ดรัมเบรก vs ดิสก์เบรก ทำงานแตกต่างกันอย่างไร อะไรดี อะไรเสีย
หากพูดถึงระบบห้ามล้อในรถมอเตอร์ไซค์ (หรือที่จริงก็รวมถึงรถยนต์ด้วย) ในปัจจุบันระบบห้ามล้อที่เราใช้ันก็จะมีอยู่ 2 รูปแบบ นั่นคือแบบ ดรัมเบรก และ แบบ ดิสก์เบรก ซึ่งระบบห้ามล้อทั้งสองมีจุดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เรามาว่ากันเลยดีกว่าครับ
ดรัมเบรก เป็นระบบห้ามล้อที่มีใช้ในยานพาหนะมาแล้วหลายสิบปี โดยจะอาศัยการใช้ลูกเบี้ยวเป็นถ่างผ้าเบรก หรือฝักเบรกทั้ง 2 ตัว ที่ยึดกันอยู่ด้วยสปริง ให้ถ่างออกไปสร้างแรงเสียดทานกับหน้าสัมผัสด้านในของดุมล้อ เพื่อชะลอรถหรือหยุดรถให้นิ่ง
ซึ่งข้อดีของระบบห้ามล้อแบบนี้ก็คือ มันจะให้ความนิ่มนวลในการเบรกค่อนข้างมาก เนื่องจากผ้าเบรกจะค่อยๆไล่ระดับเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสกับดุมล้อด้านใน รวมถึงใช้ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องและซับซ้อนน้อยกว่าระบบดิสก์เบรก จึงทำให้มีราคาค่อนข้างถูกกว่าในเรื่องของต้นทุนการผลิต
แต่ในขณะเดียวกันข้อเสียของมันก็คือ มันจะทำงานช้า จนเพื่อนๆหลายคนอาจจะรู้สึกว่าเบรกไม่ค่อยอยู่ นอกจากนี้ เมื่อผ้าเบรกค่อยๆบางลง ตัวผู้ขี่ยังจะต้องคอยปรับตั้งระยะเบรกเองด้วย และด้วยความที่เป็นระบบค่อนข้างปิด ทำให้ฝุ่นที่เกิดขึ้นจากตัวผ้าเบรก ระบายออกจากระบบได้ยาก, ความร้อนสะสมได้ง่าย, และถ้าหากลุยฝนมา การระบายน้ำหรือความชื้นออกจากระบบก็ทำได้ยากเช่นกัน
ดิสก์เบรก เป็นระบบห้ามล้อที่เกิดขึ้นหลังระบบดรัมเบรกอยู่หลายปี โดยมีลักษณะการทำงานคือ จะอาศัยลูกสูบที่อยู่ในแม่ปั๊มเบรกตัวล่างเป็นตัวดันผ้าเบรกทั้ง 2 ฝั่ง ให้ออกมาจับ หรือบีบจานเบรกเอาไว้ เพื่อให้เกิดแรงเสียดทานระหว่างทั้งสองชิ้นส่วน เพื่อชะลอหรือหยุดรถให้นิ่ง
โดยข้อดีของระบบห้ามล้อแบบนี้ ก็จะอยู่ที่ มันจะมีโอกาสเกิดอาการเบรกเฟด (เบรกร้อน) ได้ยากกว่าแบบดรัมเบรก เนื่องจากเป็นระบบเปิดที่มีอากาศไหลผ่านตลอดเวลา และถ้าฝนตก ระบบก็สามารถระบายน้ำออกจากตัวเองได้ง่ายกว่า และยังสามารถทำงานได้ฉับไวมากเมื่อเทียบกับดรัมเบรก รวมถึงไม่ต้องปรับระยะผ้าเบรกเองด้วย เพราะระบบออกแบบให้มีการปรับระยะผ้าเบรกด้วยตนเองอยูุ่แล้ว (กรณีที่เป็นแม่ปั๊มระบบไฮดรอลิก)
แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะไวเกินไปจนผู้ขี่ที่ไม่ค่อยใช้ระบบเบรกแบบนี้้มาก่อนอาจใช้น้ำหนักกับก้านเบรกมากเกินไปจนทำให้ล้อล็อคได้งายๆ นอกจากนี้ด้วยชิ้นส่วนกลไกลที่มีความซับซ้อนกว่า จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่าเช่นกัน และถ้าหากจานเบรกร้อน แล้วถูกความเย็นกระทันหัน มันก็มีโอกาสที่จะคดหรืองอสูงจนทำให้เกิดเสียงดังน่ารำคาญ เบรกได้ไม่ค่อยนุ่มนวลเป็นจังหวะๆ หรือหนักสุดๆคือล้อหน้าส่ายเวลาเบรก จนเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุง่ายๆนั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก Pigieonsblue
อ่าน Tips Trick เพิ่มเติมที่นี่