับบุคลิกการใช้งานตัวรถของตนเองมากขึ้น ก็สามารถหาซื้อโช้คแต่งจาก YSS แบรนด์ไทยดังไกลระดับโลกได้เลยเช่นกัน เนื่องจากโช้คของ YSS ที่สามารถปรับเซ็ทค่าเหล่านี้ได้ก็จะมีตั้งแต่รุ่น G-Sport ซึ่งสนนราคาเริ่มต้นหลักเกือบๆ 4 พันบาทเท่านั้น เรียกได้ว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้กลับมา แถมรองรับการใช้งานกับรถมอเตอร์ไซค์พิกัด 125cc ขึ้นไป จนถึงบิ๊กไบค์ หรือตัวแข่งระดับรายการ World Superbike อย่างครอบคลุม
นอกจากนี้ ในรถมอเตอร์ไซค์สมรรถนะสูงหลายๆรุ่น ระบบกันสะเทือนที่ติดรถมา ก็สามารถปรับเซ็ทค่าระดับความหนืดในการยืดตัว และยุบตัวของโช้คได้ด้วย โดยบางคันอาจจะสามารถปรับละเอียดได้ถึงขั้นแยกกันระหว่าง Slow/Fast Compression และ Slow/Fast Rebound แยกตามช่วงยุบของโช้คหรือภาระที่เกิดขึ้นกับตัวโช้คในขณะนั้นได้เลยทีเดียว ซึ่งในโช้คระดับบนของทาง YSS เองก็มีฟังก์ชันในการปรับ่ค่าเหล่านี้ได้ด้วย เช่นรุ่น G-Racing ซึ่งก็สนนราคาเริ่มต้นหลัก สองหมื่นกว่าบาทเท่านั้น
ส่วนข้อดี/ข้อเสีย ของค่า Compression – Rebound เมื่อมากไปหรือน้อยไป ก็แบ่งอาการแบบคร่าวๆได้ดังนี้
Compression หนืดน้อย (ยุบเร็ว) : ข้อดีคือโช้คจะสามารถซับแรงสั่นสะเทือนจากผิวถนนได้ไว โช้คยุบตัวง่าย แต่ในทางกลับกัน ก็จะมีข้อเสียคืออาจจะรู้สึกโช้คยวบ หรือโช้คยุบจนยันได้ง่าย
Compression หนืดมาก (ยุบช้า) : ข้อดีคือโช้คจะมีความนิ่ง เฟิร์มสูง เมื่อเจอแรงกระแทก เหมาะสำหรับการใช้งานด้วยความเร็วสูงๆ ที่ผู้ขี่ต้องการความมั่นคงจากตัวรถ ทั้งในตอนเบรกและตอนเร่ง แต่ในทางกลับกัน มันก็จะทำให้ผู้ขี่รู้สึกว่าโช้คกระด้าง ไม่ค่อยซับแรงจากอุปสรรคต่างๆบนผิวถนนขึ้นมาแทน เมื่อนำไปวิ่งบนทางขรุขระด้วยความเร็วต่ำๆ
Rebound หนืดน้อย (ยืดเร็ว) : ข้อดีคือโช้คจะสามารถยืดกลับไปพร้อมยุบรับกับอุปสรรคข้างหน้าต่อๆไปได้เร็ว แต่ในทางกลับกันก็จะทำให้ตัวรถโคลงไปมาเช่นเดียวกับ Compression ที่มีความหนืดน้อย และอาจทำให้รถเกิดอาการดีดไปมาเป็นระยะๆได้ง่ายด้วย
Rebound หนืดมาก (ยืดช้า) : ข้อดีก็ยังคงเป็นเรื่องของความนิ่งของตัวรถที่จะออกอาการโคลงน้อยลง แต่ถ้าหนืดมากไป ก็จะกลายเป็นว่าโช้คคืนตัวช้าเกินไป จนทำให้การพลิกเลี้ยวไม่ค่อยคล่องตัวเท่าไหร่นัก และแน่นอนว่าเมื่อต้องขี่ผ่านอุปสรรคหนักๆเร็วๆ โช้คก็จะยันรัวๆเพราะมันไม่ยอมยืดกลับสักทีเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การปรับเซ็ทค่า Compression-Rebound ของโช้ค ถือว่าเป็นสิ่งที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนและมีหลักในการปรับที่ค่อนข้างลึกซึ้งพอสมควร ดังนั้นทางที่ดีเพื่อนๆก็ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยให้คำปรึกษาในการปรับเซ็ทค่าเหล่านี้ด้วย หรือถ้าหากซื้อโช้คของ YSS ไป ก็สามารถให้ตัวแทนจำหน่ายช่วยปรับเซ็ทด้วยเลยก็ได้เพื่อให้โช้คสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและเข้ากับการใ้งานของเราจริงๆ
ขอบคุณภาพจาก YSS
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมที่ได้ที่นี่